วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

พระอุโบสถ-โบสถ์

 


พระอุโบสถ-โบสถ์

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "โบสถ์ "

1.เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกัน เพื่อทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่น สวดปาติโมกข์ อุปสมบท มี "สีมา" เป็นเครื่องบอกเขต ทั้งนี้คำว่า “โบสถ์” เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพุทธศาสนา

2.โบสถ์ เรียกเต็มว่า อุโบสถ หรือโรงอุโบสถ ถ้าเป็นพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
3. โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า “วิสุงคามสีมา”

ผูกพัทธสีมา

 ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัย จะต้องมีการทำสังฆกรรม ที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมา ก่อน
 

 “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) มีหลายความหมาย คือ

๑.สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม ตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง

   แต่เรียกโดยทั่วไปว่า “โบสถ์

๒. การเข้าจำวัด คือ การรักษาศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ

     เรียกว่า รัก รักษาอุโบสถ หรือ รักษา   อุโบสถศีล

๓. วันพระ หรือ วันฟังธรรมของคฤหัสถ์ คือ ขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถศีลกัน

     เรียกว่า วันอุโบสถ

๔. วันที่พระสงฆ์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่า วันอุโบสถ
๕. การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน หรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ

 

พัทธสีมา

 ในขณะที่คำว่า “พัทธสีมา” เจ้าคุณทองดีให้ความหมายไว้ว่า “สีมา” หมายถึงเขต หรือ แดนที่กำหนดไว้สำหรับการทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่า ผู้อยู่ในเขตนั้นต้องร่วมกันทำสังฆกรรม โดยความพร้อมเพรียงกัน “พัทธสีมา” หมายถึง สีมา หรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือ พระสงฆ์ร่วมกันกำหนดเป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรือ อุโบสถ

 นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ “วิสุงคามสีมา” (วิ-สุง-คาม-มะ-สี-มา) แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเขตที่พระจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะ โดยเป็นประกาศพระบรมราชโอการ   ที่ดินที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า “นิมิต” ภายในวิสุงคามสีมา นิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม

 

 การที่จะเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั้น

1.จะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน

2.พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้น เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่า “ถอนสีมา

3.หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็น สีมา เรียกว่า “ผูกสีมา”

ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมา หรือเป็นอุโบสถถูกต้องพระธรรมวินัย

"พระธรรมกิตติวงศ์ "


พิธีผูกพัทธสีมา

ใน พรบ.สงฆ์ วัดก็มี ๒ อย่าง คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เรียกว่า วัดวิสุงคามสีมา กับ   วัดที่ผูกพัทธสีมา แล้ว เรียกว่า วัดพัทธสีมา  ความแตกต่างละว่างผูกพัทธสีมา   กับพระราชาพระราชทานวิสูงคามฯ 

ทางการมีกิจที่สามารถจะเอาที่ดินนั้นคืนก็เอาคืนได้    แต่ถ้าผูกพัทธสีมาแล้วคณะสังฆ์ต้องสวดถอนและสวดผูกเรียบร้อย   ทางราชการเอาที่ดินนั้นคืน ไม่ได้  เพราะคณะสังฆ์สวดถอนและผูกแล้ว

การผูกพัทธสีมา

การผูกพัทธสีมาเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่วัดหนึ่งมีครั้งเดียว ถ้าผูกพัทธสีมาได้ก็ถือว่า วัดสมบูรณ์ตามกฎหมาย และสมบูรณ์ตามพระธรรมวินัย คือได้ทำตามที่ทรงอนุญาตไว้ครบถ้วนนั่นเอง  ถ้าไม่ทำพิธีผูกพัทธสีมาก็อาจไม่มีผลทางด้านการทำสังฆกรรม แต่ก็มีข้อวินัยที่อาจมีการสมมุติสีมาทับกันได้ แต่มีผลทำให้ได้รับประโยชน์จากที่ทรงอนุญาตไว้ในทางพระวินัยไม่เท่ากัน ถ้าผูกพัทธสีมาได้ ก็ดีกว่าไม่ผูก เพราะสงฆ์จะมีเขตอยู่ปราศจากไตรจีวรเพิ่มขึ้น เช่นเวลาอยู่ที่ศาลาตอนใกล้อรุณ ก็ไม่ต้องคอยระวัง ต้องถือผ้าครองติดตัว  เอาผ้าครองวางห่างจากตัวก็ไม่เป็นอาบัติ ถ้าอยู่ในเขตพัทธสีมา ในพิธีผูกพัทธสีมาต้องมีการสวดถอนก่อน  การสวดถอนก็เพื่อว่า หากที่ตรงนั้นเคยมีสงฆ์สมมุติสีมาไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นการสมมติสีมาทับกันแค่นั้นเอง เพราะถ้า  สวดสมมติสีมาทับกัน จะกลายเป็นสีมาสังกระ สีมาวิบัติสังฆกรรมนั้นใช้ไม่ได้  ด้วยเหตุนี้จึงมีวัดจำนวนมากที่ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วแต่ไม่ทำพิธีผูกพัทธสีมานั้นเอง นับเป็น อพัทธสีมา นั้น เป็นแดนที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว กำหนดเอาตามทางบ้านเมืองกำหนดไว้ สงฆ์มีอำนาจเพียงถือเอาเป็นเขตประชุมสงฆ์ เพื่อทำสังฆกรรมเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดถือเป็นเจ้าของ  (อพัทธสีมา คำว่า 

"อพัทธสีมา" แปลว่า "แดนที่ไม่ได้ผูก" )

 

สีมาสังกระ

     คำว่า "สีมาสังกระ" แปลว่า "สีมาที่คาบเกี่ยวกัน"

     การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน จัดเป็นสีมาสังกระ เช่น การสมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวสีมาเดิมแต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน สีมาใหม่ย่อมบัติใช้ไม่ได้

 

 

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

กราบทำวัตร ถวายผ้าจำนำพรรษา 2564

 เรียนเชิญร่วมจาริกบุญ กราบทำวัตร ถวายผ้าจำนำพรรษา และปัจจัยไทยธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์

ทริปแรกภาคตะวันออก 12 วัด ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔
ทริปที่สอง ภาคอิสาน 28 วัด ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๔
( นอกจานี้เราจะจัดส่งทางไปรษณีย์อีกประมาณ 9 วัด )
คุณสมบัติผู้ร่วมจาริกแสวงบุญครั้งนี้
1. รับเฉพาะผู้ที่ได้ฉีดวัคซีน AZ /FZ อย่างน้อย 1 เข็ม
หรือวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม
และต้องฉีดแล้วไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ก่อนเดินทาง
2. ผลตรวจ ATK ก่อนเดินทางไม่เกิน 1วัน เป็นลบ
3. แต่งกายสุภาพ เสื้อขาว กางเกงขายาว หรือผ้าถุงสีดำ/น้ำเงิน
4. เป็นผู้อยู่ง่าย ทานง่าย ดูแลช่วยเหลือผู้ร่วมคณะ
6. ในกรณี กลางคืนพักภาวนาที่วัด โปรดเคารพสถานที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์
ช่วยกันรักษาความสะอาด และความสงบของสถานที่
7. วันพระนั่งภาวนาตลอดคืน
8. สำรวมกาย วาจา ใจ การเดินทางครั้งนี้คือการมาปฏิบัติ-ภาวนา




กิจกรรมนี้เราทำกันมาทุกปีเริ่มทำเป็นหมู่เป็นคณะปี 2537 จุดมุ่งหมายเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมไว้ก็อย่างหนึ่ง แต่ที่เราตั้งใจคือได้ไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์รับฟังธรรมะโอวาทจากท่าน เพื่อเป็นกำลังใจบำเพ็ญเพียรตลอดพรรษาและกราบเรียนรายงานครูอาจารย์ถึงผลการปฏิบัติภาวนาตลอดพรรษา คณะของเราจึงไม่ใหญ่นัก แต่งกายเป็นคนวัด เสื้อขาวกางเกงสีเข้ม รักษาศีล ภาวนา สนทนาธรรมไปตลอดการเดินทาง ฟังธรรมครูจารย์แล้วก็มาแบ่งปันกัน ไม่คุยเล่นพูดเรื่องที่ไม่มีสาระ เพื่อพร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกันในทางเดินที่พ่อแม่ครูอาจารย์ชี้แนะสั่งสอน ทริปเช่นนี้ปกติ ปีหนึ่งก็สองสามครั้ง แต่บางครั้งก็อาจจัดเป็นกลุ่มเล็กๆไปกันเองบ้างเช่นกัน
การถวายผ้าจำนำพรรษา นอกจากจะเอาผ้าจำนำพรรษาและจตุปัจจัยไทยธรรมไปกราบถวายพ่อแม่ครูอาจารย์ในช่วงเวลาออกพรรษาแล้ว
เราก็จะเข้าไปกราบทำวัตรพ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นข้อวัตรที่ครูจารย์สายพระป่าท่านสั่งสอนเรามาตั้งแต่เด็กๆให้รู้จักอ่อนน้อม ขอขมาโทษ เพื่อให้ท่านเมตตาสั่งสอนอบรมธรรมให้ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลากฐินกาล แต่ที่เรามิได้ขอเป็นผ้ากฐิน ก็เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์แบน ท่านเคยบอกว่าเสมอว่าพวกเรามักทำกฐิน ผ้าให้เป็น กฐินเงิน เป็นการผิดพระธรรมวินัย ท่านให้พระรับเป็นผ้าบังสุกุลแทน ลูกศิษย์และสหธรรมิกของท่านส่วนใหญ่จึงถือปฏิบัติตามกัน พวกเราจึงกราบถวายเป็นผ้าจำนำพรรษาแทน ซึ่งก็สามารถถวายให้สงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาครบสามเดือน ไม่ว่าจะมีพระจำพรรษาในวัดครบห้ารูปหรือไม่ พระตามสำนักสงฆ์หรือที่พักสงฆ์ต่างๆจึงสามารถรับผ้าจำนำพรรษาได้ ซึ่งอานิสงค์การถวาย-รับผ้าจำนำพรรษาก็มิได้ด้อยกว่าผ้ากฐินเลย
นี่คือสิ่งที่เราได้กระทำกันมาตลอด20+ปี เพื่อร่วมกันรักษาและเทิดทูลพระธรรมวินัยไว้ และปีนี้ก็อาจจะมีสมาชิกใหม่ๆเขามาร่วมทางเดินนี้ด้วยกันอีก ทางเดินสายนี้ถึงแม้จะแคบและไม่ราบเรียบนัก แต่ก็อบอุ่นด้วยกัลยาณธรรมจากกัลยาณมิตรเพื่อนร่วมทาง กราบอนุโมทนาในกุศลของเพื่อนๆทุกๆท่านที่ร่วมกระทำด้วยกันและมีส่วนในบุญกุศลนี้ และขอมอบเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้มาใหม่ เพื่อให้กรุณาวางตัวให้เหมาะสมด้วย กราบขอบพระคุณครับ
ผู้ประสงค์ที่จะร่วมเดินทาง กรุณาประสานงานที่คุณกาญจนา 085-1239952

การกราบถวายผ้าจำนำพรรษา/กฐิน ประจำปี 2564
ครั้งที่1-๑๒วัด ครั้งที่2.- ๘วัด + ส่งไปรษณีย์ (50วัด)
ผ้าจำนำพรรษาหมายถึงผ้าที่ถวายแก่ภิกษุ ผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน รับและบริโภคได้ แต่มีกำหนดพียง ๑ เดือน ในจีวรกาล เขตอานิสงส์จำพรรษา คือนับแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง กลางเดือน ๑๒ เท่านั้น (อนุโลมให้ถวายได้ก่อนออกพรรษาไม่เกิน10วันในกรณีที่ผู้ถวายมีความจำเป็น ไม่สามารถมาถวายผ้ากฐินได้ เช่นต้องเดินทางไกล หรือเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น )
กำหนดการจาริกบุญผ้าจำนำพรรษา ครั้งที่1 ภาคตะวันออก ๑๒ วัด
วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564
04.30 ออกเดินทางจากธรรมวิภาวัน
07.30น. วัดโพธิญาณรังสี พอ.สุนัย 1.
10.00น. วัดสันติวนาราม (เขาน้ำตก)ลป.บุญส่ง 2.
11.00น. วัดป่าคีรีเขต ( วิเศษนิยม )ลป.สนิท 3.
13.30น. สำนักสงฆ์สุขแสงธรรม เขา ลูกช้าง 4.
15.00น. วัดเขาคิชฌกูฏภาวนาราม 5.
16.30น. วัดป่าคลองมะลิ มะขาม 6.
18.00น. วัดป่าสิริจันโท คลองกะพง 7.
วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2564
07.00น. วัดพิชัยพัฒนาราม (วัดเขาน้อยสามผาน)8.
08.30น. วัดธรรมสถิต 9.
10.00น. วัดมาบจันทร์ 10.
13.00น. วัดภูมาศ 11.
15.00น. วัดป่าอัมพโรปัญญาวนาราม 12.
18.30น. ธรรมวิภาวัน
กำหนดการจาริกบุญผ้าจำนำพรรษาและบุญกฐิน ครั้งที่ 2.
ภาคอิสาน ( 21-24ต.ค.) จำนวน 28 วัด
วันพฤหัสที่ 21 ตุลาคม 2564
04.30 ออกเดินทางจากธรรมวิภาวัน
สนส.ทรัพย์สวนพลู(ท่านปิ้ว) 1
วัดแสงธรรมฯ (คจ.โสภา) 2
วัดป่าภูผาผึ้ง หลวงปู่อ้ม พักภาวนา
วันศุกร์ ที่ 22 ตุลาคม 2564
วัดป่าภูผาผึ้ง 3
วัดสวนป่าริมธาร 4
ภูไม้ฮาว 5
วัดภูกระโล้น 6
วัดพระพุทธบาทดงหลวง 7
วิโมกข์อาศรม 8
สำนักสงฆ์ภูเพ็ก 9
สำนักสงฆ์ถ้ำไทร (บ.ติ้ว) 10
สำนักสงฆ์แก่งแต้ 11
สำนักสงฆ์ภูหยวก 12
สำนักสงฆ์ ถ้ำงามโพธิ์ 13
สำนักสงฆ์พระอาจารย์สอาด14
สำนักสงฆ์โคกหินตั้ง 15
วัดป่าค้อน้อย 16
หนองแวงธรรมสถาน 17
สำนักสงฆ์บ้านดานช้าง 18
วัดดอยธรรมเจดีย์ 19
วัดป่าสีหพนม-คจ.บุญมา 20
วัดพระธาตุฝุ่น-ลป.เลื่อน 21
วัดป่าสันติกาวาส-คจ.สมหมาย22
วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2564
วัดป่าบ้านตาด ร่วมพิธี กฐิน -คจ.สุธรรม23
วัดป่าภูหินร้อยก้อน-คจ.สุนทร 23
วัดป่าหนองแสง-ลป.เสน 24
วัดป่าภูสังโฆ-คจ.วันชัย 25
วัดถ้ำสหาย-ลป.จันเรียน 26
วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2564
วัดถ้ำเต่า ร่วมพิธี กฐิน -คจ.บุญมี27
วัดป่าพิทักษ์ธรรม 28
ธรรมวิภาวัน








วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

ประเพณี บุญข้าวสาก สาร์ทเดือน10

 


.วันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบนี้
ชาวจีนถือเอาเป็นวันไหว้พระจันทร์
คนภาคกลาง เรียกว่า เป็นบุญข้าวสารท
คนไทยภาคเหนือ เรียกว่า วันทำบุญสลากภัตร
(เชียงใหม่เรียกว่าบุญ ๑๒ เป็ง)
พี่น้องชาวใต้ เรียกว่า บุญชิงเปรต
อีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก
พิธีทำบุญข้าวสาก
ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ห่อด้วยใบตองไว้แต่เช้ามืด ข้าวสากจะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว กลัดท้าย มีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับสั้น ต้องเย็บติดกันเป็นคู่ ห่อที่ 1 คือ หมาก พลู และ บุหรี่ ห่อที่ 2 คือ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย ประกอบด้วย
1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่) เป็นอาหารหวาน
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาถวายพระสงฆ์ โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะกล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณรจับสลาก พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
เสร็จจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก :ฐิตรโส
“มีแต่สดใสชื่นคืนวันอันแสนม่วน
ต่างก็ชวนพี่น้องโฮมเต้าแต่งทาน
ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย
กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม
พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน
พ่องกะคอนต่าน้อยลงห้วยห่อมนา
เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง
ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า
มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีขั่วกุดจี่
มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน”
ตามตำนานของคนอีสานเล่าถึงมูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า
... มีบุตรชายกฎุมพี(คนมั่งมี)ผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา
นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดี จะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัต แด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ
ชาวอิสาน จึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า " ตาแฮก "
ความเป็นมาของสลากภัตตทาน
ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า "เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า"ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปราถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนั้น
ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า "สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา"
กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้:ฐิตรโส



ผ้าจำนำพรรษา หลวงปู่อ้ม84ปี

 

 


คำถวายผ้าจำนำพรรษา

เอตานิ มะยัง ภันเต, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ, ภิกขุสีละวันตัสสะ,

โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สีละวันโต, อิมานิ, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ,

สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากังเจวะ, มาตาปิตุ, อาทีนัญจะ, ญาตะกานัง,

ทีฆะรัตตัง, หิตายะ สุขายะ, นิพพานนะปัจจะโยโหตุ.

 

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุ ผู้ทรงศีลผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย,

ผ้าจำนำพรรษา, กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น, อันข้าพเจ้าทั้งหลาย ตั้งไว้แล้ว,

แก่พระภิกษุผู้ทรงศีล, ขอท่านผู้ทรงศีลโปรดรับ,ผ้าจำนำพรรษา,

กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์และความสุข,

แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย, แด่ญาติทั้งหลาย, อันมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย,

และเป็นปัจจัยสู่พระนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

 

มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์

 










 

คำถวายผ้าจำนำพรรษา1

อิมานิ มะยัง ภันเต, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ} ภิกขุสีละวันตัสสะ,

โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สีละวันโต, อิมานิ, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ,

สะปะริวารานิ} ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากังเจวะ, มาตาปิตุ} อาทีนัญจะ, ญาตะกานัง,

ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานนะปัจจะโยโหตุ.

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุ ผู้ทรงศีลผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย, ผ้าจำนำพรรษา,

กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แก่พระภิกษุผู้ทรงศีล, ขอท่านผู้ทรงศีลโปรดรับ,

ผ้าจำนำพรรษา, กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์และความสุข,

 แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย} แด่ญาติทั้งหลาย, อันมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย,

และเป็นปัจจัยสู่พระนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

 

 

มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์