วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565

วัดเชิงท่า ภาวนา ข้างโบสถ์ที่พระเจ้าตากบวช!

 🙏




19 มีค.65 9.วัดเชิงท่า ภาวนา ข้างโบสถ์ที่พระเจ้าตากบวช!
คณะเรามานั่งภาวนากันที่ข้างโบสถ์เก่า ทำวัตรเย็นเสร็จก็นั่งภาวนาต่จนห้าทุ่ม ช่วงนี้มีไฟส่องพระปรางค์ตลอด พักหนึ่งชม. แล้วนั่งภาวนาต่อจนเช้าช่วงนี้ไฟส่องเจดีย์ปิดแล้ว อากาศกำลังสบายๆ ผ่านไปอึกใจก็เช้าแล้วครับ พระจันทร์ทรงกลด ส่องสว่างทั้งคืน นับว่าบรรยากาศดีจริงๆ อิฐแต่ละก้อน เจดีย์ที่พุพัง ย้อนใจเรากลับไปสู่อดีต สะทกสะท้อนว่ากายนี้ของเราก็เช่นกัน ต้องจากกันไปสักวัน แม้วัตถุต้องแตกสลายไป ขอเพียงใจที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาคงอยู่ในใจนี้ตลอดไปก็เพียงพอแล้ว !!
วัดเชิงท่า มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช อย่างไร? กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ทรงมีความเกี่ยวเนื่องกับวัดแห่งนี้ถึง ๒ ครั้ง และเป็นช่วงสำคัญของชีวิตทั้ง ๒ ครั้ง ของพระองค์เลยทีเดียว
ครั้งที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๒๘๔ เด็กชายสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) อายุได้ ๗ ปี เจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรม ได้นำ เด็กชายสิน เข้าสำนักการศึกษากับ พระอาจารย์ (มหาเถร) ทองดี ณ วัดโกษาวาสน์
เนื่องจาก เด็กชายสิน เป็นเด็กเฉลียวฉลาด มีความคล่องแคล่ว เรียนรู้การงาน และการเรียนได้รวดเร็วกว่าเด็กทั่วไป จึงช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของวัดได้เป็นอย่างดี และเป็นคนทำอะไรทำจริง มิหนำซ้ำยังมีใจนักเลงกล้าได้กล้าเสีย เด็กชายสิน จึงขึ้นขั้นเป็นหัวโจกลูกศิษย์วัดด้วยกันเลยทีเดียว วันหนึ่ง เด็กชายสิน ได้ชักชวนศิษย์วัด เปิดบ่อนพนันเป็นเจ้ามือเล่นกำถั่วขึ้นในวัด พระเดินมาเห็นเข้า จึงได้นำเรื่องไปฟ้อง พระอาจารย์ทองดี พระอาจารย์ทองดี ไต่สวน สืบความ ได้ความกระจ่างว่า เด็กชายสิน เป็นหัวโจกชักชวนเพื่อนเล่นการพนันจริง ฝ่าฝืนกฎระเบียบของวัด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เด็กคนอื่น ๆ พระอาจารย์ทองดี จึงได้ทำการลงโทษ เด็กชายสิน สถานหนัก โดยนำตัวไปมัดมือคร่อมอยู่กับบันไดท่าน้ำ ตั้งแต่ตอนบ่ายจนตกค่ำ ส่วน พระอาจารย์ทองดี เมื่อจัดการลงโทษแล้ว ได้เข้าวัดปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ เวลาพลบค่ำน้ำขึ้นท่วมบันได และได้ท่วมร่างเด็กชายสิน แต่ด้วยปาฏิหาริย์ เสาบันไดนั้นถอนหลุดลอยน้ำ นำร่าง เด็กชายสิน ไปพร้อมกับบันได เวลาล่วงเลยนานเข้า พระอาจารย์ทองดีเกิดนึกขึ้นมาได้ จึงชวนพระลูกวัดไปดูที่ท่าน้ำ ปรากฏว่าไม่พบ เด็กชายสิน พระอาจารย์ทองดี ตกใจมาก เกรงว่าจะถูก เจ้าพระยาจักรี (โรงฆ้อง) ตำหนิ จึงพากันรีบค้นหา ในที่สุดก็พบ เด็กชายสิน ลอยผูกติดกับบันได อยู่ฝั่งตรงข้ามท่าน้ำ พระอาจารย์ทองดี รีบนำตัวเด็กชายสินให้พ้นจากน้ำทันที และพาเข้าไปในพระอุโบสถ ให้ เด็กชายสิน นั่งลงต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป (พระประธาน) อยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์ร่วมสวดพระพุทธมนต์ ชยันโต เป็นการรับขวัญที่ เด็กชายสิน รอดตายราวปาฏิหาริย์ ขณะอยู่ในสำนักของ พระอาจารย์ทองดี เด็กชายสิน ได้เรียนหนังสือขอมไทย เรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบครบขบวนความ
ครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๒๙๘ มหาดเล็ก (สิน) (เข้าถวายตัวเป็น มหาดเล็ก อยู่ในพระบรมราชวังรับใช้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๙๐) อายุครบ ๒๑ ปี ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทต่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ นายสิน ได้บวชเป็น พระภิกษุสิน และจำพรรษาอยู่ที่ วัดโกษาวาสน์ วัดเดิมที่เคยเป็นศิษย์วัดอยู่กับ พระอาจารย์ทองดี ขณะ พระภิกษุสิน จำพรรษาที่ ๓ นายทองด้วง ซึ่งมีอายุอ่อนกว่า พระภิกษุสิน ๒ ปี (พระราชสมภพปีพุทธศักราช ๒๒๗๙) ได้อุปสมบท และเนื่องจากวัดอยู่ใกล้กัน พระภิกษุทั้ง ๒ รูป จึงมักได้พบกันบ่อยครั้ง เช้าวันหนึ่งขณะ พระภิกษุสิน จาริกรับบาตร ผ่านบ้านเรือนไทยจีน ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกนั้น ครั้นเดินมาถึงมุมโบสถ์พราหมณ์ ถนนชีกุญ ได้พบกับ พระภิกษุทองด้วง ขณะภิกษุสหายทั้ง ๒ รอรับบาตรข้าว ได้มีซินแสชาวจีนผู้หนึ่ง เดินผ่านมาพบพระภิกษุทั้ง ๒ ซินแสผู้นั้นพินิจดู พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาได้สักครู่ จึงกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อเลยที่ได้เห็นกษัตริย์ไทยสององค์มาเดินบิณฑบาตด้วยกันอย่างนี้ และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า พระคุณเจ้าทั้งสองจะต้องได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อย่างแน่นอน ขอให้คำทำนายนี้จงเป็นมงคลสืบไปเถิดพระคุณเจ้า ซินแสถวายคำทำนายแล้ว ได้อำลาจากไป ปล่อยให้ พระภิกษุสิน และ พระภิกษุทองด้วง มองตากันด้วยความรู้สึกขบขัน แล้วเดินบิณฑบาตต่อไป โดยไม่ได้ซักอะไรอีก
คุณ, วินัย ลุนพรม, Monta Kumraksa และ คนอื่นๆ อีก 124 คน
ความคิดเห็น 24 รายการ
แชร์ 5 ครั้ง
รักเลย
รักเลย
แสดงความคิดเห็น
แชร์

ไม่มีความคิดเห็น: