คำตอบของความสุข
หมอปิโยรส ปรียานนท์
วีระศักร จันทร์ส่งแสง : สัมภาษณ์และเรียบเรียง
นาวาเอก นพ. ดร. ปิโยรส ปรียานนท์
เป็นหมอประจำอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อแรกคุยทาบทามเพื่อขอสัมภาษณ์
คุณหมอบอกว่าชีวิตเขาออกจะเรียบๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อขอให้คุณหมอลองเล่าเรื่องราวแต่หนหลังก็กลับพบว่า
มีความไม่ธรรมดาอยู่มากมาย
ไล่มาแต่ชีวิตวัยเด็ก
ที่เขาได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามาแต่เล็ก จากการที่คุณพ่อพามาฝากไว้กับพระในตอนเย็นๆ
ของทุกวัน
“ตั้งแต่ได้รับการสอนจากครูบาอาจารย์
ทำให้เรามีคำถามว่า เราเกิดมาทำไม ตอนราว
๘ ขวบ แม้ยังเด็กก็จริง แต่เหมือนมีความคิดอะไรบางอย่าง ในขณะที่เด็กบางคนขาด แต่ผมมี
ขณะที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อจะสอบให้ได้
ผมไม่อ่านผมก็สอบได้ ทำให้ผมมีเวลาเหลือเฟือที่จะไปทำอะไร แต่ผมมีคำถามว่า ผมเกิดมาทำไม”
เขาเป็นเด็กเรียนเก่ง
และดูเหมือนมีพละกำลังอย่างเหลือเฟือที่จะทำอะไรได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ
“ตอนราว ๑๐ ขวบ
ไปสวนโมกข์ได้รู้จักงานท่านพุทธทาส ก็อ่านมาตั้งแต่ตอนนั้น ตอนเรียนที่โรงเรียนเซลคาเบรียล
หนังสือห้องสมุด ๒ พันกว่าเล่ม ผมอ่านหมด ภายใน ๑ ปี ตอนบ่ายผมจะเล่นกีฬา เล่นเทนนิส พอมาเรียนเตรียมอุดมก็เล่นกีฬาเทนนิส
ติดทีมชาติตั้งแต่ มศ. ๒-๓
จากนั้นผมสอบเทียบไปเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ทำอะไรหลายอย่าง ระหว่างเรียนหนังสือผมเป็นประธานและรองประธาน
๑๔ ชมรม เรียนได้ปริญญาทั้งหมด ๑๒ ใบ
ปริญญาเอกจบวิศวะ
ได้เกรดครั้งสุดท้ายเอ็มบีเอที่จุฬาฯ ๓.๙๘
ทำให้ไม่อยากเรียนต่อ เพราะเกรดผมตกต่ำลง ผมรู้สึกว่าขาดความมั่นใจในชีวิต”
นั่นป็นจุดเปลี่ยนหนึ่ง
แต่ไม่ใช่จุดสำคัญ
หมอหนุ่มเล่าว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต เกิดขึ้นเมื่อแม่ป่วย
“ปี ๒๕๓๔ แม่ผมเป็นมะเร็ง ตอนนั้นผมมีรายได้เดือนละ ๗-๘ แสนบาท และกำลังจะตั้งโรงพยาบาลเอกชน ทำบริษัทของตัวเอง พอคุณแม่เป็นมะเร็งทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด จากเดิมที่ทุกคนที่ไม่สบายวิ่งมาหาเรา แต่แม่เราเองเราไม่กล้ารักษา ก็พาแม่ไปให้อาจารย์ผ่าตัด แต่ผ่าไม่หมด ก็กระจาย ฉายแสงและให้คีโม
แม่ทรมานมาก ผมจึงลาไปบวชให้แม่ แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากที่อ่านหนังสือธรรมะแล้วเข้าใจ
ตีความโล่งไปหมด
แต่พอมาบวชพบว่าศาสนาในหนังสือไม่เหมือนศาสนาที่ปฏิบัติ และไม่รู้แม่ได้อานิสงส์จากตรงนั้นหรือเปล่า
แต่แม่ดีขึ้น แต่ผมได้อานิสงส์แน่
ผมเปลี่ยนไปเลย เลิกไม่คิดอยากทำโรงพยาบาลเอกชน เอาเวลามาดูแลแม่
เงินทองมาทำมูลนิธิ”
มูลนิธิของหมอปิโยรสชื่อ
มูลนิธิดวงแก้ว เขาบอกว่าได้ชื่อมาจากพระรัตนตรัย ในความหมายว่าเป็นดวงธรรม โดยมีเขาเป็นประธานมูลนิธิ
และเป็นคนออกเงินทุน
หลายปีของการดำเนินกิจกรรม มูลนิธิดวงแก้วติดลบ ๒๐ ล้านบาท
แต่ผลที่เกิดขึ้นก็นับว่าคุ้มค่า
“เราออกหน่วยไปผ่าตัดคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ตามชนบทเดือนละ
๒ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน” ประธานมูลนิธิดวงแก้ว พูดถึงกิจกรรมแรกของมูลนิธิ
“ผ่าตัดได้ครั้งละ ๔๐-๕๐ คน ทำมา ๒๐ ปี ทั้งหมดก็ราว ๘,๕๐๐ รายแล้ว
เราทำให้คนไข้เหมือนญาติ เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เราไม่ได้แค่ให้เขาพูดชัด รูปร่างสวยงาม
แต่ให้เขาเป็นคนดีของสังคม ผ่าตัดแก้ไขให้
ปากแหว่งเพดานโหว่ต้องติดต่อกันยาว ต้องฝึกพูดต่อ เจอหน้ากันจนเป็นเหมือนญาติ
ตั้งเป็นชมรมเล็กๆ ให้เขาได้รู้จักกัน
ผ่าตัดเรียบร้อยแล้วไม่มีเงินจะเรียนหนังสือ เราก็ให้ทุนเรียนต่อ
มีรายหนึ่งยังจำได้ดี
ตอนผ่าตัดเขามารอเราอยู่ที่โรงพยาบาลฝาง ๒-๓ วันล่วงหน้าก่อนเราไปถึง
ก่อนนั้นเขาไม่ยอมไปเรียนหนังสือเพราะอายเพื่อน
ตอนทำเราฉีดยาชา ถามเขาว่าเจ็บไหม เขาส่ายหน้าตลอด
แต่ความจริงการผ่าตัดคงเจ็บ
ตอนหลังผมกลับไปเจออีกทีเขามารอเราอยู่ แผลดี เขาเป็นชาวเขาพูดไม่ชัด
แต่คงท่องมาอย่างดี บอกว่า
ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ ที่ช่วยหนู ต่อไปนี้หนูไม่อายใครแล้ว หนูจะไปเรียนแล้วค่ะ
มันมีความสุขมากที่เราได้ทำให้เขาเป็นคนใหม่ และบางทีเราช่วยด้านร่างกายอย่างเดียวไม่พอ
เราก็ไปฝึกอาชีพ จากนั้นก็ดึงเข้ามาหาเรื่องธรรมะด้วย คือดูแลทั้งร่างกาย อาชีพ
ศาสนา”
กิจกรรมสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของมูลนิธิดวงแก้ว
คือการจัดอบรมปฏิบัติธรรมเดือนละ ๒ ครั้ง
โดยมุ่งที่จะเอาธรรมะไปช่วยดับทุกข์ในใจคน
“เรื่องการมุ่งทำเพื่อส่วนรวม
ผมได้แนวคิดมาจากพุทธศาสนา ที่มุ่งให้เราอยู่อย่างพอเพียงสำหรับตัวเอง
และสิ่งที่ล้นออกไปคือความอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเห็นคนรอบข้างชัดเจนขึ้น เห็นว่าเขาทุกข์เพราะอะไร ทุกข์จากการไขว่คว้าหาความสุขจากวัตถุ
สิ่งเหล่านั้นทำให้ทุกข์ สิ่งที่เราทำได้คือชี้แนะเขาว่าความทุกข์มันเป็นเช่นนี้
การติดอยู่กับเงินทองชื่อเสียงทำให้ให้คุณไม่มีความสุข ถ้าหลุดออกมาได้จะมีความสุข เราให้ธรรมะ ให้การอบรมปฏิบัติธรรม หวังเอาธรรมะไปดับไฟร้อนในใจ”
ทำงานเพื่อคนอื่นมานานร่วม
๒๐ ปี เมื่อหันกลับมามองตัวเอง หมอหนุ่มพบว่า
“เราต้องมีความสุขในงาน ถ้าเรามุ่งหวังยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียง
เงินทอง เราก็จะทุกข์กับมัน
และไม่ใช่ว่าต้องรอให้มีเงินจึงจะช่วยคนอื่น ความสุขที่เราให้ไป ก็คือความสุขที่เราได้รับ
เป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งต่างๆ
ที่เราไปยึดถือ ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียง ล้วนแต่ไม่ยั่งยืน
แต่การให้เราคิดถึงเมื่อไรก็เป็นสุขเมื่อนั้น เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
ในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เท่านี้ก็เป็นความสุขแล้ว ไม่ต้องยึดติดกับอะไร”
ส่วนคำถามที่ค้างคามาแต่วัยเยาว์
ที่ว่าคนเราเกิดมาทำไม นายแพทย์ของคนยากไร้บอกว่าเหมือนเขาจะได้คำตอบมาหลายครั้ง
“มีคำตอบมาหลายอย่างช่วงวันของชีวิต ช่วงเด็กๆ ก็ว่าเกิดมาเพื่อทำสิ่งที่เราอยากทำ
และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ทำความเดือดร้อนให้ตัวเอง หรือว่าถ้าจำเป็นต้องทำ เราก็จะไม่เสียใจกับสิ่งที่เราทำไป โตขึ้นมาหน่อยก็คิดว่าเกิดมาต้องทำความดี พออ่านท่านพุทธทาส
อ่านหนังสือมากขึ้นก็เริ่มเปลี่ยน
เริ่มคิดว่า เกิดมาควรได้รู้จักธรรมะ ก็กลับมานั่งสมาธิ
เริ่มคิดอะไรมากขึ้น เริ่มหันเข้าหาครูบาอาจารย์
จิตสงบมากขึ้นก็ทำอะไรได้มากขึ้น
ตอนนั้นเห็นเลยว่าจิตกับกายมันแยกกัน
สุขที่เราได้ตรงนี้ก็พบว่าสุขมันเริ่มที่ใจ
ผมก็รู้สึกว่านี่แหละเป็นความสุขที่แท้จริงที่มนุษย์ควรจะได้
ก็เริ่มคิดที่จะให้สิ่งนี้กับคนอื่น ก็เริ่มสร้างสถานปฏิบัติธรรม
เราอยากให้สิ่งที่เราได้ ให้ความสุขอย่างนี้กับคนอื่นบ้าง”
จนถึงวันนี้หมอวัยกลางคนมีคำตอบของชีวิตว่า
“ทุกวันนี้
ผมมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ไม่แน่ใจว่านี่คือที่สุดของคำตอบหรือยัง ก่อนนี้ก็ว่าเกิดมาทำสิ่งที่อยากทำ เกิดมาทำความดี เกิดมาปฏิบัติธรรม
วันนี้ผมคิดว่าผมเกิดมาเพื่อพัฒนาจิตดวงนี้ให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ครอบงำอยู่”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น