สวัสดีค่ะ
วันนี้ขอแนะนำหนังสือ "จาริกบุญศึกษาเซน" ที่ผู้เขียนได้รับมาจากคุณหมอปิโยรส ระหว่างที่กลับไปเมืองไทยเมื่อสองอาทิตย์ก่อน
หลังจากได้หนังสือเล่มนี้มาก็เริ่มอ่านจนจบ พบว่าเป็นหนังสือที่เขียนถึงพระพุทธศาสนาทั้งในไทยและญี่ปุ่น และยังมีมุมมองที่กล่าวถึงพุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่นจากสายตาของพุทธศาสนาเถรวาทด้วย
หนังสือเล่มนี้ มูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการบันทึกการเดินทางคู่ไปกับการบันทึกธรรม เมื่อครั้งที่ทางมูลนิธิดวงแก้วฯได้กราบอาราธนา พระอาจารย์บุญมี ธมมรโต เจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธาถวาย เดินทางจาริกไปทัศนศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ในเล่มมีส่วนที่เขียนถึงประวัติของวัดต้นกำเนิดที่สำคัญๆในพุทธศาสนาในญี่ปุ่นที่ทางคณะได้เดินทางไปถึง เช่น วัดเอเฮจิ ที่ฟุกุอิ, ภูเขาโคยะ(โคยะซัน) ที่วากายาม่า, วัดนันเซนจิ ที่เกียวโต, วัดโทไดจิ ที่นารา ฯลฯ และยังมีส่วนที่คุณหมอและคณะ ถาม-ตอบ สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์บุญมี ด้วย ทำให้เห็นได้ว่ามีหลายๆส่วนที่พุทธศาสนา ลัทธิเซนในญี่ปุ่น คล้ายคลึงกับ พุทธศาสนา เถรวาท ในบ้านเรา ซึ่งในเล่มมีการบันทึกหัวข้อสนทนาธรรม และมีการสรุปได้อย่างน่าสนใจ อ่านแล้วเหมือนได้ร่วมเดินทางไปด้วยพร้อมกับเป็นการอ่านธรรมบรรยายไปในเวลาเดียวกัน
หลังจากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจบ ผู้เขียนมีความประสงค์ว่าอยากจะทยอยไปในวัดต่างๆที่กล่าวถึงไว้ในหนังสือ เพื่อตามรอยการเดินทาง และลองไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิในวัดที่เป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาของญี่ปุ่นดูบ้าง แต่ก่อนที่จะไปนั่งสมาธิในวัดต่างจังหวัดไกลๆ ผู้เขียนตั้งใจว่าจะทำความรู้จักกับพุทธศาสนาในญี่ปุ่นให้มากขึ้น และซักซ้อมวิธีการนั่งสมาธิแบบเซนให้เข้าที่เข้าทางก่อน โดยมีกำหนดการที่จะไปนั่งสมาธิที่วัดโชฟุกุจิ ที่โยโกฮาม่า (http://www.choufukuji.or.jp/) ซึ่งเป็นวัดที่สามารถเดินทางไปจากโตเกียวได้ไม่ไกลนัก
วัดโชฟุกุจิ เป็น วัดเซนในสายโซโตเซน เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปนั่งสมาธิได้ เดือนละ 2 ครั้ง คือ วันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน (ยกเว้นหน้าร้อน เดือน กรกฎาคม, สิงหาคม 1 ครั้ง/เดือน) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เวลา 14:00-15:30 ผู้เขียนคาดว่าจะเริ่มไปนั่งสมาธิที่วัดนี้ในเดือนกันยายน และจะนำมาถ่ายทอดในโอกาสต่อๆไป ว่าในวัดเซนเป็นอย่างไรบ้าง การนั่งสมาธิแบบเซน เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ
ขอย้อนกลับมาถึงบทความในวันนี้ จะขอรวบรวมบางตอนจากหนังสือ ”จาริกบุญศึกษาเซน” ในส่วนที่กล่าวถึง เซน ในสายตาของพุทธศาสนาเถรวาทว่า ในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ดังนี้ค่ะ
บทความที่ 2
แหล่งที่มา : หนังสือ "จาริกบุญศึกษาเซน" มูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์
แหล่งที่มา : หนังสือ "จาริกบุญศึกษาเซน" มูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์
เซน พุทธนิกายที่มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในญี่ปุ่นและพุทธนานาชาติ การทำสมาธิอย่างเซนก็เป็นการนั่งสมาธิอีกวิธีหนึ่งที่มีรูปแบบที่ได้พัฒนาไปมากพอสมควร เช่น การนั่งลืมตาหันหน้าเข้าผนัง ตัวตรง มีอาจารย์คอยดูแลตลอดการนั่งภาวนา หรือการสวดมนต์ในอิริยาบถเดินที่สามารถขจัดความง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างดีเยี่ยม
เซน มักมุ่งที่จะสอนให้มีสติในการทำงานทุกอย่าง เช่น การทำสมาธิ การทำงาน การเคลื่อนไหวในทุกๆอิริยาบถ การจัดดอกไม้ การทำสวน การทำครัว การชงชา เป็นต้น และยังสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาบทธรรมะต่างๆ(โศลก)
เซน เป็นเสมือนพุทธฝ่านมหายานที่มีรูปแบบการประพฤติปฏิบัติคล้ายคลึงกับสายวัดป่ากรรมฐานบ้านเรามาก มีการถือศีล นั่งสมาธิ ภาวนา มีการใช้ปัญญา พิจารณาข้ออรรถ-ธรรมพิจารณาในอุปาทานและขันธ์ทั้งห้าว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราไม่ได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทุกการกระทำ มีการเจริญสติ และปัญญาอันเป็นองค์ประกอบหลักในการเข้าถึงพระธรรม
สุญญตา ความว่างความเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งมวลเป็นภาวะที่นักบวชเซนมุ่งที่จะไปให้ถึง
BY:M.NAKA
● ซาเซน...
● ในการปฏิบัติซาเซน ต้องมีห้องที่เงียบ ปราศจากสิ่งรบกวน ควรกินและดื่มให้พอดี ละทิ้งความสัมพันธ์อันเป็นความลวงทิ้งเสียทั้งหมด ปล่อยวางทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง ไม่คิดถึงทั้งความดีและความชั่ว ความถูกต้องและความผิดพลาดทั้งปวง เช่นนี้จึงจะเกิดการหยุดกระแสแห่งหน้าที่อันหลากหลายของจิต ละท้งความคิดที่ต้องการบรรลุความเป็นพุทธะ การปฏิบัติเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สำหรับรับใช้กับซาเซนเท่านั้น แต่สำหรับทุกขณะในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันทั้งหมดด้วย
● ปูอาสนะบนพื้นที่ต้องการนั่ง และมีเบาะกลมวางรองไว้ด้านบน สามารถนั่งได้ทั้งแบบขัดสมาธิเต็มหรือครึ่ง วิธีที่สืบทอดกันมาแต่ก่อน เริ่มด้วยการยกเท้าขวาวางบนหน้าตักซ้าย แล้วยกเท้าซ้ายทับบนหน้าตักขวา จีวรหรือเสื้อผ้า ควรสวมไว้หลวมๆแต่เรียบร้อย จากนั้นวางมือซ้ายบนกึ่งกลางหน้าตัก แล้ววางมือขวาทับมือซ้าย ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างสัมผัสชนกันเบาๆ นั่งตัวตั้งตรงไม่เอียงไปทางซ้ายหรือทางขวา ข้างหน้าหรือข้างหลัง หูทั้งสองควรอยู่ในระนาบเดียวกับไหล่ และจมูกของเธอต้องอยู่ในแวเดียวกับสะดือ
● ลิ้นควรแตะอยู่บนเพดานของปาก ปากและริมฝีปากปิดสนิท หรี่ตาลงเพ่งที่ปลายจมูก หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ สามรอบเพื่อล้างปอดอย่างเงียบๆผ่านรูจมูก สุดท้าย ขยับร่างกายและจิตของเธอเข้าสู่วิถีทางนี้ หายใจลึกๆ เอนกายไปทางซ้ายและทางขวา จากนั้นนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหวดังก้อนหิน ไม่คิดถึงสิ่งใด จะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร ด้วยการอยู่เหนือทั้งการคิดและไม่คิด นี่คือรากฐานที่แท้จิงของซาเซน ฯ
[ 座禅 ]
ที่มา : ดวงตาแห่งสัจธรรม
ที่มา : ดวงตาแห่งสัจธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น