วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 2 สนทนาเกี่ยวกับเซน




สนทนาเกี่ยวกับเซน
BY: MNAKA
บทความที่ 2
สวัสดีค่ะ
วันนี้ขอแนะนำหนังสือ "จาริกบุญศึกษาเซน" ที่ผู้เขียนได้รับมาจากคุณหมอปิโยรส ระหว่างที่กลับไปเมืองไทยเมื่อสองอาทิตย์ก่อน
หลังจากได้หนังสือเล่มนี้มาก็เริ่มอ่านจนจบ พบว่าเป็นหนังสือที่เขียนถึงพระพุทธศาสนาทั้งในไทยและญี่ปุ่น และยังมีมุมมองที่กล่าวถึงพุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่นจากสายตาของพุทธศาสนาเถรวาทด้วย
หนังสือเล่มนี้ มูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการบันทึกการเดินทางคู่ไปกับการบันทึกธรรม เมื่อครั้งที่ทางมูลนิธิดวงแก้วฯได้กราบอาราธนา พระอาจารย์บุญมี ธมมรโต เจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธาถวาย เดินทางจาริกไปทัศนศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ในเล่มมีส่วนที่เขียนถึงประวัติของวัดต้นกำเนิดที่สำคัญๆในพุทธศาสนาในญี่ปุ่นที่ทางคณะได้เดินทางไปถึง เช่น วัดเอเฮจิ ที่ฟุกุอิ, ภูเขาโคยะ(โคยะซัน) ที่วากายาม่า, วัดนันเซนจิ ที่เกียวโต, วัดโทไดจิ ที่นารา ฯลฯ และยังมีส่วนที่คุณหมอและคณะ ถาม-ตอบ สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์บุญมี ด้วย ทำให้เห็นได้ว่ามีหลายๆส่วนที่พุทธศาสนา ลัทธิเซนในญี่ปุ่น คล้ายคลึงกับ พุทธศาสนา เถรวาท ในบ้านเรา ซึ่งในเล่มมีการบันทึกหัวข้อสนทนาธรรม และมีการสรุปได้อย่างน่าสนใจ อ่านแล้วเหมือนได้ร่วมเดินทางไปด้วยพร้อมกับเป็นการอ่านธรรมบรรยายไปในเวลาเดียวกัน
หลังจากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจบ ผู้เขียนมีความประสงค์ว่าอยากจะทยอยไปในวัดต่างๆที่กล่าวถึงไว้ในหนังสือ เพื่อตามรอยการเดินทาง และลองไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิในวัดที่เป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาของญี่ปุ่นดูบ้าง แต่ก่อนที่จะไปนั่งสมาธิในวัดต่างจังหวัดไกลๆ ผู้เขียนตั้งใจว่าจะทำความรู้จักกับพุทธศาสนาในญี่ปุ่นให้มากขึ้น และซักซ้อมวิธีการนั่งสมาธิแบบเซนให้เข้าที่เข้าทางก่อน โดยมีกำหนดการที่จะไปนั่งสมาธิที่วัดโชฟุกุจิ ที่โยโกฮาม่า (http://www.choufukuji.or.jp/) ซึ่งเป็นวัดที่สามารถเดินทางไปจากโตเกียวได้ไม่ไกลนัก
วัดโชฟุกุจิ เป็น วัดเซนในสายโซโตเซน เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปนั่งสมาธิได้ เดือนละ 2 ครั้ง คือ วันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน (ยกเว้นหน้าร้อน เดือน กรกฎาคม, สิงหาคม 1 ครั้ง/เดือน) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เวลา 14:00-15:30 ผู้เขียนคาดว่าจะเริ่มไปนั่งสมาธิที่วัดนี้ในเดือนกันยายน และจะนำมาถ่ายทอดในโอกาสต่อๆไป ว่าในวัดเซนเป็นอย่างไรบ้าง การนั่งสมาธิแบบเซน เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ
ขอย้อนกลับมาถึงบทความในวันนี้ จะขอรวบรวมบางตอนจากหนังสือ ”จาริกบุญศึกษาเซน” ในส่วนที่กล่าวถึง เซน ในสายตาของพุทธศาสนาเถรวาทว่า ในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ดังนี้ค่ะ
บทความที่ 2
แหล่งที่มา : หนังสือ "จาริกบุญศึกษาเซน" มูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์
เซน พุทธนิกายที่มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในญี่ปุ่นและพุทธนานาชาติ การทำสมาธิอย่างเซนก็เป็นการนั่งสมาธิอีกวิธีหนึ่งที่มีรูปแบบที่ได้พัฒนาไปมากพอสมควร เช่น การนั่งลืมตาหันหน้าเข้าผนัง ตัวตรง มีอาจารย์คอยดูแลตลอดการนั่งภาวนา หรือการสวดมนต์ในอิริยาบถเดินที่สามารถขจัดความง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างดีเยี่ยม
เซน มักมุ่งที่จะสอนให้มีสติในการทำงานทุกอย่าง เช่น การทำสมาธิ การทำงาน การเคลื่อนไหวในทุกๆอิริยาบถ การจัดดอกไม้ การทำสวน การทำครัว การชงชา เป็นต้น และยังสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาบทธรรมะต่างๆ(โศลก)
เซน เป็นเสมือนพุทธฝ่านมหายานที่มีรูปแบบการประพฤติปฏิบัติคล้ายคลึงกับสายวัดป่ากรรมฐานบ้านเรามาก มีการถือศีล นั่งสมาธิ ภาวนา มีการใช้ปัญญา พิจารณาข้ออรรถ-ธรรมพิจารณาในอุปาทานและขันธ์ทั้งห้าว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราไม่ได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทุกการกระทำ มีการเจริญสติ และปัญญาอันเป็นองค์ประกอบหลักในการเข้าถึงพระธรรม
สุญญตา ความว่างความเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งมวลเป็นภาวะที่นักบวชเซนมุ่งที่จะไปให้ถึง

BY:M.NAKA

● ซาเซน...
● ในการปฏิบัติซาเซน ต้องมีห้องที่เงียบ ปราศจากสิ่งรบกวน ควรกินและดื่มให้พอดี ละทิ้งความสัมพันธ์อันเป็นความลวงทิ้งเสียทั้งหมด ปล่อยวางทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง ไม่คิดถึงทั้งความดีและความชั่ว ความถูกต้องและความผิดพลาดทั้งปวง เช่นนี้จึงจะเกิดการหยุดกระแสแห่งหน้าที่อันหลากหลายของจิต ละท้งความคิดที่ต้องการบรรลุความเป็นพุทธะ การปฏิบัติเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สำหรับรับใช้กับซาเซนเท่านั้น แต่สำหรับทุกขณะในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันทั้งหมดด้วย
● ปูอาสนะบนพื้นที่ต้องการนั่ง และมีเบาะกลมวางรองไว้ด้านบน สามารถนั่งได้ทั้งแบบขัดสมาธิเต็มหรือครึ่ง วิธีที่สืบทอดกันมาแต่ก่อน เริ่มด้วยการยกเท้าขวาวางบนหน้าตักซ้าย แล้วยกเท้าซ้ายทับบนหน้าตักขวา จีวรหรือเสื้อผ้า ควรสวมไว้หลวมๆแต่เรียบร้อย จากนั้นวางมือซ้ายบนกึ่งกลางหน้าตัก แล้ววางมือขวาทับมือซ้าย ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างสัมผัสชนกันเบาๆ นั่งตัวตั้งตรงไม่เอียงไปทางซ้ายหรือทางขวา ข้างหน้าหรือข้างหลัง หูทั้งสองควรอยู่ในระนาบเดียวกับไหล่ และจมูกของเธอต้องอยู่ในแวเดียวกับสะดือ
● ลิ้นควรแตะอยู่บนเพดานของปาก ปากและริมฝีปากปิดสนิท หรี่ตาลงเพ่งที่ปลายจมูก หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ สามรอบเพื่อล้างปอดอย่างเงียบๆผ่านรูจมูก สุดท้าย ขยับร่างกายและจิตของเธอเข้าสู่วิถีทางนี้ หายใจลึกๆ เอนกายไปทางซ้ายและทางขวา จากนั้นนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหวดังก้อนหิน ไม่คิดถึงสิ่งใด จะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร ด้วยการอยู่เหนือทั้งการคิดและไม่คิด นี่คือรากฐานที่แท้จิงของซาเซน ฯ
[ 座禅 ]
ที่มา : ดวงตาแห่งสัจธรรม

ระเบียบและขั้นตอนการลงทะเบียน

 ระเบียบและขั้นตอนการลงทะเบียน
เพื่อขอเข้าพักภาวนาค้างคืนอยู่ปฏิบัติธรรม
ในวัดป่าบัวแก้ว
คฤหัสถ์ชายหญิง ที่ขอมาปฏิบัติธรรมที่วัด ที่มีความประสงค์เข้าพักภาวนาในวัด
 ต้องลงทะเบียนประวัติ ให้กรอกเอกสาร-แบบฟอร์ม1 ทุกช่อง ใส่ข้อมูลตรงความเป็นจริง หากวัด
ทราบว่าข้อมูลเป็นเท็จ จะไม่อนุญาตให้เข้าพัก และต้องพร้อมยินยอมให้ทางวัดตรวจสอบประวัติ
ของท่าน  โดยลงลายมือชื่อในเอกสารแสดงความยินยอมไว้ด้วย
ระเบียบขั้นตอนการลงทะเบียน
1. ติดต่อขอใบรับสมัคร มีเอกสาร 2 ชุด ต้องนำไปพิจารณาก่อนลงทะเบียน
คือ 1.ทะเบียนประวัติผู้ขอเข้าพักภาวนา -แบบฟอร์ม1 และ 2.กฎระเบียบข้อปฏิบัติ
***สามารถติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้โดย***
1. ติดต่อผ่านทาง E-mail : preeyanont@gmail.com
ให้ศึกษากฎระเบียบปฏิบัติธรรมอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
เพราะทางวัด ต้องปฏิบัติตามกฎของวัดอย่างเคร่งครัด ตามปฎิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์
2. ต้องส่งจดหมายถึงวัดก่อนอย่างน้อย 14 วัน ก่อนถึงวันเข้าพักภาวนา
ดังนั้น เอกสารที่ต้องยื่นแก่ทางวัดล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน มีดังนี้
1. ทะเบียนประวัติ ( แบบฟอร์ม  1) และสำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ
2. บัตรประชาชน ยื่นให้วัดในวันเข้าพักภาวนา
3. รูปถ่าย 1.5 x 2 นิ้ว 1 ใบ (ถ่ายไม่เกิน 30 วัน) พื้นขาว ใบหน้าชัด
   ไม่สวมแว่น ไม่มีผมม้า    ทั้งชาย -หญิง     
4. การยินยอมรับกฎระเบียบและข้อปฏิบัติของวัด พร้อมลายเซ็นยินยอม ( ในแบบฟอร์ม 1 )
5. ใบเปลี่ยนชื่อนามสกุล (หากมี) พร้อมสำเนา 1 ใบ
ยื่นเอกสารด้วยวิธี  ส่งไปรษณีย์ถึงวัดล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน
หากวัดได้รับเอกสารจากท่านครบถ้วนแล้ว จะตอบรับจดหมายของท่านภายใน 1สัปดาห์
3. คอยตรวจจดหมายตอบจากวัด หากเอกสารครบถ้วน
ปกติวัดจะตอบท่านภายใน 7วัน หลังได้รับจดหมายและเอกสารครบถ้วน
4. เอกสารที่ต้องยื่นแก่ทางวัดในวันเข้าพักภาวนา มีดังนี้
1.ต้องมีจดหมายตอบรับจากท่านเจ้าอาวาสก่อนจึงมีสิทธิ์เข้าพักภาวนา
2. บัตรประชาชน ยื่นให้วัดในวันเข้าพักภาวนา
3. รูปถ่าย 1.5 x 2 นิ้ว 1 ใบ (ถ่ายไม่เกิน 30 วัน) พื้นขาว ใบหน้าชัด ไม่สวมแว่น ไม่มีผมม้า
    ทั้งชาย -หญิง     ยื่นให้วัดในวันลงทะเบียนจริง เพื่อลงทะเบียนเข้าพักภาวนา
5. ให้ศึกษากฎระเบียบของวัดให้เข้าใจ พร้อมปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
หากพบทำผิดกฎและข้อปฏิบัติ จะถูกขับไล่ และหากทำผิดกฎหมายในวัด
ทางวัดจะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินคดี ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ต่อไป


ระเบียบปฏิบัติ สำหรับผู้เข้าพักภาวนา ณ วัดป่าบัวแก้วฯ

วัดป่าบัวแก้ว  ญาณสัมปันนุสรณ์ 
มีนโยบายของวัดป่าบัวแก้วคือ
    "การส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ตามแนวทางวัดป่ากรรมฐาน

ดังนั้นควรวางธุระในหน้าที่การงานไว้ด้านนอก เมื่อเข้ามาอยู่ ณ
ที่แห่งนี้แล้ว ควรให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจตัวเองอย่างที่สุด เน้นการพัฒนาจิตใจด้วยการอยู่อย่างสันโดษและไม่รบกวนผู้ปฏิบัติท่านอื่น
และให้ความเคารพสูงสุดต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ กรุณาถอดยศถา บรรดาศักดิ์และตัวตนของท่านออก  เพราะผู้ปฏิบัติทุกท่านมีศักดิ์ศรี เสมอกัน ตามธรรมวินัยในพุทธศาสนานี้


ระเบียบสำหรับผู้มาปฏิบัติทั่วไป

-รับผู้ปฏิบัติได้ครั้งละไม่เกิน 1สัปดาห์ สูงสุด  หญิง2 คน ชาย2คน
-ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ  สามารถถูกขอให้ออกจากวัดได้ทุกเวลา
-ผู้ต้องการมาปฏิบัติธรรมที่วัด ต้องส่งหนังสือแนะนำตนขอเข้าปฏิบัติ แจ้งวันเวลาที่จะขอเข้าและต้องได้รับอนุญาต จากประธานสงฆ์ ณ วัดป่าบัวแก้วก่อนจึงเข้ามาปฏิบัติที่วัดได้
-การเข้าพักต้องลงทะเบียนเข้าพักกับประธานสงฆ์พร้อมมอบบัตรประชาชนไว้จนกว่าจะลากลับ
-ไม่พูดคุยกัน, เคารพกันตามวัยวุฒิ และคุณวุฒิ,
หมั่นศึกษาหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา
-ให้ความเคารพในพ่อแม่ครูบาอาจารย์
-ไม่แสวงหาความสุขจากการตามใจตน
-จอดรถไว้เฉพาะที่จอดรถ ด้านหน้าบริเวณต้นไม้
ไม่ควรนำไปจอดบริเวณที่พัก
-ประตูรั้ววัดจะปิดหลังหมดเวลาจังหัน 
ไม่ควรออกจากบริเวณวัดโดยไม่ขออนุญาตสงฆ์
-ต้องนำของใช้ส่วนตัวต่างๆ มาเองเช่น ชุดขาว สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ไฟฉาย ยากันยุง รองเท้า และยาประจำตัวฯ
-อาคารของสงฆ์และที่พักของพ่อแม่ครูบาอาจารย์  หากไม่มีเหตุจำเป็น    ไม่ควรเข้าไปรบกวน หรือวุ่นวาย

ผู้เข้ามาปฏิบัติในต้องถือศีล8
-ห้ามฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์
-ห้ามลักทรัพย์ หยิบถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
-อพรหมจาริยา คือไม่ผิดพรหมจรรย์ ไม่ถูกต้องเพศตรงกันข้าม
-ห้ามพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
-ห้ามดื่มสุราสิ่งมึนเมา  สูบบุหรี่ยาเสพติด       
-ห้ามรับประทานอาหารหลังยามวิกาล คือหลังเที่ยงวันถึงเช้าวันใหม่ 
-ห้ามลูบไล้ร่างกายด้วยของหอม แป้ง ห้ามทัดดอกไม้-เครื่องประดับและ ฟ้อนรำ-ฟังเพลง
-ห้ามนั่งนอนในเตียงสูงหรือเบาะ-ฟูกที่สูง-นุ่มสบาย

การรับประทานอาหาร
-โรงอาหารจะเปิดตลอด  24 ชั่วโมง  จะมีน้ำปานะไว้บริการสำหรับผู้ถือศีล 8  ซึ่งไม่สามารถทานอาหารได้หลังเที่ยงวันถึงพระอาทิตย์ขึ้นในวันใหม่ ไม่หุงหาอาหารทานเอง
-การรับประทานอาหาร  เพียงหนึ่งมื้อหลังพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันจังหันแล้ว   และรับส่วนที่เหลือนั้นมาพิจารณา ควรนั่งแยกโต๊ะชาย-หญิง และไม่ควรพูดคุยกัน
-น้ำปานะที่มีบริการให้ควรระมัดระวังว่าส่วนใดสำหรับดื่มก่อนเที่ยง และส่วนใดสามารถดื่มได้หลังเที่ยง ไม่ทานอาหารหลังเที่ยงวันถึงพระอาทิตย์ขึ้นของวันใหม่
-ไม่นำอาหาร นม ของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานในที่พัก/ในอาคาร เพราะอาจจะทำให้ มด หนู แมลงสาบเข้าไปอาศัยในที่พักเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และ ลำบากต่อการจัดการทีหลังได้ และเป็นการรบกวนผู้อื่นอีกด้วย

การใช้สิ่งของและอาคารต่างๆ
-เมื่อนำ ของใช้ต่างๆไปใช้ ควรนำกลับมาเก็บ
ที่เดิมทุกครั้ง
-การใช้น้ำ ไฟ พัดลม เมื่อใช้แล้วปิดทุกครั้งช่วยกันประหยัดเสมอ
-ควรคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอในการอยู่ร่วมกัน
ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
-ปิดประตูให้สนิททุกครั้งเมื่อเข้า-ออก ณ ที่ใดๆ เพื่อป้องกันสัตว์
แมลง ยุงฯลฯ เข้าไปรบกวนผู้อื่น

ระเบียบอื่นๆ
-ระเบียบการแต่งกายชุดขาว หรือ เสื้อขาว ผ้าถุง/กางเกงดำ
 ไม่อนุญาต  ให้มีลวดลาย ตัวหนังสือ สีสัน หรือบาง รัดรูป
 และกางเกงขาสั้น ขาสามส่วน
-ผู้เข้าปฏิบัติในวัดควรเข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนดเวลาทุกท่าน

ระเบียบการใช้ห้องน้ำ
-ควรช่วยรักษาความสะอาดหลังเสร็จธุระแล้ว                                           
 (ห้ามใช้สายชำระฉีดน้ำล้างพื้น และอื่นๆ) 
-ล้างเท้าและถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องน้ำ
-ทำความสะอาดก่อนออกจากห้องน้ำให้เหมือนก่อนเข้าไป
หรือสะอาดกว่าเดิม
-ปิดฝาถังน้ำโถส้วม และฝานั่งทุกครั้งเพื่อป้องกันแมลง
และยุงไปเพาะพันธุ์ หรือตกลงไปตาย
-ปิดประตูให้สนิททุกครั้งเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานเข้าไปรบกวน
-ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งเอาไว้ เปิดรองไว้ใช้แต่พอดี
-ห้ามทิ้งผ้าอนามัย/กระดาษชำระลงในโถส้วม

ระเบียบการใช้ที่พัก
-เครื่องนอนในห้องพัก เมื่อใช้แล้วต้องทำความสะอาด ให้อยู่ในสภาพดี ไม่เหม็นอับ หรือติดกลิ่นตัว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติท่านอื่นที่มาใช้ต่อไปได้ หากไม่ทำ อาจจะทำให้เกิดเชื้อโรค หรือเกิดเชื้อรา กลิ่นเหม็น ที่จะทำให้ที่นอน และหมอนเสียได้
-ควรเคารพความเป็นส่วนตัวในห้องพักระหว่างผู้ร่วมปฏิบัติด้วยกัน ของ ใช้ส่วนตัวควรเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่วางเกะกะ และต้องปัดกวาดเช็ดถู  ห้องพักทั้งก่อนเข้าพักและก่อนกลับบ้านให้เรียบร้อย
-ของใช้ส่วนตัวที่ได้ซักล้างไม่ควรเอาออกไปตากภายนอกอาคาร
  ควรตากในอาคารหรือที่สำหรับตากเท่านั้น
-ผู้ปฏิบัติหญิงไม่ควรเข้าไปเขตที่พักฝ่ายชาย
  และบริเวณที่พักของพระสงฆ์
- ผู้ปฏิบัติชายไม่ควร ไปเขตที่พักผู้ปฏิบัติหญิง
-ไม่สูบบุหรี่-ไม่ใช้ยาเสพติดทุกประเภท
-ผู้ปฏิบัติหญิงควรช่วยทำความสะอาดครัวและบริเวณที่พักหญิง
  ให้สะอาดเสมอ และหมักเศษอาหารทุกวัน
-ผู้ปฏิบัติชายควรช่วยทำความสะอาดอาคารพักและอาคารต่างๆพร้อมดูแลเรื่องต้นไม้ใบไม้ที่ต้องตัดแต่ง,เผาขยะ,ติดตามครูอาจารย์ไปบิณฑบาต งานที่ได้รับมอบหมาย และงานที่สมควรต่างๆ
-ไม่นำอาหาร นม ของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานในที่พัก/ในอาคาร เพราะอาจจะทำให้ มด หนู แมลงสาบเข้าไปอาศัยในที่พักเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และ ลำบากต่อการจัดการทีหลังได้ และเป็นการรบกวนผู้อื่นอีกด้วย

ตารางกิจกรรมประจำวัน
03.00 น.         ระฆังแห่งสติ
04.00 น.         ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ    -เดินจงกรม            
06.00 น.         เตรียมอาหารถวายพระและใส่บาตร
07.30 น.         ถวายจังหันเช้าแด่พระสงฆ์  
เสร็จแล้ว รับอาหารจากสงฆ์มาพิจารณา
09.00 น.         ทำความสะอาดสถานที่ ครัว
เก็บเศษอาหารไปหมัก เผาขยะ   
10.00 น.         ธรรมปฏิบัติ นั่งสมาธิ-เดินจงกรม                     
12.30 น.         ถวายน้ำปานะพระอาจารย์                              
14.00 น.         ทำความสะอาดสถานที่                          
16.00 น.         ธรรมปฏิบัติ นั่งสมาธิ-เดินจงกรม                      
19.00 น.         ทำวัตรเย็น-       ฟังธรรม                                            
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1.    อุปกรณ์เครื่องนอน 
--ถุงนอน   -ผ้าห่ม     -ผ้าปูที่นอน       -ปลอกหมอน
2.    รองเท้าแตะ
3.    ขันน้ำ
4.    สบู่,ยาสีฟัน+แปรงสีฟัน
5.    ผ้าถุง (หญิง) , กางเกงอาบน้ำ (ชาย)
6.    ผ้าอนามัย+กระดาษห่อ
7.    ยาประจำตัว, ยากันยุง
8.    ไฟฉาย
9.    ร่ม
หมายเหตุ :  การแต่งกายใช้เสื้อสีขาว หญิงผ้าถุงดำ ชายกางเกงดำ 

   (ควรเตรียมเสื้อผ้าให้ครบตามเวลาที่เข้าพักภาวนา)

หนังสือขอเข้าพักภาวนาที่วัดป่าบัวแก้วฯ



ใบสมัคร (แบบฟอร์ม 1)
ขอเข้าพักภาวนา ณ วัดป่าบัวแก้ว ญาณสัมปันนุสรณ์  
29/14-15 บ้านหินแหลม ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี, 71180.


ชื่อ สกุล....................................................................เลขที่บัตรประชาชน.........................อายุ..........ปี
อาชีพ......................................สถานที่ทำงาน......................................................................................
บ้านเลขที่ ...................ถนน......................................... ซอย..........................ตำบล............................ 

อำเภอ...........................จังหวัด....................รหัสไปรษณีย์....................... โทรศัพท์บ้าน......................

มือถือ................................................... e-mail .............................................................................

ขออนุญาตเข้าพักภาวนา
¡  ระหว่าง   วันที่  .............................  ถึง...............................................
(รับสมัคร จำนวนสูงสุด ชาย 2 ท่าน หญิง 2 ท่าน)
 
กรุณากรอกข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวก
1.    ท่านเคยเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมมาก่อนหรือไม่  ¡เคย ¡ ไม่เคย
¡ สถานที่...........................................................................................
          2. ถ้าเคยท่านปฏิบัติแนวไหน
                   ¡  เจริญสติแนวหลวงพ่อเทียน ¡ พุทโธ        ¡  พองยุบ    
¡ อื่น ๆ ระบุ ......................................................................................
          3. การจัดที่พัก
                   ¡  ทางวัดจัดให้ตามความเหมาะสม
          ¡  นำเต็นท์ หรือกลดมาเอง เพื่อปฏิบัติธรรมใกล้ชิดธรรมชาติตามสถานที่วัดจัดให้
4.ท่านมีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ,มีโรคประจำตัว ...............................................................................................................................................
5. สิ่งที่ท่านคาดหวังว่าจะได้รับจากการพักภาวนาในครั้งนี้
......................................................................................................................................................
6. คำถามและข้อสงสัยที่อยากทราบ.....................................................................................................................................................
            ข้าพเจ้าขอรับรองว่าได้รับทราบกฎระเบียบเองทุกอย่างแล้วและกรอกข้อคามไปตามจริงทุกประการ
ข้าพเจ้าขอยินยอมรับกฎระเบียบและข้อปฏิบัติของวัด โดยจะปฏิบัติตามทุกประการ
                   ลงนาม........................................................................
                        ตัวบรรจง(..................................................................)

                          วันที่...........เดือน.................................พ.ศ. .............

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

จาริกบุญ ถวายผ้าอาบน้ำฝนปี59



จาริกบุญถวายผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษา ทำวัตร พ่อแม่ครูอาจารย์ อิสานใต้ 16 วัด ระหว่าง 16-19 กค.59
เราได้กราบถวายปัจจัยไทยธรรม 258,000บาท ค่าใช้จ่ายการเดินทาง ประมาณ60,000บาท คณะเดินทางทั้งสิ้น22คน+ รถติดตามไปร่วมตามวัดบางวัดด้วย รถตู้หลักสามคันโดยคณะพี่ปู มีสมาชิกใหม่หลายท่าน มีผู้ร่วมบุญมาด้วยรวมค่ารถแล้ว 258030 บาท อนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

คำถามธรรมะ ที่สนทนาระหว่างเดินทางหลักคือ 1- พระพุทธเจ้าทรางประทานคำสอนอะไรไว้ให้เรา 2-หลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธเป็นเช่นไร 3- การแตกต่างของการปฏิบัติ กับ ความคิดว่าได้ปฏิบัติเป็นเช่นไร 4-องค์ประกอบของข้อปฏิบัติพื้นฐานของชาวพุทธเป็นเช่นไร 5-กิริยาที่เป็นบุญนั้นเป็นเช่นไร 6-คำสอนของพระพุทธเจ้าปกติสอนอะไรอย่างไร 7- ถ้าเรากำลังเดินอยู่ในเส้นทางนี้แล้ว เราจะทราบได้อย่างไร + ตรวจสอบได้อย่างไร + ถ้าเราเดินผิดทางเดินนี้ออกไปเราจะทราบได้อย่างไร 8- การฟังธรรม มีกี่แบบ อย่างไรบ้าง การสรุปข้อธรรมะนั้นควรทำเช่นไร 9-การย่อและขยายหลักธรรมเพื่อการปฏิบัติทำเช่นไร

เหล่านี้เป็นข้อสนทนาพื้นฐานในแต่ละวัน โดยเมื่อมีเวลาเราก็จะร่วมกัน ถามตอบเพื่อให้การเดินทางนี้เป็นการเดินทางของกัลยณมิตร ที่จะก้าวเดินไปในทางสายนี้ด้วยกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีศีล สมาธิ และปัญญาเป็นองค์ประกอบ
ถึงแม้เราจะสนทนากันจนเที่ยงคืนทุกวันและยังภาวนากันจนรุ่งเช้า แต่พวกเราก็อยากหวังว่าสิ่งเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ทุกๆท่านที่ร่วมกิจกรรมของมูลนิธิฯในครั้งนี้และในครั้งต่อๆไป

งานค้างจากการจาริกบุญ
- ซื้อเครื่องกรองน้ำและนำไปติดตั้งให้ สนส.ทรัพย์สวนพลูประมาณ30000บ.-จัดสร้างเสนาสนะกุฎีวิหารให้ วัดภูจ้อมก้อมผประมาณ100000บาท- บูรณะซ่อมแซมอาคารที่วัดภูหล่น - สร้างที่พักผู้ปฏิบัติธรรมที่คเ้างไว้ให้สำเร็จ ประมาณ500000บ.- ดูแลพระภิกษุ และแม่ชีที่อาพาธ ใครสนใจร่วมบุญเชิญติดต่อคุณกาญฯ ท่านเลขามูลนิธิฯนะครับ@ Kan Won

ผ้าจำนำพรรษา-ผ้าอาบน้ำฝน :

ผ้าจำนำพรรษา-ผ้าอาบน้ำฝน : 

คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์


               ประเพณีสำคัญในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อีกประการหนึ่ง คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าอาบน้ำฝน หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ หรือ ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรืออาบน้ำทั่วไป
                การทำผ้าอาบน้ำฝน ต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยประมาณที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ คือ เป็นผ้าผืนยาว ๖ คืบ พระสุคตกว้าง ๒ คืบครึ่ง คิดโดยประมาณของช่างไม้ปัจจุบันยาวรวม ๔ ศอก กับ ๓ กระเบียด กว้างราว ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียดเศษ ถ้าทำให้ยาวหรือกว้างเกินประมาณนี้ไป พระภิกษุใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างหรือยาวเกินประมาณนั้นออกเสีย จึงแสดงอาบัติได้
                ส่วนคำถวายผ้าอาบน้ำฝนจะใช้ว่า "อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ"
                คำแปล คือ "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ"
                ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "ผ้าจำนำพรรษา" คือ ผ้าที่ถวายแด่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว คือ ถวายกันในพรรษา เรียกตามคำวัดว่า ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก
                ผ้าจำนำพรรษา จะเป็นผ้าไตรจีวรทั้งหมด หรือผืนหนึ่งผืนใดก็ได้ โดยทายกมีเหตุรีบด่วนต้องไปทัพ หรือ เดินทางไปไกล ไม่อาจรอถึงช่วงออกพรรษาได้ จึงขอถวายไว้ก่อนในพรรษา จึงเรียกผ้านี้อีกอย่างหนึ่งว่า อัจเจกจีวร คือ จีวรรีบด่วน หรือผ้าด่วน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับไว้ได้ก่อนวันออกพรรษาปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน
                ผ้าจำนำพรรษา ที่เรียกดังนี้เพราะ เมื่อรับถวายแล้วต้องเก็บไว้จนกว่าจะออกพรรษาจึงนำออกมาแจกกัน เหมือนกับจำนำ หรือฝากพรรษาไว้ก่อน
                ส่วน "ผ้าอาบน้ำฝน" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ผ้าที่พระสงฆ์ใช้ผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำ มีคติเหมือนผ้าขาวม้า เรียกตามคำวัดว่า ผ้าวัสสิกสาฎก
                ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้เป็นผ้าผืนที่ ๔ นอกเหนือจากผ้าไตรจีวร และทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายได้ก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ที่เรียกว่าผ้าอาบน้ำฝนเพราะเป็นผ้าที่ถวายกันในต้นฤดูฝน โดยนางวิสาขาเป็นคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
                ผ้าอาบน้ำฝนมักเรียกเพี้ยนไปว่า ผ้าจำนำพรรษา คงเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผ้าแบบเดียวกัน หรือเพราะมีการถวายก่อนเข้าพรรษาเพียงสองสามวันจึงเรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา ทั้งๆ ที่เป็นผ้าต่างชนิดกัน

พลเรือตรี นายแพทย์ปิโยรส ปรียานนท์ | สกุลไทยออนไลน์



พลเรือตรี นายแพทย์ปิโยรส ปรียานนท์
"ผมคือผู้รับ"
"ผมคือผู้รับ"
อันว่าความกรุณาปรานี
จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
(พระราชนิพนธ์แปล เวนิสวานิช-พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
กาลครั้งหนึ่ง ย้อนหลังไปประมาณ ๑๔ ปีที่แล้ว เคยมีโอกาสติดตามหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของคุณหมอปิโยรส ปรียานนท์ ศัลยแพทย์หนุ่ม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ และเป็นประธานมูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์ ล่องเหนือสู่จังหวัดน่าน ไปยังอำเภอที่ห่างไกลความเจริญ พันธกิจหลักของคุณหมอในครั้งนั้น ก็คือ ให้การผ่าตัดรักษาคนไข้ชาวชนบทผู้ยากไร้จากโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ จำนวนหลายราย
ห้องผ่าตัดเพียงไม่กี่ห้องของโรงพยาบาลประจำอำเภอถูกเปิดใช้งานตลอดทั้งวัน แม้ภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบจะหนักเหนื่อยเพียงใด แต่ทว่าความแจ่มใสที่ปรากฏอยู่บนใบหน้า มิได้ลบเลือนหายไปจากดวงตาหลายคู่ที่กำลังจับภาพเฝ้ามองการทำงานของคุณหมอ ร่องรอยความอ่อนล้าไม่สามารถเข้ามาแผ้วพานแววตาของนายแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดคนนี้ได้
หลายวันนั้น "คุณหมอโย" และทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์ ต้องทำงานแข่งกับเวลา ด้วยเหตุเพราะทุกท่านต่างตระหนักเหมือนกันว่า คุณภาพชีวิตของคนไข้รอไม่ได้
เสร็จสรรพภารกิจ คืนสุดท้ายก่อนอำลาจังหวัดน่าน ประธานมูลนิธิดวงแก้วฯ นำคณะทั้งหมดขึ้นรถบัสมุ่งสู่ดอยภูคา เวลาผ่านไปนานขณะที่รถแล่นตามทางอันคดเคี้ยว แสงส้มทองเบื้องบนในยามอาทิตย์อัสดง ดวงตะวันค่อยๆลับทิวแมกไม้ แผ่นฟ้าแปรเปลี่ยนเป็นสีเงินยวงทอประกายแสงนวลจากดวงจันทราอาบไล้ทั่วรัตติกาล
เวลาเคลื่อนคล้อยมากแล้ว ทั้งหมดจึงขึ้นมาถึงจุดชมดาวของดอยภูคา ต่างทยอยลงจากรถบัส ยืนกระจัดกระจายกันอยู่บริเวณนั้น จำได้ว่ามีเพิงร้านขายน้ำและของว่างของชาวบ้านคอยบริการนักท่องเที่ยว แต่เพียงแค่แหงนหน้ามองท้องฟ้า ต้องกะพริบตาหลายครั้งด้วยความตื่นตะลึงกับภาพที่เห็นเบื้องหน้า ขณะนี้ดวงดาวนับพันนับหมื่นหรืออาจจะนับแสนดวงต่างแข่งกันฉายแสงวิบวับพริบพราวดารดาษเต็มฟากฟ้า ทะเลดาวที่ปรากฏในสายตาราวกับจะเอื้อมมือออกไปสัมผัสถึงได้
คุณหมอปิโยรสบอกกับคณะด้วยความยิ้มแย้มอิ่มเอมว่า นี่คือรางวัลแห่งการทำงานของเรา
และช่วงปีใกล้เคียงกันนั้นเอง พลเรือตรี นายแพทย์ปิโยรส ปรียานนท์ ยังได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่จากการทำงานหนักในฐานะแพทย์วิชาชีพและประธานของมูลนิธิดวงแก้วฯ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่สูงสุดในชีวิต กล่าวคือ ได้รับพระราชทานรางวัลมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และการสาธารณสุขไทย ประจำปี ๒๕๔๑ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีก ๒ ปีถัดมาก็ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเลิศ จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กระทรวงกลาโหม
ราวปี ๒๕๔๔ ยังได้รับพระราชทานรางวัลนักวิจัยดีเด่น Vincent Award ด้านงานวิจัยทางการแพทย์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากวันนั้นจวบจนวันนี้ หรือแม้ว่าเวลาหมุนผ่านมานานเพียงใด สกุลไทยมีโอกาสพบคุณหมออีกครั้ง ภาพแห่งความทรงจำในการทำงานให้บริการทางการแพทย์แก่ชุมชนถิ่นทุรกันดาร ณ จังหวัดน่าน ภาพแห่งการเป็นผู้ให้ชัดเจนขึ้นมาอีกครา แต่คุณหมอกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น นายแพทย์หนุ่มพูดขึ้นมาตอนหนึ่งขณะนั่งสนทนากันว่า "...ถ้าถามเรื่องการให้ผมไม่แน่ใจ แต่ทุกครั้งที่ออกทำงานตามต่างจังหวัด ผมรู้สึกว่าผมคือผู้รับมากกว่า พวกเขาให้ผมมากกว่า คนไข้เหล่านั้นเขาทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า..."
พลเรือตรี นายแพทย์ปิโยรส ปรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นบุตรของนายแพทย์ปัญญา ปรียานนท์และนางสินทรา ปรียานนท์ (ธิดาหลวงทรงบุณยแพทย์ หนึ่งในแพทย์ประจำพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)
"ผมได้เห็นแบบอย่างการทำงานของคุณตามาตลอด จนกระทั่งท่านเสียชีวิตไปตอนที่ผมยังเด็กมาก สิ่งที่จำได้ดีที่สุดเกี่ยวกับคุณตา คือท่านสอนให้ผมจดบันทึกอย่างละเอียดทุกวันว่าในแต่ละวันไปที่ไหน เวลาอะไร และทำอะไรบ้าง ต่อมา ทำให้ผมได้รับประโยชน์สูงมากจากการเขียนบันทึกมาตั้งแต่เด็ก เพราะช่วยให้จดจำแม่นยำ สรุปประเด็นต่างๆได้รวดเร็วชัดเจน และที่สำคัญการจดบันทึกสอนให้เรามีการวางแผนที่ดี การเรียนการทำความเข้าใจกับเนื้อหาวิชาต่างๆก็ง่ายขึ้น เพราะจับประเด็นได้ไว ความจำก็ดี
ส่วนคุณแม่ท่านชอบพาผมเข้าวัดตั้งแต่เด็ก ฝึกให้ผมนั่งสมาธิเมื่อตอนอายุ ๒ ขวบครึ่ง จึงเหมือนถูกปลูกฝังเรื่องความดี เรื่องธรรมะ โดยไม่รู้ตัว ขณะที่คุณพ่อก็เป็นศัลยแพทย์ที่ใฝ่ใจด้านพุทธศาสนา หมั่นฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิ ทำจิตสงบ ท่านได้จับผมให้นั่งสมาธิด้วยกัน
พอมีโอกาสมาเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก็ได้พบกับบราเธอร์มาร์ติน ในยุคสมัยนั้นถือว่าบราเธอร์มาร์ตินท่านเป็นผู้ที่มีหัวก้าวหน้า ท่านเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้ทำกิจกรรมพิเศษต่างๆมากมาย และยังมีอาจารย์แนะแนวอีกท่านหนึ่ง ทำให้เราตั้งชมรมสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ซึ่งบราเธอร์มาร์ตินท่านคอยสนับสนุนผลักดัน คือช่วยผลักดันทุกกิจกรรมที่เด็กๆอยากทำ พวกเราก็เลยได้รับโอกาสออกไปช่วยเหลือคนอื่นๆในสังคม อย่างเช่น วันพุธตอนบ่าย พวกเราก็จะออกไปเลี้ยงเด็กด้อยโอกาสที่ชุมชนคลองเตย พอปีใหม่ก็รวบรวมนำของขวัญไปแจกเด็กๆน้องๆ
สมัยเป็นนักเรียน ผมเองชอบทำกิจกรรมเยอะแยะหลากหลายมากๆ เพราะชอบเที่ยวนอกโรงเรียน (หัวเราะ) และยังได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนอีก มีทั้งเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้อง ยิ่งเราคบกับเพื่อนที่ชอบทำกิจกรรมต่างๆเหมือนกัน ยิ่งทำให้ความคิดเดินทางก้าวออกไปเรื่อยๆ ได้เห็นสิ่งต่างๆกว้างไกลขึ้น เห็นมุมใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ"
คุณหมอเล่ามาพอสังเขป แล้วกลายเป็นผู้ทิ้งคำถามแทน โดยแย้มว่าเชื่อไหมตั้งแต่เด็กจนมาเรียนที่เซนต์คาเบรียล คุณหมอไม่เคยมีความนึกคิดอยากเป็นแพทย์เหมือนคุณตากับคุณพ่อเลย เพราะทั้งสองท่านมักไม่ค่อยมีเวลาให้แก่ครอบครัว
"อย่างเมื่อตอนผมได้รับรางวัลเรียนดีจากโรงเรียน แต่จะไม่เคยมีคุณพ่อมาร่วมงานเลย มีแต่เฉพาะคุณแม่มาทุกครั้ง ขณะที่คุณพ่อไม่เคยว่าง หรือบางปีได้รับรางวัลด้านกีฬา ด้านสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ ทางบ้านไม่เคยสนใจ คือท่านคงเห็นว่าผมเรียนดีแล้ว ก็โอ.เค. อยากจะทำอะไรอย่างอื่น ก็ทำไปเถอะ ท่านไม่ขัดไม่ห้าม เพราะถือว่าการเรียนไม่เสีย
ตอนเรียนมัธยม ผมได้ทำกิจกรรมเยอะ ก็ด้วยแรงผลักดันจากบราเธอร์มาร์ติน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดกว้างไกล และเนื่องจากผมต้องติดรถคุณพ่อไปโรงเรียนทุกวัน ท่านขับรถไปส่งผมแต่เช้าตรู่ก่อนหกโมง แต่กว่าโรงเรียนจะเข้าก็แปดโมงครึ่ง ซึ่งช่วงเวลาหกโมงเช้าถึงแปดโมงครึ่ง ทำให้ผมมีโอกาสซักถามสนทนากับบราเธอร์มาร์ติน และบราเธอร์วินเซนต์ซึ่งท่านสอนเปียโน สอนภาษาสเปน สอนเรื่องการเข้าสังคม และยังสอนเรื่องเทคนิคการเล่นกีฬาเทนนิส
บังเอิญตึกห้องสมุดใหม่เพิ่งเปิด ยังไม่มีใครจัดเรียงหนังสือเข้าชั้น บราเธอร์มาร์ตินท่านก็มอบหมายให้ผมช่วยจัดเรียงหนังสือทุกเช้าก่อนโรงเรียนเข้า ผมจึงได้อ่านหนังสือไปด้วยทุกวัน หนังสือในห้องสมุดมีจำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าเล่ม ผมอ่านหมดภายในเวลาเกือบ ๒ ปี ทั้งวรรณกรรม นวนิยาย หยิบมาอ่านหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลวงวิจิตรวาทการ ดอกไม้สด และนักเขียนคนอื่นๆ ฯลฯ จำได้ว่าเล่มแรกที่อ่านคือ ประวัติบุคคลสำคัญ
ผมเชื่อมั่นว่าการอ่านหนังสือมาก ทำให้เราเป็นคนมีความคิดกว้างขึ้น มองโลกกว้างขึ้น ประกอบกับเป็นเด็กกิจกรรมด้วย และผมยังชอบคุยกับผู้ใหญ่ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาปะติดปะต่ออยู่ในความคิดของเรา เสมือนเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญายิ่งขึ้นไปอีก
ถ้าถามว่าได้อะไรจากการสอนของบราเธอร์ในโรงเรียน ได้อะไรจากการสอนของคุณตา คุณพ่อคุณแม่ สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการสอนของท่านเหล่านี้ ก็คือ ท่านสอนให้เรารู้จักการให้ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นด้วย รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง หรือได้แบ่งปันในสิ่งที่มีให้แก่คนอื่นบ้าง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดชัดเจนอะไรมาก แค่รู้สึกสนุกที่ได้ทำกิจกรรมนอกโรงเรียน หรืออย่างการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งเราต้องช่วยกันวางแผนการเดินทาง วางแผนการทำงาน เมื่อไปถึงผมมีหน้าที่ลงครัว ทำอาหารให้เพื่อนๆรับประทาน ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ
และยังมีบราเธอร์อีกท่านหนึ่งซึ่งท่านมีอิทธิพลทางความคิดต่อผมค่อนข้างมาก ท่านเป็นชาวอเมริกัน ช่วงหนึ่งท่านมาอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลหลายเดือน ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับบราเธอร์ท่านนี้มากพอสมควร ท่านมาทำวิจัยเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ และยังได้สอนพวกเราอีกหลายอย่าง ทำให้ผมสนใจเรื่องศาสนา อยากรู้ว่าพุทธ คริสต์ อิสลามต่างกันอย่างไร แล้วท่านก็อธิบายให้ฟัง สอนเกี่ยวกับปรัชญาต่างๆด้วย โดยเฉพาะสอนเรื่องการมองชีวิตในอนาคต
การมองชีวิตในอนาคตสำคัญอย่างไร สำคัญตรงที่ว่า คนเรามักจะปล่อยชีวิตให้หลักลอยไปตามกระแสกาลเวลา แล้วแต่ชีวิตจะนำพาไป แต่บราเธอร์ชาวอเมริกันท่านนี้สอนให้เรามีจุดมุ่งหมายในชีวิต ท่านบอกว่าเรือที่ไม่มีหางเสือ ไม่มีความหมายเลย ถึงจะแล่นเร็วแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเอง
เวลานั้นผมอายุประมาณ ๑๔ ปี บราเธอร์ท่านสอนให้พวกเราทำ Ten Year planning ซึ่งยุคนี้อาจจะเรียกว่า 'วิสัยทัศน์' หมายถึงมองไปในระยะไกล ท่านบอกพวกเราว่า จงมองสูง คิดไกลอย่างนกอินทรี ซึ่งธรรมชาติของนกอินทรีจะไม่ต่อล้อต่อเถียงทะเลาะกับสัตว์ปีกอื่นที่บินต่ำกว่ามัน ถ้าโดนบรรดานกกาไล่จิก อินทรีก็จะยิ่งบินขึ้นสูงโดยที่นกกาอื่นๆไม่สามารถบินสูงตามขึ้นไปได้ นกอินทรีจะอยู่กับคู่ของมันเท่านั้น และมีสายตาที่มองไกล เห็นไกล มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
บราเธอร์ท่านนี้บอกว่าเราต้องมองไกลให้ได้อย่างนกอินทรี ต้องเห็นว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เราอยากเป็นอะไร เราต้องตั้งจุดมุ่งหมายของชีวิตให้ได้ แล้วจงทำให้ได้อย่างที่ตั้งเอาไว้
แรกๆผมก็บอกว่าอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ ท่านบอกว่าแค่อยากเป็นไม่ได้ เพราะมันยังไม่ใช่การวางแผน"
ซึ่ง 'คุณหมอโย' ก็ได้เฉลยเกี่ยวกับ 'Ten Year planning' ต่อไปว่า
"การวางแผนคือ ต้องเซตให้ได้ว่าเมื่ออยากเป็นแล้ว เราต้องทำอะไร เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น และสิ่งที่เราทำแต่ละปีจะส่งผลให้บรรลุต่อเป้าหมายข้างหน้าได้อย่างไร และควรจะทบทวนใหม่ทุก ๒-๓ ปีเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ดี เรื่อง Ten Year planning นี่ ผมก็ทำมาตลอดทั้งชีวิต
การวางเป้าหมายชีวิตครั้งแรกเมื่อตอนอายุ ๑๔ ปี ผมเขียนว่าผมอยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาตั้งมูลนิธิช่วยเหลือสังคม อยากให้คนมีความสุข อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากมีส่วนแก้ไขโลกนี้ให้ดีขึ้น ผมก็บันทึกการวางแผนไว้ แล้วสำรวจหาข้อมูลทีละด้าน เพื่อที่จะคิดค้นวิธีการไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่แพลนเอาไว้ และทุกๆ ๒-๓ ปี ก็ทบทวนการวางแผนของตนเอง
ความจริงผมเคยวางแผนว่าอยากจะพัฒนา genetic มนุษย์ เนื่องจากตอนที่ศึกษาอยู่เซนต์คาเบรียล ผมมีโอกาสพบโปรเฟสเซอร์เฟรเดอริค ซึ่งท่านมาทำงานวิจัยที่เชียงใหม่ โดยผมเป็นอาสาสมัครช่วยทำงาน คอนเซ็ปต์ของโปรเฟสเซอร์เฟรเดอริค ก็คือว่าทดลองวิธีการต่างๆที่แนะนำคนเข้าฌานสมาธิ เช่น ใช้ยา แสง เสียง การสะกดจิต มาร่วมเป็นองค์ประกอบ ผมเองก็สนใจเรื่องสมาธิอยู่แล้ว จึงเกาะติดท่านไปดูงานวิจัยด้วย ทำให้ได้ความคิดอะไรต่างๆมากเหมือนกัน แปลกดี ตอนมาเป็นแพทย์ผมก็ยังนำเรื่องจิตสมาธิมาแนะนำให้แก่คนไข้"
แต่สุดท้ายแล้วที่ได้ข้อสรุปจริงๆ นายแพทย์ปิโยรสกล่าวว่าเหตุที่สนใจเรื่องศาสนา จิต ปรัชญา รวมถึงพันธุกรรมมนุษย์ ก็เพราะได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ทั้งทางครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์
"ท่านเหล่านี้สอนเรื่องความดีให้แก่ผมมาตลอด บางครั้งช่วงปิดภาคเรียน คุณแม่ยังให้ไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่หนึ่งเดือน เราก็ต้องนั่งสมาธิทุกวัน เช้าก็ต้องตามหลวงพ่อออกไปบิณฑบาต บางเวลาก็ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในวัด
ผมเคยถามตัวเองตั้งแต่เด็กว่า เราเกิดมาทำไม ผมเองก็รู้สึกตนเองโชคดีตรงที่ว่า เราได้ เรามี ในสิ่งที่คนอื่นเขาอยากได้ อยากมี ยิ่งเราเรียนหนังสือมากๆ เราก็ยิ่งฝันอยากทำนั่นทำนี่มากขึ้น สมัยเด็กผมสนุกกับการค้นหาความรู้ใหม่ๆ สนุกกับการเรียน สนุกกับการทำกิจกรรมหลากหลาย สนุกกับการเล่นกีฬา แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญในชีวิตที่ไม่ว่าผมทำอะไรก็ตาม การเรียนไม่เสีย ผมคิดว่าน่าจะมาจากพื้นฐานครอบครัว ความเป็นลูกหลานทหาร ทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัย จัดสรรเวลาในแต่ละวันได้ถูกต้อง
อีกส่วนหนึ่งมาจากคุณแม่โดยตรง ท่านจับผมนั่งสมาธิ ช่วงปิดเทอมก็ให้ไปฝึกฝนสมาธิกับพระผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพนับถือ การได้สมาธิทำให้เราสามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้โดยรู้จักแบ่งความสนใจให้ถูกสัดส่วน เวลานั่งอยู่ในห้องเรียน ผมก็ตั้งใจฟังครูอาจารย์ท่านสอน ความคิดไม่วอกแวกเลย ไม่หันเหไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย ช่วยให้ผมเข้าใจบทเรียนได้รวดเร็ว มีความจำดี แต่ขณะที่เล่นกีฬาก็เต็มที่ ผมก็ไม่คิดถึงเรื่องเรียนอีกเหมือนกัน มีสมาธิให้กับเรื่องที่กำลังทำอยู่จริงๆ และทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ผมจะหยิบหนังสือเรียนขึ้นมาอ่าน หรือไม่ก็หยิบช็อตโน้ตขึ้นมาอ่านทบทวน ผมเป็นคนที่จะไม่ยอมปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า"
เนื่องจากความที่ชอบถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า เราเกิดมาทำไม และมักชอบหาคำตอบให้แก่ตนเองเป็นระยะๆตามแต่ละช่วงวัย
"ตอนเรียนมัธยม ผมก็บอกตัวเองว่าเราเกิดมาทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน จนกระทั่งเติบโตมาเป็นแพทย์ มีโอกาสบวชให้คุณแม่ถึง ๓ ครั้ง ตอนที่ท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง ผมได้พบคำตอบที่แท้จริงจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าว่า คนเราเกิดมา ก็เพื่อพัฒนาระดับจิตวิญญาณให้ไปสู่ความหลุดพ้น
ผมเป็นคนที่นั่งสมาธิอยู่แล้วเกือบทุกวัน แต่ช่วงที่บวชให้แม่ ใจผมไม่สงบเลย นั่งสมาธิไม่ได้ ครั้งนั้นโชคดีผมมีโอกาสเล่าเรียนธรรมะกับท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงตาท่านสอนโดยยึดเหนี่ยวให้เรามีหลักคิดของใจให้ได้ นั่นคือ จิตรวม จากนั้นก็แยกกายกับจิต ท่านสอนให้เราพิจารณาจิต
ความเชื่อถือในพระรัตนตรัยมีมากขึ้นจนเกิดความศรัทธา มั่นใจแล้วว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีจริง เราเชื่อแล้ว เสมือนว่าอยู่ในที่มืดแล้ววันหนึ่งได้เห็นแสงสว่าง ทำให้เกิดกำลังใจในชีวิตต่อไป
หลังจากนั้นอาการคุณแม่ก็ดีขึ้น ผมมีโอกาสดูแลท่านอีก ๑๔ ปี ท่านได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง"
๑๔ ปีแห่งการดูแลมารดาควบคู่กับการเรียนรู้ในพระธรรม คุณหมอบอกว่า
"ได้เรียนรู้เยอะมากครับ ช่วงที่คุณแม่ป่วย ผมกำลังมีชื่อเสียงในวงสังคม สื่อต่างๆมาขอสัมภาษณ์ รุ่งเรืองในวิชาชีพ รายได้ตอนนั้นตกเดือนละ ๘-๙ แสนบาท คุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์เหมือนกันว่า อยากร่วมทุนกันทำบริษัทเครื่องสำอาง แต่พอคุณแม่ป่วย ผมทิ้งงานธุรกิจเลย ไม่ได้สานต่อกับเพื่อน
หลังจากที่บวชกลับมา ผมได้เห็นอะไรบางอย่างว่าสิ่งภายนอกไม่ใช่ จึงทิ้งงานธุรกิจ และทุ่มเทให้กับงานช่วยเหลือสังคมของมูลนิธิดวงแก้วฯมากขึ้น พอมีเวลาว่างก็กลับไปดูแลคุณแม่มากขึ้น
ถามว่างานสังคมสงเคราะห์ที่ทำ ถือเป็นการแบ่งปันสังคมมั้ย ผมไม่แน่ใจ ผมรู้แต่ว่าผมทำแล้วมีความสุข ผมไม่ได้คิดว่าผมกำลังทำอะไรให้สังคม ผมไม่ได้มองขนาดนั้น แต่ก็มีคิดว่าอยากทำให้สังคมดีที่สุดเท่าที่ตัวเราเองจะทำได้ และงานในมูลนิธิฯก็ได้สอนผมมากมาย เคยออกหน่วยแพทย์ ไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านซึ่งก็คือคนไข้ของมูลนิธิฯ
เชื่อมั้ย พวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่า ผมคือผู้ได้รับการดูแลจากพวกเขาเหมือนหนึ่งว่าผมเป็นญาติคนหนึ่งของเขา เจ้าของบ้านเขายกห้องห้องหนึ่งให้ผมนอนพักอาศัย ที่นอนหมอนมุ้งก็จัดการให้เราใหม่เอี่ยม เวลากินข้าว เขาก็นั่งล้อมวงเรา แต่ให้หมอกินก่อน แล้วพวกเขาค่อยกินทีหลัง ผมสัมผัสถึงน้ำใจของชาวบ้านชนบทแท้จริง
ชีวิตในต่างประเทศที่ผมเคยไปอยู่มาหลายปี ไม่ได้ให้อะไรแบบนี้เลย ต้องบอกว่าเราได้เรียนรู้จากพวกเขามากทีเดียว ไม่ใช่ว่าเขาเรียนรู้จากเรานะ เราเองต่างหากคือผู้ที่ได้รับจากเขา ผมมองเห็นคุณค่าชีวิตของตนเองจากพวกเขา จากวิถีชาวบ้านชนบท
เงินค่าอาหารต่อมื้อ ๒,๐๐๐ บาทที่เราเคยกินสังสรรค์กับเพื่อนในโรงแรมหรือในภัตตาคาร สำหรับพวกเขาแล้ว เงินจำนวนนั้นมีค่ามาก เขาสามารถอยู่ได้เดือนหนึ่ง
ตั้งแต่นั้นมา พอเราออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ก็จะมีเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้จากการบริจาค ติดไม้ติดมือไปให้ชาวบ้านด้วย"
ครั้นถามถึงเหตุผลที่เลือกเป็นศัลยแพทย์...
"ผมมีความตั้งใจที่อยากจะแก้ไขความพิการให้แก่ผู้ป่วย แต่แรงบันดาลใจไม่ได้เกิดจากคนไข้ แรงบันดาลใจของผมเกิดจากรุ่นพี่ๆ และอาจารย์หมอศัลยเวทย์ เลขะกุล ที่ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วยกัน สำหรับอาจารย์หมอศัลยเวทย์ ผมถือว่าท่านเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในสังคม ส่วนรุ่นพี่คนอื่นๆที่ร่วมกันทำงาน ทุกคนมีหัวใจบริสุทธิ์ ให้โดยไม่คาดหวังผลตอบแทน
ผมทำงานกับพวกเขาแล้วผมมีความสุข และยังได้เห็นแบบอย่างการทำงานของอาจารย์หมอศัลยเวทย์ที่ท่านไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของตนเอง ท่านนำเราออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็ด้วยจิตใจที่อยากช่วยเหลือชาวบ้าน อยากแก้ไขความบกพร่องด้านร่างกายให้แก่ผู้ป่วย โดยที่ตัวเองจะเหนื่อยแค่ไหนท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ตอนนั้นผมยังคิดว่าถ้าเราได้เป็นหมอผ่าตัด สักวันผมก็จะทำอย่างที่เห็นตัวอย่างจากอาจารย์และจากรุ่นพี่
ถามว่ามุมมองชีวิตของผมเปลี่ยนไปหรือไม่ เปลี่ยนมากครับ จากที่ผมเคยสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมทั้งชุด ตอนหลังก็ไม่สนใจยี่ห้ออะไรทั้งนั้น รู้สึกว่าสิ่งภายนอกเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขที่เราต้องการแสวงหา ขณะที่เมื่ออยู่ท่ามกลางชาวบ้าน ผมสัมผัสได้จริงๆว่าพวกเขารักเราจริงๆ และบรรยากาศอย่างนี้ก็แตกต่างจากสังคมที่ผมเคยอยู่อย่างสิ้นเชิง
อาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมีผลงานโดดเด่นด้านแพทย์หัตถกรรม ก็คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ณรงค์ นิ่มสกุล ซึ่งผมก็เคยศึกษาด้านนี้กับอาจารย์หมอณรงค์ ท่านเป็นหมอผ่าตัดฝีมือดี และท่านยังแนะนำให้ผมไปศึกษาศัลยศาสตร์ต่อที่ประเทศญี่ปุ่น"
นายแพทย์ปิโยรสจึงตัดสินใจศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางในสาขาศัลยกรรมตบแต่ง ณ มหาวิทยาลัยโชวะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๓ ปี แล้วเรียนเพิ่มเติมด้านศัลยกรรมศีรษะและคอ ณ สถาบันมะเร็ง ประเทศญี่ปุ่นอีก ๑ ปี จากนั้นก็ไปเล่าเรียนศัลยกรรมตบแต่งที่ Mt.Sinai Medical Center นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อีก ๑ ปี รวมทั้งฝึกงานต่ออีกประมาณ ๒ ปี จึงกลับมาสอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ
และอีก ๑ ปีต่อมา คุณหมอก็กลับไปศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการแพทย์ (Laser Medicine) มหาวิทยาลัยโชวะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
"เรียนจบ ผมกลับเมืองไทยพร้อมกับ Ten Year Planning ๑๘ ข้อที่ผมได้เขียนบันทึกวางแผนไว้ ข้อแรกคืออยากตั้งมูลนิธิฯ ทำงานเกี่ยวกับด้านสังคมสงเคราะห์ ข้อถัดมาก็เช่น อยากเขียนตำราทางการแพทย์ อยากสร้างงานวิจัย อยากสร้างวัด อยากสร้างโรงเรียนในชนบท ฯลฯ ปัจจุบันผมทำสำเร็จแล้ว ๙ ข้อ ส่วนอีก ๙ ข้อยังทำไม่สำเร็จ
ในปี ๒๕๓๑ หลังจากที่ศึกษาสำเร็จจากสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาทำงานเมืองไทย ผมเริ่มก่อตั้งมูลนิธิดวงแก้วฯ โดยมีอาจารย์หมอศัลยเวทย์ อาจารย์หมอณรงค์ และอาจารย์หมอท่านอื่นๆช่วยกันผลักดัน ประกอบกับความที่เคยทำกิจกรรมพิเศษต่างๆมามาก ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็บ่อย พบปะผู้คนที่เป็นเครือข่ายให้เราได้ดีพอสมควร ทำให้ผมพอมีฐานในการทำงานมูลนิธิฯแน่นหนาพอสมควร"
พลเรือตรี นายแพทย์ปิโยรส ปรียานนท์ คือผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงแก้วในพระสังฆราชูปถัมภ์ขึ้น โดยได้เริ่มทำงานออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาผ่าตัดผู้พิการและด้อยโอกาสในชนบท ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อ "มูลนิธิดวงแก้ว" มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้พิการและด้อยโอกาสให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยแบ่งเป็นเป้าหมายหลัก ๓ ประการ ดังนี้ ๑. ช่วยเหลือเด็ก ผู้ด้อยโอกาสและทุพพลภาพ ๒. ส่งเสริมงานด้านวิจัยทางการแพทย์ ๓. เผยแผ่พระพุทธศาสนา
จากการที่ได้เล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของผู้พิการและด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะชนบทที่ห่างไกล ซึ่งการเดินทางเข้ามารับการรักษาภายในตัวเมืองเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความยากจน หรือในบางสถานที่โรงพยาบาลในชุมชนก็ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งเครื่องมือที่เหมาะสม มูลนิธิฯจึงได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การรักษาผ่าตัดแก้ไขความพิการให้กับผู้ป่วยในชนบท
"แต่เวลาทำอะไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสังคมมนุษย์มีทั้งคนชอบเรา และไม่ชอบเรา ใครที่ชอบเมื่อชมเรา ก็อย่าเหลิง เพราะถ้าวันหนึ่งเขาเปลี่ยนจากคำชมเป็นคำว่ากล่าว เราอาจจะทำงานต่อไม่ได้ อีกด้านหนึ่งส่วนคนที่ไม่ชอบเรา ก็อย่าไปเอาใจใส่มากนัก เพราะไม่ว่าเราทำอะไร ก็มักจะผิดหมดในสายตาเขา
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่มูลนิธิดวงแก้วฯยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ๘๐% ของผู้ที่บริจาคเข้ามา เขารู้จักเราดีพอ เพราะถ้าไม่รู้จักเรา ผมคิดว่าเขาไม่ให้หรอก โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่ใช่คนที่ขอร้องใครก่อน จะให้ผมไปขอเงินบริจาคจากใคร ผมไม่ทำ แต่ถ้าให้มาผมรับ และผมได้ตั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชีรายรับรายจ่ายของมูลนิธิฯอย่างโปร่งใสชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ว่าผมนำเงินบริจาคไปใช้ส่วนตัวหรือเปล่า ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง"
นายแพทย์หนุ่มย้ำว่า มูลนิธิดวงแก้วฯ อยู่ได้ด้วยความศรัทธาของผู้คน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำลายไม่ได้ นั่นคือ เราจะทำลายความศรัทธาเหล่านั้นไม่ได้
นอกจากนี้ โครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมูลนิธิฯ จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นการมุ่งหวังที่จะนำธรรมะ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมปฏิบัติธรรม การหัดทำสมาธิและเข้าวัดฟังธรรม การจัดทำหนังสือธรรมะแจกเป็นประจำทุกๆ ปี การจัดทำห้องสมุดและสื่อทางธรรมะในโรงพยาบาล การจัดสร้างเสนาสนะ เช่น สถานปฏิบัติธรรม วัดและศาสนสถานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรม อาทิ วัดป่าเฉลิมพระเกียรติ วัดป่ากตัญญุตาราม วัชรธรรมสถาน เป็นต้น
"ผมยอมรับว่าชอบมองอะไรไปไกลๆ แต่บางครั้งถ้าเราหันกลับมามองอะไรที่ใกล้ๆบ้าง พบว่ามันทำให้เกิดความสุขใจขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก บางทีของใกล้ตัวๆเรานี่แหละก็มีคุณค่าอย่างชนิดที่เราคาดไม่ถึง ไม่จำเป็นต้องเอื้อมมือออกไปไขว่คว้าสิ่งที่อยู่ไกลตัวเสมอไป
อย่างสมัยวัยรุ่น พอมองย้อนกลับไป ผมก็รู้สึกผิดว่าใช้ชีวิตแบบตามใจตัวเองมากเกินไป ผมเคยออกจากบ้านหายไปเป็นเดือนๆ เพราะตามเพื่อนรุ่นพี่ไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ทางบ้านก็เป็นห่วง แต่ด้วยความดื้อ คุณพ่อคุณแม่ท่านห้ามผมไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งท่านก็เห็นว่าผมไม่เคยเสียการเรียน ท่านจึงยอมปล่อยให้ผมทำในสิ่งที่อยากทำ
และตั้งแต่แรกที่ผมตั้งธงว่าไม่อยากเป็นหมอ แต่เนื่องจากชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ สอบเทียบจนจบมัธยมปลาย ผมสอบเอ็นทร้านซ์เข้าคณะวิทยาศาสตร์เกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าไปเรียนปี ๑ แล้วด้วย จากนั้นไม่นาน คุณพ่อท่านขอร้อง ท่านอยากให้ผมเรียนแพทย์มากกว่าด้านอื่น
ในที่สุด ผมยอมตามใจทางบ้าน เพราะก็รู้ดีว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ท่านตามใจเรามามากแล้ว ผมจึงไม่อยากให้ท่านผิดหวัง ต้องกลับไปเรียนมัธยมปลาย ม.ศ.๕ ใหม่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วถึงสอบเอ็นทร้านซ์อีกครั้งเข้าเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับทำงานวิจัยประเด็น Social Control ซึ่งงานวิจัยโปรเจ็คท์นี้ ผมเริ่มทำตั้งแต่ตอนศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปี ๑ มาเรียนในคณะแพทย์ จุฬาฯ ผมก็ยังทำวิจัยต่อเนื่อง รวมเวลาทั้งหมด ๔ ปี
หลักคิดของงานวิจัยนี้ ก็คือว่า ถ้าเรามีกลุ่มคนทดลองกลุ่มหนึ่งในสังคม แล้วเราเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของคนกลุ่มนี้ เพื่อจะสามารถชี้นำให้เขาเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อสัก ๓๐ ปีก่อน งานวิจัยนี้ก็ดูน่าสนใจดี แต่สำหรับปัจจุบันคงธรรมดาๆ ไม่ตื่นเต้น
เมื่องานวิจัยโครงการนี้เสร็จเรียบร้อย ผมมีโอกาสไปพรีเซ้นท์ที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของงานวิจัยโครงการ Social Control เป็นเพราะว่าผมอยากศึกษาคนด้วยการนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์เป็นแนวทางความคิดในบางด้านและผสมผสานกับความเป็นวิทยาศาสตร์ คือผมก็คิดอะไรของผมไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็ค้นหาคำตอบเป็นเปลาะๆ ไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรูปกับนาม หรือกายกับจิต
"กายกับจิต ผมมาสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงที่คุณแม่ป่วยตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ เป็นต้นมา พอผมสึกออกมา ยังได้วิ่งหาครูบาอาจารย์ด้านธรรมะอีกหลายท่าน หนำซ้ำยังทิ้งความสนใจเดิมๆของตนเองเกือบทั้งหมด เพราะมุ่งมาสนใจเรื่องการพัฒนาจิตในแง่มุมของศาสนาพุทธแทน
สมัยที่ผมกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ดูแล้วชีวิตน่าจะหอมหวานมีความสุข เป็นหมอผ่าตัด รายได้ต่อเดือนสูงถึง ๘-๙ แสนบาท แต่ทำไมผมยังทุกข์มากอยู่
คำสอนของครูบาอาจารย์หลายท่าน จึงได้สอนให้ผมรู้จักเหตุและผล เริ่มจากง่ายๆที่ตัวเราเองก่อน เช่น ทำไมเรากินอย่างนั้น ทำไมเราพูดอย่างนั้น ทำไมเรามีชีวิตอย่างนั้น คือครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านชี้แนะให้เราย้อนกลับมามองตนเอง พิจารณาดูโลกที่อยู่ภายในตนเอง ซึ่งทำให้ผมรู้สึก...โอ้โฮ...โลกภายในตนเองนี่มันช่างใหญ่กว่าโลกที่เราเคยรู้จักมา
ถ้ารู้จักพระธรรม หมั่นศึกษาพระธรรม ก็จะรู้ว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานี่แหละเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนและทุกสังคม ลองคิดง่ายๆว่าถ้าคนเรายึดมั่นในการถือศีล ๕ ถามว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่
หากคนดีเสียอย่าง ทรัพยากรบุคคลดีเสียอย่าง ถามหน่อยว่าบริษัทไหน องค์กรไหน จะไม่เจริญ ผมเชื่อว่าถ้าแก้ปัญหาที่คนได้ ปัญหาทุกอย่างในสังคมจบ
ผมอยากยกตัวอย่างเด็กญี่ปุ่น ความจริงเด็กญี่ปุ่นไม่เคยถูกสอนให้รักชาติ แต่เด็กเขารักชาติด้วยจิตสำนึกของเขาเอง ญี่ปุ่นเขาสอนเด็กของเขาอย่างไร ก็เช่น พาเด็กไปดูประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เขาทำข่าวทำสารคดีในเรื่องที่ดีของประเทศเขาให้เด็กดู แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเหล่านั้น เด็กเขาภูมิใจในความเป็นญี่ปุ่น ขณะที่บ้านเราวันๆมีแต่ข่าวที่ไม่ดีของคนไทย เป็นข่าวด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวยาเสพติด ข่าวพระสงฆ์อาบัติ ฯลฯ ส่วนข่าวที่ดีๆมักจะเป็นข่าวที่เกิดจากประเทศอื่นทั้งนั้น"
ถึงตรงนี้ 'คุณหมอโย' วกเข้าประเด็นเหตุบ้านการเมืองสักเล็กน้อย และสอดประสานแง่คิดหลักธรรมพระพุทธศาสนา
"คนไทยหลายคนในวันนี้อาจจะคิดว่ารัฐบาลต้องให้นั่นให้นี่กับเรา แต่เคยถามตัวเองมั้ยว่าเราเคยทำอะไรให้ประเทศชาติบ้าง เคยละอายใจหรือไม่ถ้าต้องทำผิดต่อชาติบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นแพทย์ ผมก็เห็นด้วยนะครับกับหลักประกันสุขภาพ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ถึงแม้ว่านโยบายนี้จะทำให้หมอส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลรัฐต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีกสิบเท่า ขณะที่ค่าตอบแทนเท่าเดิม แต่ประชาชนคนส่วนใหญ่เขาได้รับการรักษาดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วยดีกว่าเดิม แม้จะไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
หลวงตามหาบัวและพระครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน เคยสอนผมว่า การปฏิบัติงานหรือการทำอะไรก็ตามในชีวิต มนุษย์ต้องมีธรรมะเป็นองค์ประกอบ อย่างน้อยก็คือหลักพรหมวิหาร ๔
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี อุเบกขา การรู้จักวางเฉย หมายถึงการวางใจเป็นกลาง
ความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับเรา ก็มาจากจิตใจ หากเราควบคุมใจได้ดี ความทุกข์ก็ย่อมน้อยลง
เพราะฉะนั้น Ten Year Planning ของผมจะจบลงตอนที่ผมอายุ ๕๕ ปี ผมขออนุญาตกับภรรยาไว้ ๕ ปี ว่าอยากจะบวชอีกครั้ง เพื่อศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าให้เต็มที่ อยากปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ อย่างน้อยเมื่อเราเกิดมาเป็นคนแล้วในชาติหนึ่ง ก็ไม่อยากให้เสียเวลาในการเรียนรู้ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา แต่จะได้ผลแค่ไหน ยังไม่รู้นะ ถ้าบวชแล้วเห็นความก้าวหน้า ก็อาจจะครองผ้าเหลืองต่อ แต่ถ้าไม่ได้อะไร ก็คงสึกออกมาเป็นคนแก่เฝ้าบ้าน"
คุณหมอปิโยรสกล่าวทิ้งท้ายอย่างถ่อมตน
อันว่าความกรุณาปรานี
จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
SAKULTHAIONLINE.COM
LikeShow more reactions
Comment