ประเพณีบุญข้าวประดับดิน
บุญข้าวประดับดิน 6 กันยายน 2564
บุญข้าวประดับดิน หรือบุญเดือนเก้า
ประเพณีภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
และสัตว์นรกหรือเปรต ประเพณีบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า การทำบุญข้าวประดับดิน
เป็นประเพณีหนึ่งที่ นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดกันมาในภาคอีสาน
เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต)
หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู
บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้
ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด)
หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย"
พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร
แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย ข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า
เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต
นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน
ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว
อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย
เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่
พิธีกรรมบุญข้าวประดับดินมีดังนี้
1.วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม
อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว
ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว
และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์
ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย
ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ
ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง
2. วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4
เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง
หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้
เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย
(วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ
ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด
3. หลังจากวางเสร็จแล้ว
ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า
เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น
ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ
ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน
มูลเหตุของความเป็นมาของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบทว่า
"ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด
ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า
พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น
ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่
พระสมณโคดมพุทธเจ้า ในภัททกัปป์นี้
ก็ไม่ได้ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น
พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น
ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น
พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราว
ที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก
แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศลแล้ว
ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า
ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์"
ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดิน ติดต่อกันมา
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง
ความว่า "ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก
ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม
พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทางโลกได้ทราบและทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง
เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ
ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม 15 ค่ำ)จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน"
สาเหตุที่ต้องทำพิธีตั้งแต่เช้ามืดเพราะเชื่อว่าพญายมราชปล่อยผีเปรตให้มีเวลาอยู่บนโลกมนุษย์เพียง
2 ชั่วโมง จากตี 4
ถึง 6 โมงเช้า
และที่ต้องวางเครื่องไทยทานไว้กับพื้นดินนั้นเพื่อให้เปรตรับเอาง่ายๆ
โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เดียวจะกลับไม่ทันเวลา
พอได้เรียนรู้ประเพณีดี ๆ ของภาคอีสาน
อย่างประเพณีบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้ากันแล้ว เชื่อว่าหลาย
คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน คงช่วยกันสานต่อประเพณีบุญข้าวประดับดิน
บุญเดือนเก้า ให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้มีโอกาสเรียนรู้ประเพณี และวัฒนธรรมดี ๆ
แบบนี้ด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น