วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

ZEN พระพุทธศาสนา ในแบบเซน


Zen

เซน เป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่มีรูปแบบการประพฤติปกิบัติคล้ายคลึงกับสายวัดป่ากรรมฐานบ้านเรามาก มีการถือศีล นั่งสมาธิ ภาวนา มีการใช้ปัญญาพิจารณาข้อ อรรถ-ธรรม พิจารณาในอุปาทานและขันธ์ทั้งห้า ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา ไม่ได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทุกการกระทำมีการเจริญ สติ และปัญญา อันเป็นองค์ประกอบหลักในการเข้าถึงพระธรรม “สุญญตา ความว่าง” ความเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งมวล เป็นสภาวะที่นักบวชเซน มุ่งที่จะไปถึง
คณาจารย์เซนที่สำคัญๆ ตามที่ปรากฏในหนังสือ “สูตรเว่ยหล่าง” ซี่งเป็นสังฆนายกองค์ที่ 6 ได้พูดถึงเว่ยหล่าง ท่านเว่ยหล่างจะสอนเน้นเรื่องจิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ สอนว่าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ คำว่าบริสุทธิ์ ถ้าทางฝ่ายเถรวาทเราถือว่าเป็นจิตอรหันต์ ครูบาอาจารย์ให้ข้อคิดว่าถ้าจิตบริสุทธิ์หมายถึงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ถ้าบริสุทธิ์จากกิเลสแล้วจะมาเกิดได้อย่างไร ถ้าว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสหรือประภัสสร ก็หมายถึงจิตที่ยังไม่ถูกกิเลสจรมาครอบงำ คือจิตที่ยังถูกกิเลสจรมาครอบงำได้ยังไม่อิสระแท้จากกิเลส
เว่ยหล่าง สอนว่าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ให้พยายามทำจิตให้อิสระจากการปรุงแต่ง จะประสบความสำเร็จทุกอย่าง แสดงว่าจิตยังถูกปรุงแต่งอยู่ จิตปรุงแต่งได้จิตก็ยังเป็นกองสังขารมีทั้งธรรมและกิเลสกองอยู่ จะทำอย่างไรจะปฏิบัติอย่างไร จิตจะเป็ฯอิสระจากการปรุงแต่ง จิตปรุงแต่งคือนึกคิดวิ่งรับอารมภ์ต่างๆถูกนิวรณ์ทั้งหลายครอบงำได้ อันเป็นอุปสรรคของสมาธิ ที่ว่าจิตมีสมาธิแล้วก็ตามจิตก็ยังถูกอนุสัยกิเลสส่วนละเอียดส่วนลึกปรุงแต่งจิตอยู่อีก ต้องใช้ปัญญา ปัญญาญาณซักฟอกด้วยภาวนามยปัญญาตามลำดับขั้น จนกว่าจิตจะบริสุทธิ์หมดจดแท้จริงได้ เซนจะหมายถึงส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ต่างก็สมมุติว่ากันไปไม่เหมือนกัน
คณาจารย์เซนตามที่ปรากฏ ฝ่ายใต้ท่าน เว่ยหล่าง ได้ฉายา “สำนักบรรลุฉับพลัน” หรือประเภท ขิปปาภิญญา ถือเป็นผู้เข้าถึงธรรม ได้รับบาตร จีวร สืบต่อจากสังฆนายกองค์ที่ 5 ส่วนเซนฝ่ายเหนือโดยท่าน ชินเชา ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กันได้ฉายาว่า “สำนักเชื่องช้า” ฟังดูตามประวัติเป็นศิษย์เก่าแก่ของท่านสังฆนายกองค์ที่ 5แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรม ต่างตั้งสำนักสอนกันคนละแห่ง ซึ่งต่างดำเนินการสอนคณะศิษย์ให้ปฏิบัติตามหลักของ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ให้ความหมายไปคนละแนว เข้าใจไปคนละอย่าง ไม่เหมือนกัน ชินเชา ให้ความหมายว่า ศีลสอนให้ละชั่ว สมาธิสอนให้ทำใจให้บริสุทธิ์ ปัญญาสอนให้ทำดี ส่วนเว่ยหล่าง สอนให้บำเพ็ญปัญญาคู่กันไปกับสมาธิ เพราะศีล สมาธิ และปัญญา ได้รับแรงกระตุ้นมาจากจิต ดังนี้คือ
1- การทำจิตให้อิสระจากมลทินทั้งปวง คือ ศีล เป็ฯภาวะแท้แห่งจิต
2- การทำจิตให้อิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลายคือ สมาธิอันเป็นภาวะที่แท้แห่งจิต
3- สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั่นแหละคือ วัชระ หรือปรัชญา หรือปัญญา หมายถึงภาวะแท้แห่งจิต
ส่วนการมาและการไปเป็นสมาธิในขั้นต่างๆ การมาการไปหมายถึงอะไร คงหมายถึงสมาธิในขั้นต่างๆสอนให้ศิษย์อย่าทำจิตให้สงบนิ่งเฉย คงหมายถึงจิตพร้อมตั้งมั่น สติ สมาธิ ปัญญา พร้อมต่อการงาน ทั้งนอกทั้งในก็เข้ากับธรรมะป่าเรา สอนไม่ให้ทำจิตให้ว่างเปล่าจากสติ สมาธิ ปัญญา สรุปคำสอนของเว่ยหล่าง คือทำจิตให้ปราศจากมลทินชื่อว่าศีล ทำจิตให้ปราศจากความกระวนกระวายชื่อว่า สมาธิ ทำจิตให้ฉลาดรอบรู้ชื่อว่าปัญญา คือภาวะแท้แห่งจิต
ส่วนคณาจารย์ที่สำคัญอีกรูปหนึ่งคือ ท่านฮวงโป ซึ่งเป็นต้นสายเซนที่เผยแผ่ไปสู่ประเทศ ญี่ปุ่น ท่านจะสอนหนักไปทางความว่าง “สุญญตา” สอนให้หยุดการปรุงแต่งแห่งจิต ไม่ใช่การเพ่งให้เกิดฌาน หรือไม่ใช่ใช้ปัญญาให้เกิดญาณ แต่ให้เกิดความว่าง ว่างแบบมีอยู่ตลอดกาลนิรันดร์ เป็นสุญญตาของพระพุทธองค์
สรุปได้ว่า พุทธแบบเซน เป็นแนวการสอนอย่างท้าทาย เพราะสอนเน้นมาที่จิตทุกระยะ ชวนให้ติดตามเฝ้าดูจิต ชวนให้ฟังเป็นเหตุสะกิด-จิตใจได้ดี เกื้อกูลต่อการงานภาวนาหนุนมาจำเพาะที่ใจ ใคร่ครวญมาที่ใจ ตามรู้เห็นความเป็นอยู่ของใจ ให้ความสำคัญมาที่งานของใจ พูดถึงแต่จิตหนึ่ง พูดถึงแต่จิตคือพุทธะ พูดถึงแต่ความว่างของจิต หรือจิตเดิมแท้ จิตปรุงแต่งไม่ใช่จิตแท้ มันเป็นมายาของจิต จิตหมดการปรุงแต่ง จิตเข้าถึงพุทธะ เข้าถึงจิต เข้าถึงความว่าง คือ ว่างจากตัวเอง การใช้พุทธะแสวงหาพุทธะ การใช้จิตแสวงหาจิตก็ดี ย่อมไม่มีโอกาสประสบพบเห็นได้ เพียงแต่หยุดคิดหยุดการปรุงแต่ง ก็จะพบจิตพบพุทธะ หรือพบความว่าง แต่ ! การจะหยุดการปรุงแต่งแห่งจิต การหมดการปรุงแต่งจิตจะหยุดได้อย่างไร จะหมดได้อย่างไร? เพราะ จิตเป็นสภาวะธรรมที่ต้องนึกคิด ฝ่ายเถรวาทเราให้เอากิเลสออกจากจิต เพราะกิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เป็นโทษจากจิต เพราะฉะนั้น การประพฤติ การปฏิบัติ การดำเนินให้เป็นไปตามมรรค เพื่อถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะออกจากจิต ตามแนวทางฝ่ายเถรวาทที่ครูบาอาจารย์ปลูกฝังมาเป็นทางดำเนินเพื่อสงบระงับการปรุงแต่งแห่งจิตได้อย่างแท้จริง โดยไม่เหินห่างการปฏิบัติจิตของตัวเอง การติดตามผูกพันกับบุญต่างๆ ไม่มีโอกาสได้ประสบพบเห็นจิตพุทธะนี้ได้เลย เป็นแต่เพียงสร้างบารมีไปไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: