วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ
เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม
15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่ง
วันสารทไทย 2564 ตรงกับวันพุธที่ 6 ตุลาคม
วันนี้มีความสำคัญอย่างไร มาย้อนอ่าน ประวัติ ขนมวันสารทไทย
ประเพณีที่ควรอนุรักษ์ไว้
ปัจจุบันเราอาจจะรู้จักแต่ประเพณีของชาวตะวันตก
ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับพิธีไทยมากเท่าไรนัก ยิ่งชื่อพิธีสารท
บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อแต่ "วันสารทจีน" ไม่เคยได้ยินชื่อ "สารทไทย" มาก่อน
สำหรับวันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
เป็นเทศกาลทำบุญเดือน 10 ของไทย
และเพื่อเป็นความรู้ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับวันสารทไทยมาฝากกัน
ความหมายของ "สารท"
พระยาอนุมานราชธน
ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย
หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ
ที่เรียกว่า "ออทั่ม" หรือ
ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ
เท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพรรณธัญชาติ และผลไม้
เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี
และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal
Festival"
โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้
เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า
ข้าวทิพย์ ข้าวปายาส ถวายพระคเณศ เป็นต้น
สำหรับในพจนานุกรมไทย
"สารท" มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์
และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ
เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายน
ถึงเดือนตุลาคม
ต้นกำเนิดของ
"สารทไทย"
ในประเทศไทย
การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย
คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย
ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน
ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย
สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิธีสารทไทยขึ้น
เพื่อจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ
เพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่
และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน
เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้
เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง
ทำให้ได้พบปะกัน
- เป็นการแสดงความเคารพ
และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจด
ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุง
หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
- เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ
หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี
เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้
ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก
จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
กิจกรรมในวันสารทไทย
กิจกรรมหลัก
ๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท
ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น
ตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น
มีความเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา
ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา
ประเพณีสารทไทยในภาคต่าง ๆ
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค
โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ภาคกลาง
เรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือ
เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสาน
เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
ภาคใต้
เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การทำบุญกลางปี
เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี
และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
แต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้างดังนี้
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทย
ถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท
เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน
ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด
เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา
โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ
มีชื่อเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง)
และมีชื่ออื่น ๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก,
กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า "ก๋วย" แปลว่า "ตะกร้า"หรือ "ชะลอม" ส่วน "สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก
นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก
เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า
มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ
ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น
ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก
นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณร
จับสลากด้วยหลักอปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก
และมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนา
นิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ
ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ของทุกปี เพราะช่วงนี้ชาวนาจะได้หยุดพัก
หลังจากทำนาเสร็จแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน
บวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ ส้มโอ เป็นต้น
และยังเป็นการสงเคราะห์คนยากจน เช่น ชาวนาที่ฐานะไม่ค่อยดี
ไม่มีข้าวเหลือพอก่อนฤดูเก็บเกี่ยว จึงนับว่าเป็นการให้สังฆทาน ได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก
1 วัน จะเรียกว่า "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ" เป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของ
ไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่าง ๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก เช่น เกลือ
ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม จิ้นแห้ง แคบหมู เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ
เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมไฮ่ฮอม
(ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วย
ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า)
สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่าง ๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง
หรือตองจี๋กุ๊ก เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก
ๆ สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่
เพื่อทำเป็นยอด ก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามแต่กำลังศรัทธาและฐานะ
แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน "ก๋วย" เป็น
จึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่าง ๆ แทน
ก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะ
คือ
1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ
ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก
และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น
หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ
ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี
เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ "สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี
(บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา
หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน
มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม
ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่าง ๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่าง ๆ
ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด
ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยเส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลาก จะเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว
ๆ ความกว้าง 2-3 นิ้ว แล้วจารึกชื่อของเจ้าของไว้
บอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ
คำจารึกในเส้นนั้นมักจะเขียน ดังนี้
เจติ
ตานํ สลากข้าวซองนี้หมายมีผู้ข้าชื่อ...........ของทานไว้กับตนกับตัวภายหน้า ขอหื้อสุขสามประการ
มีนิพพานเป๋นยอดแด่เน้อ.............ฯ
เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้ว
เส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธาน จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า
ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลข
เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว
เส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปโดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง
ๆ รูปละ 5 เส้น 10 เส้นบ้าง
แล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ
ก่อนจะถึงเวลาเพล
พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาส
พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา
ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์
ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนา
และให้ศีล ให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
งานสารทไทยภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งคือ "งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง" ของจังหวัดกำแพงเพชร
ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่ งานนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และจัดต่อเนื่องมาเรื่อย
ๆ เนื่องจากเห็นว่า กล้วยไข่จะออกผลมากในช่วงเดือนกันยายนพอดี
และสามารถรับประทานเคียงกับกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมประจำวันสารทไทยได้เป็นอย่างดี
จึงเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดไปในตัว
ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
ในเดือน 10 เป็น 2 วาระ
คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง
และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง
โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น
จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ
เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ
เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญใน 2 วาระ
ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้
มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารท
โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย
เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า
ประเพณีทำบุญสารท หรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ
ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ประเพณีจัดหมรับ
(อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่
การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้
แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด
พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล
จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ
ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต
โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่
แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ
ขนมพอง โดยหมายถึงจะให้เป็นแพฟ่อง ล่องลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ, ขนมลา
ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกง
หรืองบางทีก็ใช้ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ
ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร
เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรตมีสายสิญจน์วงรอบ
โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล
ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว
ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต
แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล
การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง
หมรับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
4. ประเพณีทำบุญตายาย
หรือประเพณีรับ-ส่งตายาย โดยถือคติว่า
ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ
เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ
เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย
เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า
ทำบุญตายาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีประเพณีการทำบุญในเดือน
10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ
เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2
ระยะ ดังนี้
ระยะแรก
ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง
และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15
ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสาก
ซึ่งคนไทยภาคกลางเรียกว่า กระยาสารท เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย
ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง
ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน
นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วย เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา
ผลัดกันไปผลัดกันมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน
ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้นจะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า
ส่งข้าวสาก
ระยะที่สอง
คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า
ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพล
ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก
และอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้ว
ก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก
ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้น
ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก
ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อย
ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง
ห่อข้าวน้อยนั้นเมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว
ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน
เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง
ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก
ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว
จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสาก หรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้น
วิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตอง กลัดด้วยไม้กลัด
หัว-ท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด
แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อ มีข้าวต้ม
(ข้าว เหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู บุหรี่
ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน
เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง
เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่ง
กะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน
ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้
ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษิณีหรือเทพารักษ์ รักษาไร่นา
ซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว)
นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กกิน เพราะถือว่าเด็กที่กินแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์
ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ขนมประจำวันสารทไทย
กระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย
ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว
ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น
ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล
นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม
หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้
สำหรับการกวนกระยาสารทนั้น
ต้องใช้เวลาและแรงคนหลาย ๆ คนจึงจะทำเสร็จได้ ดังนั้น
การกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว
เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน
จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น
หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว
การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
นอกจากกระยาสารทแล้ว
ก็ยังมีขนมอื่น ๆ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมกง ขนมไข่ปลา ขนมเทียน ขนมดีซำ ขนมบ้า
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า
มีชาวนาพี่น้อง 2 คน คนโตชื่อว่า มหาการ น้องชื่อ
จุลการ มีไร่นากว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวออกรวง
คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี
แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย
น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคู
ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา
ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้
จุลการได้ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส
น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ข้าวมธุปายาส คือ
ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐี
ปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า
เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจว่า
พระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวาย
พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ
ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา
และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์ หมายถึง
อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด
(หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลัก ๆ ก็มี 9 อย่าง คือ
น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งา และข้าวเม่า
ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้องใช้สาวพรหมจารีกวน
ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น
ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า "สุริยกานต์" เป็นต้น
สำหรับวันสารทไทยในปี
2564 ตรงกับวันพุธที่ 6 ตุลาคม เราคนรุ่นใหม่
อย่าลืมช่วยกันรักษาประเพณีไทยนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ความเป็นไทยสูญหายไปตามกาลเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น