วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประสพการณ์เข้าวัดเซน วัดไดฮอนซัง เอเฮย์จิ ญี่ปุ่น



จากหนังสือ "ชีวิตวิถีเซน" โดย ดี.ที. ซูซูกิ
.
ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีรถไฟศิษย์ใหม่ต้องค้างแรมหลายคืนกว่าจะเดินทางถึงวัดที่ตั้งใจไปฝึกฝน และเนื่องจากไม่มีเงินจึงต้องอาศัยพักแรมในที่ต่าง ๆ ตามแต่จะหาได้ ส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่มักเมตตาต่อผู้ผ่านทาง แต่หากหาวัดไม่ได้ก็จำต้องค้างแรมตามท้องทุ่งหรือศาลเจ้าริมทาง ความยากลำบากเช่นนี้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับพระหนุ่มผู้ปรารถนาจะไขปริศนาของท่านต้าฮุ่ย เพราะคำตอบของผู้เหินห่างจากชีวิตจริงย่อมเป็นเพียงการคาดเดาด้วยตรรกะ หนทางเดียวที่จะไขปริศนานี้ได้คือการเฝ้าดูชีวิตอย่างไม่หลบตา เหตุนี้พระหนุ่มจึงควรสัมผัสกับความดิบเถื่อนของชีวิตอย่างถึงที่สุด เพราะมีเพียงความทุกข์เท่านั้นที่จะช่วยให้เข้าถึงมิติอันลึกล้ำภายในตน การเดินทางรอนแรมนอกจากจะมอบบทเรียนอันล้ำค่าเหล่านี้ให้แล้วยังเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการธุดงค์ทางไกลในอนาคตอีกด้วย
.
เมื่อเดินทางถึงจุดหมายศิษย์ใหม่จะต้องมายืนคอยพบพระเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าประตูวัด เมื่อเจ้าหน้าที่ออกมาศิษย์ใหม่ต้องแสดงจดหมายแนะนำตัวพร้อมหนังสือรับรองจากพระอุปัชฌาย์ด้วยความนอบน้อม จากนั้นผู้มาเยือนจะถูกปฏิเสธอย่างสุภาพแต่หนักแน่นด้วยข้ออ้างว่าเซนโดเต็มหรือวัดยากจนเกินไปไม่สามารถรับพระเพิ่มเติมได้ หากเขายอมรับคำปฏิเสธและออกเดินทางต่อก็จะไม่สามารถหาวัดเพื่อเข้าฝึกฝนได้เลย เนื่องจากการปฏิเสธคำขอเข้าฝึกฝนเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันทั่วไป
.
เมื่อพระเฝ้าประตูกล่าวปฏิเสธอย่างหนักแน่นแล้วจึงกลับเข้าไป ศิษย์ใหม่จะต้องนั่งลงอย่างโดดเดี่ยวโดยค้อมศีรษะลงเหนือห่อสัมภาระและสงบนิ่งอยู่เช่นนั้นเพื่อแสดงถึงจิตใจอันมุ่งมั่น หากเพียงแค่ถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวต้องนับว่ามีโชคอยู่พอควร เพราะบางครั้งพระในวัดจะออกมาใช้กำลังขับไล่ โดยอ้างว่าผู้มาเยือนไม่เคารพการตัดสินใจของคณะสงฆ์แห่งวัดนั้น
.
พระเซนอาจแสดงความหยาบคายได้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ศิษย์ใหม่อาจถูกใช้กำลังขับไล่จนต้องหลบหนีไปก่อนที่ประตูวัดจะปิดลงอีกครั้งอย่างไร้เยื่อใย แต่หากเขายังไม่ย่อท้อ ปูอาสนะลงยังหน้าประตูเดิมแล้ววางสัมภาระลงข้างตัว ก่อนจะลงมือนั่งสมาธิ ไม่นานจิตก็จะตั้งมั่น ค่ำคืนค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาขณะดวงจันทร์เคลื่อนตัวผ่านกิ่งไม้ใหญ่
.
บ่อยครั้งอาจดูเหมือนว่าอาจารย์เซนช่างปราศจากความอ่อนโยน หลายท่านปฏิบัติต่อศิษย์ด้วยโทสะและความหยาบคาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากสัจจะของเซนไม่อาจหยิบยื่นอย่างอ่อนโยนแก่ผู้ร้องขอ แต่เป็นสิ่งที่ศิษย์จะต้องฉกฉวยไปจากอุ้งมืออาจารย์อย่างฉับไว นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้เซนแตกต่างจากศาสนาอื่น ซึ่งเราจะได้สำรวจกันต่อไป
.
วัดไดฮอนซัง เอเฮย์จิ ญี่ปุ่น
.............
หนังสือ "ชีวิตวิถีเซน : ย้อนอดีตสู่วิถีเร้นลับของวัดเซนเมื่อศตวรรษก่อน"
ผลงานคลาสสิคของ ดี.ที. ซูซูกิ (แปลโดยนพนันท์ อนุรัตน์) หนังสือที่บอกเล่าวิถีชีวิต, บรรยากาศ และกระบวนการการฝึกฝนของพระเซนในประเทศญี่ปุ่นเมื่อกว่า 100 ปีก่อนไว้อย่างครบถ้วนที่สุดเล่มหนึ่ง



ไม่มีความคิดเห็น: