ความเป็นมามูลนิธิดวงแก้ว และ โครงการรอยยิ้มเพื่อพ่อ
ปี พ.ศ. 2531
ศัลยแพทย์ตกแต่งกลุ่มหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์เดียวกันได้รวมตัวกันออกบริการรักษาและผ่าตัดบรรเทาความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ก้อนเนื้องอก ความพิการที่เกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ แผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่สามารถแก้ไขด้วยศัลยกรรมตกแต่งและสามารถรักษาผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลตามพื้นที่นั้น ๆ
ในช่วงต้น กลุ่มศัลยแพทย์ได้ร่วมออกหน่วยแพทย์ พร้อมกับคณะแพทย์มูลนิธิ หู คอ จมูก ชนบท ต่อมาเมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษามากขึ้น จึงได้แยกออกมาดำเนินการในนามของมูลนิธิดวงแก้ว ระยะแรก ๆ การออกหน่วยจะทำประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง แต่ละครั้งมีผู้เข้ารับการรักษาไม่มากนัก ประมาณ 10-20 ราย หลังเสร็จจากการผ่าตัดแล้ว คณะแพทย์ยังได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือบรรดาเด็ก ๆ ในโรงเรียน ช่วยจัดตั้งโครงการอาหารกลางวัน มอบทุนการศึกษา นำอุปกรณ์การเรียน การกีฬา ฯลฯ ไปมอบให้กับเด็กนักเรียนในชนบทห่างไกล จากนั้นได้ไปกราบนมัสการครูบาอาจารย์วัดสายปฏิบัติเพื่อรับฟังคำอบรมสั่งสอนต่างๆ อาสาสมัครส่วนหนึ่งจะดำเนินการติดตามผลหลังการรักษา และเข้าไปเยี่ยมเยือน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาผ่าตัดแล้วตามหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งสำรวจหาผู้ป่วยในพื้นที่ และกระจายข่าวให้ผู้ป่วยอื่น ๆ ได้มีโอกาสเข้ารับการรักษาจากคณะแพทย์ในครั้งต่อ ๆ ไป โดยประสานงานกับมูลนิธิฯและโรงพยาบาลในพื้นที่นั้น ๆ
ต่อมาเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น จึงได้จัดหน่วยแพทย์ออกบริการบ่อยครั้งขึ้นเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง ทำงานในวันหยุดราชการประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง ส่วนใหญ่จะเดินทางโดยรถยนต์ ยกเว้นในพื้นที่ห่างไกลและกรณีเร่งด่วน จึงจะเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อให้ทันเวลา เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่ รับราชการและลางานได้ลำบาก การออกหน่วยจึงจำเป็นจะต้องประสานงานเป็นอย่างดีทั้ง คณะทำงาน คณะแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะจัดเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมรับการรักษาผ่าตัดในวันที่คณะเดินทางไปถึง เมื่อการรักษาผ่าตัดเสร็จสิ้นลง ทางมูลนิธิฯจะอธิบายการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดให้ผู้ป่วยทราบโดยละเอียด โดยโรงพยาบาลในพื้นที่จะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยต่อไป เมื่อมีปัญหาเกิดให้ทางโรงพยาบาลจะสามารถติดต่อกับมูลนิธิฯ หาวิธีแก้ไขโดยตรง หรืออาจนำส่งผู้ป่วย เข้ามารับการรักษาตัวในกรุงเทพฯต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทางมูลนิธิจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนค่ารักษาพยาบาลและบริการ ทางโรงพยาบาลมีส่วนช่วยเหลือให้การสนับสนุนด้วยดีโดยตลอด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส และไม่สามารถเข้ารับการรักษาผ่าตัด อันอาจเนื่องมาจากขาดทุนทรัพย์ ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขาดเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ระหว่างปี 2531-2543 มูลนิธิฯได้ทำการรักษาผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้วกว่า 4,000 ราย ในพื้นที่มากกว่า 33 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สระบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และนราธิวาส เป็นต้น
จากการทำงานและประสบการณ์ที่ได้รับ ทำให้พวกเราได้ตระหนักว่า การช่วยเหลือทางร่างกายเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสุขสงบได้ ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่มีส่วนทำให้พวกเขาต้องอยู่ในกลุ่มของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การหาเลี้ยงชีพ สภาพความเป็นอยู่ ความรู้ และโอกาสทางการศึกษาและที่สำคัญที่สุด คือ หลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และแนวทางประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในสังคมและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควร สิ่งต่างๆเหล่านี้เองทำให้พวกเราได้มุ่งเน้นที่จะให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาของเด็กๆในชนบท ช่วยพัฒนาสร้างเสริมปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และมุ่งนำหลักธรรมจากพุทธศาสนา เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนายกระดับจิตใจและการดำเนินชีวิตในสังคมสมตามพระราชดำริ ที่ทรงมีพระประสงค์ให้พวกเรารู้จักอยู่อย่างพอเพียง และสุขสงบ
มูลนิธิได้ตั้งวัตถุประสงค์หลักไว้ 3 ประการ คือ
1. ช่วยเหลือเด็ก ผู้ด้อยโอกาสและทุพพลภาพ
2. ส่งเสริมงานวิจัยทางการแพทย์
3. เผยแผ่พระพุทธศาสนา
ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งโครงการต่าง ๆ ขึ้นตามวัตถุประสงค์หลักแบ่งได้เป็น 4 โครงการคือ
1.1 โครงการต่อต้านความพิการในชนบท
- หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดแก้ไขความพิการในชนบท
- จัดส่งผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำการรักษาในพื้นที่มายังโรงพยาบาลที่
เหมาะสม
- ส่งเสริมและช่วยเหลือให้คนพิการในชนบทได้รับการรักษาดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างดีที่สุด
- ติดต่อประสานงานกับแพทย์นานาชาติในการสนับสนุนโครงการด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย
- โครงการรอยยิ้มเพื่อพ่อ
1.2 โครงการช่วยเหลือเด็ก และผู้ด้อยโอกาสในชนบท
- กองทุนช่วยเหลือการศึกษาเด็กด้อยโอกาส
- โครงการเกษตรพอเพียง เพื่ออาหารกลางวัน
- โครงการจัดหาหนังสือ ตำราเรียน อุปกรณ์กีฬา
- ค่ายอาสาพัฒนา โรงเรียนในชนบท
- แจกของผู้ประสบอุทกภัย อัคคีภัย
- แจกผ้าห่มคลายหนาว
- โครงการโรงเรียนในฝัน
- โครงการโรงเรียนอุปถัมภ์
1.3 โครงการวิจัยรักษามะเร็งด้วยเลเซอร์
- ติดต่อประสานงานหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมโครงการ
- จัดหาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการดำเนินการวิจัย
- เผยแพร่โครงการให้โอกาสผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาบำบัด
- ศูนย์วิจัยทางการแพทย์
1.4 โครงการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- โครงการสถานปฏิบัติธรรม "วัชรธรรมสถาน"
- โครงการบวชลูกแก้ว
- ค่ายอบรมพุทธศาสนาสำหรับเยาวชน
- จัดสัมมนาในหัวข้อธรรมะต่าง ๆ
- จัดกฐิน ผ้าป่า วัดสายหลวงปู่มั่น (วัดป่า)
- จัดพิมพ์หนังสือธรรมะ
โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ได้จัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบันจนถึงเมื่อปลายปี 2540 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภ ให้มูลนิธิ จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่พระองค์จะทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิดวงแก้ว นำโดย คุณพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ พล.ร.อ. ประเสริฐ บุญทรง ท่านผู้บัญชาการทหารเรือจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆโดยมีหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพเรือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา "รอยยิ้มเพื่อพ่อ" ระยะเวลาดำเนินการระหว่าง 5 ธันวาคม 2540 ถึง 5 ธันวาคม 2543 และได้ดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ (รายละเอียดตามผลการดำเนินการโครงการ "รอยยิ้มเพื่อพ่อ" )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น