วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

การถวาย "สังฆทาน" ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย 💖💖💖


 การถวาย "สังฆทาน" ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย 💖💖💖

เมื่อถึงวันเกิด หลายคนคงนึกอยากทำบุญ ซึ่งปกติอาจไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยนัก การถวายสังฆทานคงเป็นอันดับต้นๆที่จะนึกถึงในการทำบุญวันเกิด เพราะเชื่อและได้ยินเขาว่ากันว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมาก หลายคนอาจเลือกซื้อของที่อยากถวายเองเป็นถุงๆ หรือจะจัดใส่ภาชนะ เช่น ถัง ขัน กระติกน้ำ ก็ได้ หรือบางคนอาจต้องการความสะดวกสบาย จึงซื้อถังสีเหลืองที่บรรจุอาหารกระป๋อง ผ้า ของใช้ต่างๆ ที่วางขายตามร้านค้าต่างๆ แล้วก็นำไปถวายพระ โดยการกล่าวคำถวาย เสร็จแล้วพระก็ให้พร ก็เป็นอันเสร็จพิธี แล้วเข้าใจว่าอย่างนี้ คือ การถวายสังฆทาน ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำเช่นนั้นอาจจะสำเร็จเป็น “สังฆทาน”ที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ได้ เพราะคำว่า “สังฆทาน” ไม่ได้หมายถึง วัตถุที่นำไปถวาย หรือ “วัตถุทาน”เช่น ถังสีเหลืองที่บรรจุข้าวของ แต่หมายถึง การให้วัตถุทานแก่สงฆ์ เนื่องจากตามพระธรรมวินัย คำว่า “ภิกษุ” หมายถึง “ภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง” คำว่า “สงฆ์” หมายถึง “ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป” คำว่า “ทาน” แปลว่า “การให้” หมายถึง การตั้งใจให้ ซึ่งการให้ทานนั้นมีหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายประเภทนั้น ได้แก่ สังฆทาน💕 พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าการถวายสังฆทาน เป็นทานที่มีอานิสงส์สูงที่สุด สูงกว่าแม้การถวายทานแด่พระพุทธเจ้าเอง เพราะการถวายสังฆทาน เป็นการให้ทานแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นของกลางแก่วัด หรือเป็นของส่วนรวม ไม่ได้เจาะจงผู้รับ และไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยคณะสงฆ์ในวัดจะประชุมพิจารณาเพื่อตกลงกันว่า จะนำวัตถุทานที่ได้รับถวายมาไปใช้ในกิจการใด หรือ จะมอบให้แก่ภิกษุรูปใด ดังนั้นการถวายสังฆทานจึงเป็นการบำรุงรักษาวัดและภิกษุสงฆ์ให้มั่นคงสืบพระศาสนาต่อไปได้ พุทธศาสนิกชนจึงเชื่อว่า การถวายสังฆทานได้บุญมาก และนิยมกระทำกัน แต่มักจะขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนเคยเห็นและสังเกต พบว่าการถวายสังฆทานของคนส่วนใหญ่นั้น มักไม่สำเร็จเป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือ เป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่รับถวายเท่านั้น เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนควรที่จะศึกษาให้รู้และเข้าใจให้ถูกต้อง การถวายทานให้สำเร็จเป็น”สังฆทาน”นั้น ผู้ถวายจะต้องระบุว่าถวายเป็นสังฆทาน ภิกษุผู้รับถวายจะต้องมีไม่น้อยกว่า 4 รูป และเมื่อรับถวายแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องทำการอปโลกน์ก่อน คือ ประกาศว่าเป็นของกลาง ใครต้องการจะใช้สามารถนำไปใช้ได้ แล้วจึงจะแจกจ่ายวัตถุทานที่ได้รับมาให้แก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการได้ ถ้าครบกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ จึงจะเป็น”สังฆทาน”ที่สมบูรณ์ ทั้งด้านผู้ถวายและผู้รับถวาย ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไปดังนี้ 1.ผู้ถวายสังฆทาน ผู้ที่จะถวายสังฆทาน ควรทำใจให้สบายก่อนการถวาย มีความพอใจและเต็มใจที่จะถวาย ส่วนวัตถุทานที่จะถวายเป็นสังฆทานนั้น ควรเป็นของที่จำเป็นและสมควรแก่สมณเพศ เช่น อาหารสด อาหารแห้ง จีวร ยา หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น และควรงดเว้นวัตถุที่ไม่สมควรแก่สมณเพศ เช่น อาวุธ ยาพิษ สุรา ยาเสพติด รูปภาพหรือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์ เป็นต้น วัตถุทานนี้จะซื้อหามาจัดเอง หรือจะซื้อที่เขาจัดสำเร็จแล้ววางขายก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การถวายนั้น จะต้องบอกว่าถวายเป็นสังฆทานให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่บอกให้ชัดเจน จะกลายเป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่เราถวายเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะบอกด้วยวาจาแก่ภิกษุที่เราถวายว่า ต้องการถวายของนี้เป็นของกลางแด่สงฆ์ก็ได้ หรือ จะกล่าวคำถวายสังฆทานอย่างที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณก็ได้ โดยในคำถวายนั้น จะต้องมีปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ด้วย เพื่อให้ทราบว่าทานที่ถวายนี้เป็นการถวายเป็นสังฆทาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์จงรับ, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์,และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว ผู้ถวายก็นำวัตถุทานของตนเข้าไปถวาย โดยจะยกประเคน หรือเพียงวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์พอให้รู้ว่าได้ถวายก็ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ถวายควรพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะถ้าวัตถุทานนั้นเป็นของใช้หรือยา สามารถจะประเคนพระภิกษุได้ตลอดเวลา ไม่มีการหมดอายุของวัตถุทานนั้น แต่หากเป็นประเภทของเคี้ยวของฉัน ซึ่งจะต้องผ่านเข้าไปทางปากนั้น จะมีอายุจำกัดตามประเภทของวัตถุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ💖 1) ยาวกาลิก คือ อาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น อาหารสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง นม โอวัลติน หากพระภิกษุท่านรับบาตรมาหรือรับประเคนด้วยมือแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียงเที่ยงของวันนั้น อาหารนั้นจะหมดอายุและไม่สามารถนำกลับมาฉันในวันต่อไปได้ หรือ หากรับประเคนหลังเที่ยง ก็จะหมดอายุทันทีที่รับประเคนนั้น ต้องสละให้สามเณรหรือเด็กวัดหรือญาติโยมไปบริโภคกัน 2) ยามกาลิก คือ น้ำผลไม้ที่ผ่านการกรองจนไม่มีเนื้อปนอยู่ และไม่ผ่านการตั้งไฟ (มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นอาหาร) โดยผลไม้ที่นำมาคั้นน้ำนั้น จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม (ประมาณเท่ากำปั้น) เมื่อพระรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 24 ชั่วโมง ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือจะต้องสละไป 3) สัตตาหกาลิก คือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น (รวมถึง น้ำหวาน น้ำอัดลมด้วย แต่ไม่รวมนมข้นหวาน นมกล่อง) เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 7 วัน ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือต้องสละไป 4) ยาวชีวิก คือ ยารักษาโรค เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว สามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอดไปจนกว่าจะหมด เพราะฉะนั้นหากในวัตถุทานที่จะถวายนั้น มีของเคี้ยวของฉัน 3 ประเภทแรกปนอยู่ ถ้าเรายกประเคนหมดทั้งถังหรือถาด อาจจะทำให้ของฉันนั้นหมดอายุก่อนที่พระท่านจะนำไปฉันหมดได้ หากต้องการให้ท่านเก็บไว้ฉันได้นานๆจนกว่าจะหมด ก็ควรแยกออกจากถังหรือถาด วางไว้โดยไม่ต้องยกประเคน แล้วเอาส่วนที่เหลือที่เป็นของใช้ยกประเคนท่าน พวกอาหารที่เราแยกออกวางไว้นั้น พระท่านจะให้เณรหรือโยมประเคนให้ในภายหลัง เมื่อท่านต้องการจะฉัน การทำอย่างนี้จะทำให้วัตถุทานที่ถวายเป็นประโยชน์กับพระท่านได้อย่างเต็มที่ และยังถูกต้องตามพระวินัยด้วย 2. ภิกษุสงฆ์ผู้รับถวายสังฆทาน เนื่องจากสังฆทานเป็นทานที่ถวายแด่ “สงฆ์” คือ ภิกษุตั้งแต่ 4 รูป ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ถวายปรารถนาจะให้สำเร็จเป็นสังฆทานแท้จริง และไม่ทำให้ภิกษุท่านยุ่งยากภายหลัง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุ 4 รูปขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นถวายที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม ตามพระวินัย เมื่อสงฆ์รับการถวายสังฆทานแล้ว จะต้องให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ไม่ใช่ประธานสงฆ์ในที่นั้น กล่าวคำ “อปโลกน์” เป็นภาษาบาลีว่า ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ, อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันตุ, ภิกขุ จะ สามะเณรา จะ คะหัฏฐา จะ ยะถา สุขัง ปะริภุญชันตุ ซึ่งเป็นการประกาศต่อที่ประชุมสงฆ์ เพื่อตกลงกันว่าจะแจกของนั้นกันอย่างไร ตามพระวินัย หากยังไม่ได้ทำการอปโลกน์ก่อนที่จะนำของที่ถวายมาเป็นของสงฆ์นั้นไปใช้แล้ว จะต้องอาบัติ คือ มีความผิด เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระผู้ที่ท่านรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ท่านจะให้ความสำคัญและระมัดระวังมาก เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปกราบนมัสการและถวายสังฆทานแด่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ณ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร เมื่อหลวงปู่ท่านรับประเคนแล้ว ท่านให้พระภิกษุที่เฝ้าอุปัฏฐากท่านกล่าวคำอปโลกน์ทันที แล้วแจกจ่ายของนั้นแก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการใช้ต่อไป หรืออย่างหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร ศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็ได้ทราบว่าท่านจะไม่ยอมฉันยอมใช้ของที่ถวายแด่สงฆ์ ซึ่งยังไม่ผ่านการอปโลกน์เลย สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับสังฆทาน 1. ถ้ามีภิกษุผู้รับถวายสังฆทานไม่ถึง 4 รูป เช่น มีเพียงรูปเดียว ก็สามารถถวายสังฆทานได้เช่นกัน แต่ภิกษุผู้รับถวายนั้นจะต้องทำหน้าที่เหมือนตัวแทนสงฆ์รับถวายสังฆทาน เมื่อรับถวายแล้วจะต้องนำวัตถุทานนั้นไปกล่าวอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ที่วัดอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปใช้ จึงจะทำให้ทานนั้นสำเร็จสมบูรณ์เป็นสังฆทานได้ ถ้าภิกษุท่านรับถวายแล้ว ไม่ได้นำไปอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ ก็จะไม่เป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นทานที่ถวายเฉพาะบุคคลไป แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า ในส่วนของตัวผู้ถวายนั้น ได้บุญตั้งแต่ตอนที่ตั้งใจถวายทานเพื่อเป็นสังฆทานแล้ว ไม่ควรไปกังวลว่าพระท่านรับแล้วจะนำไปอปโลกน์หรือไม่ เพราะถ้าท่านไม่อปโลกน์แล้วนำไปใช้ ท่านจะต้องอาบัติ และเป็นบาปเป็นโทษแก่ท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของผู้ถวาย เหตุฉะนั้น ถ้าท่านพุทธศาสนิกชนไม่ปรารถนาจะให้ภิกษุท่านยุ่งยาก หรือต้องการจะให้เป็นสังฆทานที่แท้จริง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุไม่น้อยกว่า 4 รูป ก็จะเป็นการดียิ่ง และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาพระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วย 🧡2. ในงานพิธีทำบุญในที่ต่างๆ โดยเฉพาะเป็นงานที่นิมนต์พระจากหลายวัด ถ้าจะมีการถวายทานเป็นสังฆทาน โดยในคำถวายปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ ภิกษุที่อยู่ในงานนั้น ควรทำการอปโลกน์ทันทีที่ได้รับประเคนของเสร็จ ผู้เขียนเองเคยสังเกตพิธีทำบุญถวายภัตตาหารและสังฆทาน ที่นิมนต์เฉพาะพระวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นโดยเฉพาะ พบว่าเมื่อท่านได้รับประเคนสังฆทานในพิธีทำบุญนั้น ท่านจะกล่าวอปโลกน์ทันที เพื่อที่จะสามารถแจกอาหารที่เหลือให้ญาติโยมรับประทาน และนำเครื่องไทยทานต่างๆ แยกย้ายกลับไปตามวัดต่างๆได้โดยไม่ผิดพระวินัย แต่ในบางงานพบว่า ผู้นำกล่าวคำถวายทานเป็นผู้ฉลาด ไม่ปรารถนาจะให้พระท่านยุ่งยากในการอปโลกน์ และป้องกันบาปที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา จากการรับประทานอาหารซึ่งเป็นของสงฆ์และยังไม่ผ่านการอปโลกน์ จึงไม่กล่าวคำถวายทานเป็นการถวายสังฆทาน แต่ถวายเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อภิกษุ โดยเปลี่ยนคำว่า “สังฆัสสะ” เป็น “สีละวันตัสสะ” และจาก “สังโฆ” เป็น “สีละวันโต” และเปลี่ยนคำแปลจากคำว่า “พระสงฆ์” เป็น “ท่านผู้ทรงศีล” แทน ✨3. ถ้ามีการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานในเวลาระหว่างเช้าถึงเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นที่วัดหรือที่บ้าน เมื่อพระท่านฉันอาหารแล้วมีอาหารเหลืออยู่ ญาติโยมจะนำไปรับประทานโดยพลการไม่ได้ จะต้องขออนุญาตจากพระสงฆ์ก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดโทษเป็นบาปได้ เพราะอาหารนั้นเป็นของสงฆ์จนถึงเวลาเที่ยง แต่ถ้าเลยเที่ยงแล้ว ถึงสงฆ์จะยังไม่อนุญาตก็บริโภคได้โดยไม่เป็นบาป เพราะอาหารนั้นหมดอายุ ขาดจากความเป็นของสงฆ์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม 😥4. ของที่ได้ถวายเป็นของสงฆ์แล้ว ภิกษุจะนำไปขายหรือให้แก่ฆราวาสไม่ได้ จะเป็นบาปทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ เพราะของนั้นไม่ใช่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นสมบัติกลางของวัด แม้ฆราวาสเองก็เช่นกัน จะเอาของที่คนเขาถวายเป็นของกลางแก่สงฆ์มาเป็นสมบัติของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะซื้อมา ขอมา ขโมยมา หรือพระท่านให้ก็ตาม จะเป็นบาปอย่างมาก ตามที่มีตัวอย่างปรากฏในพระสูตร ท่านกล่าวว่า ภิกษุหรือฆราวาสที่นำของสงฆ์ไปเป็นของตน เมื่อตายไปจะกลายเป็นเปรต ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสิ้นกรรมนั้น ฉะนั้น ท่านที่ได้กระทำดังที่กล่าว และทราบแล้วว่าเป็นบาป ควรคืนของสิ่งนั้นแก่วัดทันที ถ้าของนั้นชำรุดหรือสูญหาย ก็ควรจะซื้อหามาถวายคืนแก่วัด อย่าได้คิดเสียดาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็ควรรีบทำ เพราะถ้าตายเสียก่อน จะหมดโอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจถึงวิธีการถวายสังฆทานให้เป็น”สังฆทาน”ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว และขอได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้แด่พุทธศาสนิกชนคนอื่นๆด้วย เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันรักษาพระสงฆ์และพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่นับถือ “พุทธศาสนา”อย่างแท้จริง💖💖💖 ฐิตรโส คัดจาก http://www.walk2gether.net/forum/index.php?topic=2853

ไม่มีความคิดเห็น: