ผ้าจำนำพรรษา-ผ้าอาบน้ำฝน :
คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
ประเพณีสำคัญในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อีกประการหนึ่ง คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าอาบน้ำฝน หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ หรือ ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรืออาบน้ำทั่วไป
การทำผ้าอาบน้ำฝน ต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยประมาณที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ คือ เป็นผ้าผืนยาว ๖ คืบ พระสุคตกว้าง ๒ คืบครึ่ง คิดโดยประมาณของช่างไม้ปัจจุบันยาวรวม ๔ ศอก กับ ๓ กระเบียด กว้างราว ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียดเศษ ถ้าทำให้ยาวหรือกว้างเกินประมาณนี้ไป พระภิกษุใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างหรือยาวเกินประมาณนั้นออกเสีย จึงแสดงอาบัติได้
ส่วนคำถวายผ้าอาบน้ำฝนจะใช้ว่า "อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"
คำแปล คือ "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ"
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "ผ้าจำนำพรรษา" คือ ผ้าที่ถวายแด่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว คือ ถวายกันในพรรษา เรียกตามคำวัดว่า ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก
ผ้าจำนำพรรษา จะเป็นผ้าไตรจีวรทั้งหมด หรือผืนหนึ่งผืนใดก็ได้ โดยทายกมีเหตุรีบด่วนต้องไปทัพ หรือ เดินทางไปไกล ไม่อาจรอถึงช่วงออกพรรษาได้ จึงขอถวายไว้ก่อนในพรรษา จึงเรียกผ้านี้อีกอย่างหนึ่งว่า อัจเจกจีวร คือ จีวรรีบด่วน หรือผ้าด่วน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับไว้ได้ก่อนวันออกพรรษาปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน
ผ้าจำนำพรรษา ที่เรียกดังนี้เพราะ เมื่อรับถวายแล้วต้องเก็บไว้จนกว่าจะออกพรรษาจึงนำออกมาแจกกัน เหมือนกับจำนำ หรือฝากพรรษาไว้ก่อน
ส่วน "ผ้าอาบน้ำฝน" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ผ้าที่พระสงฆ์ใช้ผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำ มีคติเหมือนผ้าขาวม้า เรียกตามคำวัดว่า ผ้าวัสสิกสาฎก
ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้เป็นผ้าผืนที่ ๔ นอกเหนือจากผ้าไตรจีวร และทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายได้ก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ที่เรียกว่าผ้าอาบน้ำฝนเพราะเป็นผ้าที่ถวายกันในต้นฤดูฝน โดยนางวิสาขาเป็นคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
ผ้าอาบน้ำฝนมักเรียกเพี้ยนไปว่า ผ้าจำนำพรรษา คงเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผ้าแบบเดียวกัน หรือเพราะมีการถวายก่อนเข้าพรรษาเพียงสองสามวันจึงเรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา ทั้งๆ ที่เป็นผ้าต่างชนิดกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น