วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

รินไซเซน Rinzai ZEN
● จริต ๖ และอารมณ์กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับจริต
● จริต แปลว่า ความประพฤติ หมายถึงความประพฤติซึ่งติดอยู่ในสันดานของบุคคลโดยทั่วไป จริตทั้ง ๖ อย่างนี้ มีอยู่ในตัวบุคคลทุกคน โดยมีจริตอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๖ อย่างนี้เป็นตัวยืน และมีจริตอย่างอื่นๆผสมอยู่ด้วย เช่น ผู้ที่มีราคจริต มักจะมีสัทธาจริตปนอยู่ด้วย ผู้ที่มีโทสจริตมักมีพุทธิจริตปนอยู่ด้วย ดังนั้น การปฏิบัติจึงควรเลือกอารมณ์ที่เหมาะสมกับจริตที่เป็นเจ้าเรือนเป็นหลัก การปฏิบัตินั้นจึงจะเห็นผลก้าวหน้า
● การบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานนั้น ทั้งผู้บอกกัมมัฏฐานและผู้ปฏิบัติ จึงควรศึกษาให้รู้จริตขอบุคคลก่อน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อการเลือกอารมณ์อันเหมาะสมกับจริตของผู้ปฏิบัติ จึงจะได้นำเอาจริตและลักษณะของจริตแต่ละอย่างมากล่าวบอกกล่าวกันโดยย่อต่อไป ฯ
_______________________________________________
● ราคจริต ได้แก่บุคคลผู้มีปกติรักสวยรักงาม มีความกำหนัดยินดีในกามคุณ รักใคร่ในความสวยงาม ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีอิริยาบถนุ่มนวลกริยาท่าทางชดช้อย ทำการงานเรียบร้อยไม่รีบร้อน ชอบอาหารที่มีรสหวานหรือกลมกล่อม ได้เห็นสิ่งสวยงามก็เกิดความพอใจ และสนใจอย่างจริงจัง ไม่อยากจะจากไป ปรารถนาอยากได้โดยไม่คิดถึงโทษของสิ่งนั้น แม้จะมีอยู่
• ลักษณะแห่งฅนราคจริตมี ๕ ลักษณะ คือ ๑. โดยอิริยาบท ๒. โดยกิจ ๓. โดยการบริโภค ๔. โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ๕. โดยความเป็นไปแห่งธรรม
- โดยอิริยาบถ ฅนราคจริตมีอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มีอาการน่ารัก นุ่มนวล น่าเลื่อมใส เรียบร้อยดี

- โดยกิจ ฅนราคจริตทำกิจไม่รีบเร่ง ทำความสะอาด เรียบ ราวกับลาดเสื่อ
- โดยการบริโภค ฅนราคจริตชอบของกินที่บรรจงจัด และของหวาน เมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวแต่พอดีๆไม่ใหญ่นัก เป็นฅนรู้จักรส บริโภคไม่รีบร้อน ได้ของกินดีนืดหน่อยก็ดีใจ
- โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ฅนราคจริตเห็นรูปที่น่ารื่นรมย์ยินดีน่าพอใจสักหน่อย ก็จ้องดูเสียนานๆ เป็นต้น
- โดยความเป็นไปแห่งธรรม ธรรมทั้งหลาย คือ มายา โอ้อวด ถือตัว ความปรารถนาลามก(ชั่วหยาบ) ความมักมาก ความไม่สันโดด ความง่อนแง่น ความโอ่อ่า อย่างนี้เป็นต้น ย่อมมีมากในฅนราคจริต
● ฅนที่มีราคจริตเป็นเจ้าเรือนนี้ อารมณ์กัมมัฏฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภะ การพิจารณาอารมณ์ว่าเป็นของไม่งาม ๑๐ อย่าง กับกายคตาสติ คือการมีสติไปในกาย ๑ เป็นอารมณ์อันสมควรแก่เธอ ส่วนสถานที่บำเพ็ญนั้น ควรเป็นสถานที่ ที่ไม่สะอาดเรียบร้อย และไม่มีความสะดวกสบายทุกอย่างจึงเหมาะ ฯ
_____________________________________________________
● โทสจริต ได้แก่บุคคลผู้มีปกติหงุดหงิดโกรธง่าย มักเป็นผู้ไม่พิถีพิถันเรื่องความสะอาดเรียบร้อยสวยงาม เดินไปไหนมาไหนเร็ว ทำการงานด้วยความรีบร้อนฉับไว ไม่คำนึงถึงความเรียบร้อย ชอบอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือเผ็ดจัด เป็นต้น เมื่อพบสิ่งที่ไม่ถูกใจนิดหน่อยก็มักจะหงุดหงิด ขาดความยั้งคิดเมื่อมีโทสะ ถ้าไม่ชอบใจสิ่งใดแล้ว ย่อมไม่สนใจ แม้สิ่งนั้นจะมีประโยชน์ก็ตาม
● ลักษณะแห่งฅนโทสจริต มี ๕ ลักษณะ คือ ๑. โดยอิริยาบท ๒. โดยกิจ ๓. โดยการบริโภค ๔. โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ๕. โดยความเป็นไปแห่งธรรม
- โดยอิริยาบถ ฅนโทสจริตมีอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มีอาการไม่น่ารัก มีอาการกระด้าง ไม่น่าเลื่อมใส ไม่เรียบร้อย
- โดยกิจ ฅนโทสจริตทำกิจเร่งร้อน มีเสียงเกรี้ยวกราด ทำความสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย
- โดยการบริโภค ฅนโทสจริตชอบของกินที่ง่ายๆ และของเปรี้ยว เป็นต้น
- โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ฅนโทสจริตเห็นรูปที่ไม่น่ารื่นรมย์ ไม่น่ายินดีพอใจแม้สักหน่อย ก็อดทนดูอยู่ได้ไม่นาน เป็นต้น
- โดยความเป็นไปแห่งธรรม ธรรมทั้งหลาย คือ ความมักโกรธ ความผูกโกรธไว้ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ อย่างนี้เป็นต้น ย่อมมีโดยมากในฅนโทสจริต
● อารมณ์กัมมัฏฐานของฅนโทสจริต ๘ ประการ คือ วรรณกสิณ ๔ พรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ที่เหมาะแก่เธอ การเจริญเมตตาพรหมวิหาร ทำใจให้รักใคร่ผู้อื่นไม่มีประมาณ ไม่ผูกโกรธไว้ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ เพื่อทำใจให้แน่วแน่ ไม่มีความขุ่นข้องหมองภายใน ส่วนสถานที่บำเพ็ญนั้น ควรเป็นสถายที่สะอาดเรียบร้อย และมีความสะดวกสบายทุกอย่างจึงเหมาะ ฯ
______________________________________________
● โมหจริต ได้แก่บุคคลมีความเขลางมงายเป็นปกติ มักเป็นผู้เหม่อลอย ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชักช้าอืดอาด ทำการงานก็หยาบไม่ถี่ถ้วน ความชอบใจในรสอาหารก็ไม่แน่นอน มีอย่างไรก็กินอย่างนั้น ไม่พิถีพิถันในเรื่องอาหาร เห็นสิ่งสวยงามหรือไม่สวยงามก็ตาม ไม่ค่อยสนใจนัก ใครว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ไม่เป็นตัวของตัวเอง
• ลักษณะแห่งฅนโมหจริตมี ๕ ลักษณะ คือ ๑. โดยอิริยาบท ๒. โดยกิจ ๓. โดยการบริโภค ๔. โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ๕. โดยความเป็นไปแห่งธรรม
- โดยอิริยาบถ ฅนโมหจริต เดินท่าทางเงอะงะ ยืนก็มีอาการส่ายไปมา แม้ในการนั่งก็มีอาการอย่างเดียวกัน นอนก็ปูที่นอนไม่เป็นรูป นอนเก้งก้าง เป็นต้น
- โดยกิจ ฅนโมหจริต ทำงานปัดไปปัดมา ทำไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย และไม่รู้จักแล้วเสร็จ เป็นต้น
- โดยการบริโภค ฅนโมหจริต เป็นฅนชอบของกินที่ไม่แน่นอน
- โดยอาการ มีการดู เป็นต้น ฅนโมหจริต เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า ได้ยินฅนอื่นเขาติก็ติด้วย ได้ยินเขาชมก็ชมด้วย แต่ในส่วนของตนเองเป็นฅนเฉยๆ โดยอญาณุเบกขา คืออุเบกขาโง่
- โดยความเป็นไปแห่งธรรม ธรรมทั้งหลาย คือ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ ลังเลไม่สามารถตกลงใจได้ ถือความผิด ความดื้อรั้น ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยมากแก่ฅนโมหจริต
● กัมมัฏฐานที่เหมาะกับฅนโมหจริตคือ อนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ การเรียนและถามด้วยการฟังธรรมและสนทนาธรรมตามกาล ด้วยการอยู่กับครูบาอาจารย์ เพื่อหาความรู้ซึ่งจะเป็นเหตุให้หายเขลา และควรเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน พิจารณาลมหายใจเข้าออก เพื่อทำจิตให้แน่วแน่ปราศจากความหลงงมงาย ไม่จำกัดสถานที่ ฯ
___________________________________________________
● สัทธาจริต ได้แก่บุคคลผู้มีปกติเชื่อง่าย ความประพฤติโดยมากเหมือนผู้มีราคจริต ต่างแต่ว่า เป็นผู้ชอบเสียสละ เมื่อมีความเชื่อถือสิ่งใดแล้วก็เชื่ออย่างจริงจัง เช่นเชื่อในพระรัตนตรัย และผู้มีคุณแก่ตนเช่นบิดามารดา เป็นต้น ชอบฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่โอ้อวด
• ลักษณะของฅนมีสัทธาจริต คล้ายกับบุคคลที่มีจริตทั้งสามอย่างในเบื้องต้น ต่างแต่โดยความเป็นไปแห่งธรรม คือธรรมทั้งหลาย ได้แก่ความสละปล่อยเลย ความใคร่จะได้พบพระอริยทั้งหลาย ความใคร่จะฟังพระสัทธรรม มีความชื่นบานในธรรมมาก ไม่มีความโอ้อวด ไม่มีความริษยา เลื่อมใสในฐานะทั้งหลายที่ควรจะเลื่อมใส ดังนี้เป็นต้น นี่คือลักษณะโดยมากของฅนผู้มีสัทธาจริต
• ส่วนอารมณ์ที่เหมาะแก่ผู้มีสัทธาจริต มีเหมือนผู้เป็นโมหจริต กล่าวคือกัมมัฏฐาน ๖ อย่าง คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ เป็นอารมณ์ที่สมควรแก่เธอ ฯ
______________________________________
● พุทธิจริต ได้แก่บุคคลผู้มีปกติใช้ความคิด ความประพฤติต่างๆเหมือนผู้เป็นโทสจริตโดยมาก ต่างแต่ว่าเป็นผู้ว่าง่าย ชอบคบคนดี เฉลียวฉลาดรอบคอบ ไม่เกียจคร้าน ชอบบำเพ็ญความเพียรเพื่อพ้นทุกข์
• ลักษณะแห่งฅนพุทธิจริต พึงทราบตามแนวแห่งบุคคลผู้มีจริตสามอย่างในเบื้องต้นนั้น ต่างแต่โดยความเป็นไปแห่งธรรม คือธรรมทั้งหลาย ได้แก่ความเป็นผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหารการกิน มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรในธรรมของผู้ตื่นอยู่(พุทธะ) มีความสังเวชในสิ่งทั้งหลายอันควรจะสังเวช เมื่อสังเวชแล้วทำความเพียรอย่างแยบคาย ดังนี้เป็นต้น
• อารมณ์กัมมัฏฐานที่เหมาะคือ มรณสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ส่วนสถานที่บำเพ็ญ เหมือนผู้เป็นโทสจริต ฯ
___________________________________________
● วิตกจริต ได้แก่บุคคลผู้มีปกตินึกฟุ้งซ่าน ความประพฤติโดยมากเหมือนฅนมีโมหจริต มีข้อแตกต่างกันคือ ชอบพูดพร่ำเพรื่อ มีความเฉื่อยชาในการประกอบกุศลและคุณงามความดี ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ ทำอะไรไม่จริงจัง คิดฟุ้งซ่านโลเลไปในเรื่องต่างๆ
• ลักษณะแห่งฅนวิตกจริต คล้ายกับจริตของบุคคลทั้งสามอย่างเบื้องต้น ต่างแต่โดยความเป็นไปแห่งธรรม คือธรรมทั้งหลาย ได้แก่พูดมากกว่าทำ ชอบมั่วสุม เบื่อหน่ายในการทำกุศล จับจด จิตใจพลุกพล่าน ดังนี้เป็นต้น
• อารมณ์กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่ผู้เป็นวิตกจริต คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ เป็นอารมณ์ที่สมควรแก่เธอ ฯ
______________________________________
● ส่วนอารมณ์ อรูปฌาน ๔ และภูตกสิณ ๔ เหมาะกับจริตทั้งปวง นั่นหมายความว่าสมาธิอย่างเซนนี้ เข้ากันได้กับทุกจริตที่ว่ามานั่นเอง ฯ

ไม่มีความคิดเห็น: