วันสงกรานต์
นี่เรียกว่าวันสงกรานต์ วันลดทิฐิมานะเข้าสู่กัน เป็นเพื่อนสนิทสนมกันคือวันเช่นนี้วันสงกรานต์ ไม่ให้มีถือสีถือสากัน อะไรๆ ให้เป็นกันเองไปหมดเลย จึงเรียกว่าวันสงกรานต์ วันให้อิสรภาพความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงเสมอหน้ากันไปหมด ให้พากันจำเอา
ผู้ที่ไม่ไปสงกรานต์กับเขาก็ให้ภาวนา อย่าลืมนะภาวนา ภาวนานี่เป็นสงกรานต์สาดน้ำใส่กิเลส กิเลสมันสกปรกมากในหัวใจของเรา วันนี้เป็นวันสงกรานต์สาดน้ำใส่กิเลสนะ อย่าให้กิเลสสาดมูตรสาดคูถใส่หัวเรา ฉิบหายเลย ถ้ากิเลสได้สาดมูตรสาดคูถ ความขี้เกียจขี้คร้านภาวนา นี่ละไอ้ตัวกิเลสตัวนี้มันมาสาดใส่หัวเรา ให้ระวังให้ดี วันนี้พูดเพียงเท่านี้ละ "
โอวาทธรรม
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘
รดน้ำดำหัว
พิธีสำคัญที่มาคู่กับวันสงกรานต์เสมอก็คือ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หลายคนรู้จักกันดีว่าพิธีนี้คือการนำน้ำหอมๆ มารดใส่ในมือของผู้ใหญ่ที่เราเคารพ แต่เดี๋ยวก่อน…เคยรู้กันไหมว่าจริงๆ แล้วพิธีน่ารักๆ แบบนี้มีความเป็นมาอย่างไร และวิธีการรดน้ำผู้ใหญ่ที่ถูกต้องตามหลัก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ประเพณีรดนํ้าดําหัว เป็นประเพณีของไทยอันสืบเนื่องมาจากประเพณีวันสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ของไทยที่แสดงถึงความเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือและผู้มีพระคุณ เพื่อแสดงความกตัญญูพร้อมกับการขอขมาและขอรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเนื่องในวันสําคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ของไทยในเดือนเมษายน “การดําหัว” ก็คือการรดนํ้านั่นเองแต่เป็นคําเมืองทางเหนือการดําหัวเรียกกันเฉพาะการรดนํ้าผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีตําแหน่งหน้าที่การงานสูง เช่น พ่อเมือง เป็นต้น เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป หรือขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ สิ่งที่ต้องนําไปในการรดนํ้าดําหัวก็คือ นํ้าใส่ขันเงินใบใหญ่ ในนํ้าใส่ฝักส้มป่อยโปรยเกสรดอกไม้และเจือนํ้าหอม นํ้าปรุงเล็กน้อยพร้อมด้วยพานข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องสักการะอีกพานหนึ่ง การรดนํ้าดําหัวมักจะไปกันเป็นหมู่ โดยจะถือเครื่องที่จะดําหัวไปด้วย เมื่อขบวนรดนํ้าดําหัวไปถึงบ้าน ท่านเจ้าของบ้านก็จะเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน พอถึงเวลารดนํ้าท่านผู้ใหญ่ก็จะสรรหาคําพูดที่ดีที่เป็นมงคลและอวยพรให้กับผู้ที่มารดนํ้าดําหัว ปัจจุบันนี้พิธีรดนํ้าดําหัวในจังหวัดต่างๆ ทางเหนือมักจะจัดเป็นพิธีใหญ่ ในบางแห่งมีขบวนแห่งและมีการฟ้อนรําประกอบ เช่น พิธีรดนํ้าดําหัวในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เป็นต้น
1. ทำไมต้อง 'รดน้ำ' และ 'ดำหัว'
สำหรับความเป็นมาของ พิธีรดน้ำดำหัว นั้น ว่ากันว่า เป็นพิธีโบราณมาจากทางเหนือ โดยคำว่า 'รดน้ำดำหัว' เป็นคำพูดของชาวเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งในอดีตนั้นการรดน้ำคือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั่นเอง โดยจะใช้น้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูดในการสระผม (คำว่า ดำหัว เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึงการสระผม)
รดน้ำดำหัวเพื่อขอพรมงคลจากผู้ใหญ่
ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค นอกจากจะทำเพื่อขอขมาผู้ใหญ่แล้ว ยังถือเป็นการชำระสะสางสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิตเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ เข้ามาในวันปีใหม่ จวบจนถึงวันนี้การรดน้ำดำหัวกลายเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทยปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาในวันสงกรานต์ทุกปี
2. ความหมายที่แฝงอยู่ในพิธี
การรดน้ำดำหัวไม่ได้เป็นเพียงการชำระสิ่งไม่ดีออกไปเท่านั้น แต่ยังมีความหมายดีๆ แฝงอยู่ นั่นคือ เป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย และเพื่อขอโทษขออภัยในปีที่ผ่านมา ที่ผู้น้อยอาจจะเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม รวมถึงเป็นการขอพรจากผู้อาวุโสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดปีอีกด้วย
3. คุณค่าระหว่างวัย
ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งของพิธีนี้ก็คือ ช่วยสานความสัมพันธ์ให้กับคนในครอบครัวได้ด้วย เพราะวันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาเดียวของปี ที่คนไทยนิยมเดินทางกลับบ้านเกิดไปรวมตัวกัน หรือที่เรียกว่า วันรวมญาติ-วันครอบครัว เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยร่วมกัน ปู่ย่าตายายก็จะได้เห็นหน้าหลานๆ ให้ชื่นใจ ส่วนเด็กๆ เองก็จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อเด็ก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า การให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคนแก่จะช่วยฝึกให้เด็กมีความนอบน้อม และอ่อนโยนขึ้นได้ ซึ่งการรดน้ำดำหัว เด็กๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เต็มที่ ตั้งแต่การเตรียมดอกไม้ น้ำหอม น้ำปรุง นอกจากนี้ ผู้ปกครองก็สามารถชี้ชวนและอธิบายถึงความหมายดีๆ ของกิจกรรมนี้ให้ลูกเข้าใจมากขึ้นได้ เช่น บอกว่าคุณแม่กำลังรดน้ำคุณตานะ เดี๋ยวคุณตาจะอวยพรให้แม่แข็งแรง อยู่กับลูกไปนานๆ พอคุณแม่รดน้ำเสร็จ ก็ให้ลูกลองรดน้ำดำหัวบ้าง พร้อมกับคอยแนะนำอยู่ใกล้ๆ เมื่อเด็กได้ทำซ้ำๆ ทุกปี ช่วงเวลาแบบนี้จะเป็นสิ่งที่พวกเขารอคอย และรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ
4. วิธีดำหัวฉบับโบราณ / สมัยใหม่
สำหรับวิธีการรดน้ำดำหัว ขอพาไปทำความรู้จักกับวิธีแบบโบราณกันก่อน ซึ่งเป็นพิธีกรรมในแบบของสงกรานต์ล้านนา โดยสามารถทำได้ 3 แบบ คือ
แบบที่หนึ่ง ดำหัวตนเอง : เป็นพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป
แบบที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน : เป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากแบบแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (แบบที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง
แบบที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น : กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
การดำหัวนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคล ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำหัวสมัยโบราณให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาดังนี้ “สำหรับการดำหัวนั้น นิยมเอาน้ำใส่ขัน คือใส่สลุง เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ เวลาดำหัวเขาจะเอาไปประเคน คือเอาไปมอบให้ท่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราจะไปดำหัวนั้น เขาจะเอามือจุ่มลงในสะหลุงที่มีน้ำขมิ้นส้มป่อยอยู่ แล้วก็เอามาลูบหัวตัวเอง 3 ครั้ง จากนั้นก็เอามือจุ่มน้ำส้มป่อย สลัดเข้าใส่ลูกหลานที่มาดำหัวพร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีมีสุข ให้อยู่ดีกินดี
***ไม่นิยมเอาน้ำรดมืออย่างของภาคอื่น ซึ่งถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นการรดศพมากกว่า***
5. ต้องเตรียมอะไรบ้าง
เตรียมน้ำอบน้ำปรุง หรือน้ำหอม มาผสมในน้ำสะอาด
สิ่งที่ต้องเตรียมไปในการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ได้แก่ น้ำอบไทย น้ำหอม หรือน้ำส้มป่อย เพื่อนำไปผสมกับน้ำที่จะนำไปรดน้ำผู้ใหญ่ ข้อต่อมาคือเตรียมดอกมะลิ ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ในบ้านก็ได้ ถัดมาต้องเตรียมขันเงินหรือขันทองเหลือง พานข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน ข้อสุดท้าย คือ เตรียมผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มผืนใหม่ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น