วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2559

เปิดเลนส์ส่องโลก-นพ.ปิโยรส



จากรายการเปิดเลนส์ส่องโลก และคุณนิติภูมิ
ได้กล่าวถึงคุณหมอปิโยรส ปรียานนท์

อยากให้แพทย์และว่าที่แพทย์ทุกคนได้อ่านครับ

เรื่องของนายแพทย์ปิโยรส
ผู้อ่านท่านที่เคารพ ในชีวิตของคนเรานี่นะครับ บางครั้งก็อดไม่ได้
ที่จะแอบศรัทธาและภูมิใจในการกระทำของคนอื่น ผมเองก็ชื่นชมศรัทธาผู้คนอยู่หลายท่านหนึ่งในนั้นก็คือ นายแพทย์ ปิโยรส ปรียานนท์ เจอคุณหมอครั้งแรกเมื่อผมไปสอนที่ วิทยาลัยการทัพเรือซึ่ง ตอนโน้นคุณหมอเป็นนายทหารนักเรียนอยู่

หลังจากนั้นคุณหมอซึ่งเป็น ประธานมูลนิธิดวงแก้วก็ชวนผมไปหลายประเทศเพื่อนำทีมหมอไทยไปช่วยผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ผมได้แต่ส่งลูกน้องไป
ไม่เคยร่วมเดินทางกับคุณหมอและทีมงานมูลนิธิดวงแก้วซักที
เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มเอเชียและแอฟริกา
คุณหมอและทีมงานมูลนิธิขนเครื่องใช้และอุปกรณ์การแพทย์
เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบพบเคราะห์กรรมอย่างเงียบๆ
แต่ละวันทีมงานของคุณหมอทำแผลให้คนไข้จนถึงตีห้า คลื่นยักษ์สึนามิเกิดในวันที่ 26 คุณหมอลงไปช่วยจนวันที่ 30 ธันวาคม ก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าคุณแม่ป่วยหนัก จึงต้องขึ้นกรุงเทพฯเพื่อมารักษาคุณแม่คุณแม่หายดีแล้ว คุณหมอก็ลงไปช่วยเพื่อนมนุษย์อีก สถานการณ์
ในเมืองไทยได้รับการช่วยเหลือจาก ผู้คนในประเทศดีกว่าชาติอื่น
คุณหมอก็จึงเตรียมข้าวของมากถึง 5 ตัน นำบินตรงลงไปยังประเทศศรีลังกา

ผมเจอคุณหมอโดยบังเอิญบนเครื่องบิน และยังได้พบกันอีกครั้งในขณะที่คุณหมอและ ทีมงานปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบพบเคราะห์กรรมอยู่ที่ตำบลกัลมุไนคูดี ซึ่งที่นี่เป็นเขตอิทธิพลของพยัคฆ์ทมิฬอีแลม พวกกบฏแบ่งแยกดินแดน

คุณหมอและทีมงานบรรจุยากันจนถึงตีสองตีสาม กลางวันก็ตระเวนไปตาม คามนิคมต่างๆ ทุกท่านใส่เสื้อที่มีธงชาติไทยติดไว้ที่หน้าอก ไปทางไหนผมได้ยินแต่ผู้คนส่งเสียงชื่นชมไทยแลนด์ด็อกเตอร์ๆๆๆ มีแต่ไทยด็อกเตอร์เท่านั้นที่ไปได้ถึงผู้คนในชนบท
บางครั้งทีมของคุณหมอก็เจออุปสรรคในการทำงานเพราะทหารศรีลังกาต้องการสิ่งของบริจาคไปเก็บไว้ (ใช้เอง?) ในค่ายทหาร

นายแพทย์ปิโยรสเป็นหมอที่มีความรู้ดีมากท่านหนึ่ง จบแพทย์จุฬาฯ แล้วก็ไปต่อด้านศัลยกรรม ที่ญี่ปุ่นอีก 5 ปี และเรียนอีกหลายที่ครับ เช่น ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โชวะแห่งญี่ปุ่น
เรียนปริญญาเอกทางพันธุวิศวกรรมการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ไปศึกษาเน้นด้านศีรษะและ คอที่ศูนย์มะเร็งแห่งชาติชิบะ จากนั้นได้ทุนไปต่อที่ศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนายที่นิวยอร์ก
พันธุวิศวกรรมการแพทย์ ที่เอ็มไอที และยังทำวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอนของอังกฤษ ฯลฯคุณสมบัติชั้นยอดและมันสมองชั้นเยี่ยมอย่างคุณหมอปิโยรสนี่ มีแต่สถาบันการแพทย์ดังๆของโลกอยากได้ตัว ในวัย 46 ปี ขณะนี้คุณหมอมีโอกาสทำเงินได้มาก  แต่คุณหมอกลับทำตัวเรียบง่าย ในสมองสนใจแต่ว่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ได้อย่างไรแต่เพียงเท่านั้น ช่วยโดยไม่สนใจว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาไหน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่อยากเป็นข่าว ไม่ต้องการประชาสัมพันธ์ ปรารถนาที่จะมีชีวิตเรียบๆเงียบๆ แต่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากสึนามิของทางการศรีลังกาคือ 30,721 คน แต่คุณหมอและผมเชื่อว่าในความเป็นจริงมีมากกว่านั้นเยอะ เพราะบางที่มีการฝังโดยไม่มีการนับจำนวนและไม่ได้แจ้งทางราชการ ในการเดินทางไปศรีลังกาครั้งนี้ผมยังบังเอิญได้พบกับทีมขององค์การอนามัยโลก ที่ส่วนใหญ่ขับรถยนต์ไปตรวจตราแล้วก็(อาจจะ) เขียนรายงาน โดยไม่ได้ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆอย่างทีมมูลนิธิดวงแก้ว

คนเราดวงจะเจอกันครับ ผมเจอคุณหมอปิโยรสโดยบังเอิญอีกครั้ง
ขณะที่กำลังนั่งรอเครื่องบินที่กรุงโคลัมโบ คุณหมอต้องรีบบินกลับเมืองไทยเพราะมีโทรศัพท์แจ้งว่าอาการของคุณแม่เข้าขั้นวิกฤติ
เราถึงเมืองไทยในเวลาเที่ยงของอังคารวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2548 คุณหมอรีบตรงดิ่งไปยังโรงพยาบาล ได้กราบเท้าคุณแม่ซึ่งกำลังป่วยหนัก พอได้พบหน้าลูกชาย คุณสินทรา ปรียานนท์ ก็จากโลกนี้ไปเมื่อเวลา 17.00 นาฬิกาศพคุณแม่ของคุณหมอปิโยรสตั้งอยู่ ณ ศาลา 7 วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ

คุณแม่สินทราจากโลกนี้ไปแล้ว
โดยทิ้งลูกชายไว้ช่วยมนุษยชาติ.

1 ความคิดเห็น:

มูลนิธิดวงแก้ว กล่าวว่า...

ดีใจเหมือนกันที่ได้กลับมาอ่านอีกครั้งครับ ดูเหมือนชีวิตผ่านเรื่องราวมามากมาย ขนาดว่าจะบวชยาว ไปช่วยแผ่นดินไหวที่เนปาล อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่สองหนักๆด้วยตัวเอง หยุดคิดในขณะที่ทุกอย่างสั่นไหวตึกแตกร้าวรอบตัว เตียงล้มลงข้างๆตัว ของกระจัดกระจายแตกหักเสียหาย ใจนิ่งสงบอยู่ ถามตัวเองสองข้อ 1. ถ้าตายตอนนี้กลัวไหม? ตอบในใจว่าไม่กลัว เพราะที่ต้องทำก็ทำแล้ว ที่อยากทำก็ทำแล้วถึงแม้ไม่ครบก็พอใจ...ใจกลับมาถามใหม่. 2. ถ้าไม่ตายจะทำอย่างไร ใจเราก็กลับไปตอบอีกครั้ง.. เราคงกลับไปใช้ชีวิตเพื่อทำประโยชน์ให้ตนและผู้อื่นอีกครั้ง ถึงแม้ไม่แข็งแรงแม้มีกำลัง ความช่วยเหลือจากภายนอกเหมือนเดิม แต่ใจยังคิดอยากกลับไปเดินทางสายเดินนั้นอีก ... วันนี้ละเพศบรรพชิตแล้ว ยังคิดและห่วงหาอาทร ชีวิตในผ้ากาสายะอยู่ไม่รู้ลืม แต่...วางไว้ก่อนนะ สักวันเราจะกลับไปเดินทางเส้นนั้นอีก ทางที่สงบ สบาย ราบเรียบ มีสุขมากกว่าทุกข์ แต่วันนี้คงกลับไปเดินทางที่ขรุขระ ยากลำบาก ล้มลุกคลุกคลาน สุขน้อยๆทุกข์เป็นอาจิน แต่อาจทำสิ่งดีๆให้เกิดรอยยิ้มสักนิดกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ก็คงพอใจ.. ก้มหน้าเดินไป สักวันคงได้พักจริงๆสักที ..