วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สรุป ธรรมะ ทริปผ้าจำนำพรรษา64 (ภาคอิสาน)



 27 ตค.64 สรุป ธรรมะ ทริปผ้าจำนำพรรษา64 (ภาคอิสาน)

ปี 2564 พวกเราเดินทางไปกราบถวายผ้าจำนำพรรษาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ครั้งที่สองในภาคอิสาน ระหว่าง21-24ตค. จำนวน18วัด โดยที่วัดภูผาผึ้งได้นิมนต์พระจากวัดรอบๆบริเวณมาอีก18วัด เพื่อร่วมในพิธีมุฑิตาสักการะครูจารย์อ้มในวาระอายุวัฒนมงคลครบ 84ปี ค่าใช้จ่ายในทริปนี้รวม 691,643 บาท เป็นค่าปัจจัย 340,000 บาท ไทยธรรมและผ้าจำนำ 303,500 บาท ค่าเดินทางประมาณ50,000บาท รวมค่าใช้จ่ายสองครั้งในภาคตะวันออกและอิสานประมาณ9แสนบาท ยังมีทริปต่อไปอีกประมาณสิบวัดได้แก่ วัดถ้ำผาดำ,วัดถ้ำธารลอด,วัดป่ากตัญญุตาราม,วัดบางกะม่าฯ เป็นต้น แต่เราคงไม่ได้จัดเป็นคณะเช่นนี้เพราะแต่ละที่ห่างไกลกันมาก กราบอนุโมทนาทุกท่านที่มีส่วนในบุญกุศลนี้นะครับ
การถวายผ้าจำนำพรรษาเป็นการรักษาพระธรรมวินัยที่มีพระพุทธบัญญัติไว้ให้คงอยู่ต่อไป อานิสงค์ก็เหมือนกับผ้ากฐิน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นกฐินเงินเป็นหลักไปเสียแล้ว แต่ก็เป็นไปตามกระแสในการที่วัดต้องการปัจจัยไปใช้จ่ายในเรื่องต่างๆนั้นเอง นอกจากการถวายผ้าจำนำพรรษาและบริวารรวมทั้งปัจจัยตามวัดต่างๆแล้ว สิ่งที่พวกเราจะได้ระหว่างการเดินทางคือ การได้เข้าทำบุญกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ได้สนทนาเรื่องต่างๆที่เราอาจได้มีโอกาสได้รับใช้ท่านได้ รวมทั้งได้รับฟังธรรมโอวาท ได้รับฟังประสบการณ์การปฏิบัติภาวนาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งหาฟังได้ยากยิ่ง และเป็นการสร้างกำลังใจให้พวกเราได้เป็นอย่างดี ระหว่างทางยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การภาวนากับเพื่อนๆกัลยาณมิตรที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันอีกด้วย แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติภาวนาในที่ต่างๆ ก็จะกลับมาทูลรายงานผลการปฏิบัติภาวนาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า การที่พวกเราได้กลับมารายงานผลการปฏิยัติแก่พ่อแม่ครูอาจารย์ก็คงเป็นการดีเช่นกัน ปีหนึ่งๆเราก็มีเพียงทริปถวายผ้าอาบน้ำฝน และถวายผ้าจำนำพรรษาสองครั้งที่จะมีโอกาสได้กราบฟังธรรมโอวาทจากท่าน คงนับว่าไม่มากจนเกินไปนะครับ
ในโอกาสนี้ ขออนุญาตแบ่งปันธรรมะระหว่างการเดินทางให้เพื่อนๆที่ไม่ได้ไปด้วยนะครับ อาจไม่ครบไม่มากนักแต่ก็พยายามเก็บรวบรวมมาครับ 1.สร้างอะไรๆไว้ก็มากแล้ว ถึงเวลาต้องสร้างใจตนเองบ้างแล้ว ออกพรรษาปีนี้ใครที่ตั้งสัจจะไว้ว่าจะทำดีในเรื่องต่างๆ ผู้ใดที่ทำสำเร็จก็ขออนุโมทนาบุญด้วย แต่จะให้ดีกว่านั้น ขยายจากสามเดือนเพิ่มอีกเก้าเดือนเป็นหนึ่งปีน่าจะดีนะ เวลาเพียงแค่สามเดือนถึงแม้จะพอยับยั้งกิเลสได้ แต่เวลาในชีวิตนั้นเทียบกันไม่ได้เลย ขอให้พวกเราขยายการทำความดี เช่น รักษาศีล ภาวนา เพิ่มจากสามเดือนเป็นหนึ่งปี เพิ่มไปเรื่อยๆจนตลอดชีวิตจึงจะดี...... 2. เรื่องการภาวนา ท่านว่าเรากลับมาบ้านเก่าที่เคยบวชเรียน แต่ให้คณะทุกท่านให้รองกลับบ้านบ้าง คือ ลองเลิกใช้มือถือที่เราให้ความสำคัญมันอย่างมากดูบ้าง จิตใจเราผูกอยู่กับมือถือ อยู่กับข่าวสารต่างๆมากมาย จนไม่มีเวลาได้กลับบ้านคือกลับมาสู่ ใจตนเองบ้างเลย ร่างกายเรายังต้องพักผ่อน ใจก็เหมือนกัน การที่มีเวลาให้จิตใจได้อยู่กับการสงบบ้าง ให้ใจได้พักผ่อน กายใจจึงได้รับความสุขสงบกลับคืนมาได้บ้าง ดีที่วัดแห่งนี้ไม่ค่อยมีสัญญาณมือถือ จึงทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับตัวกับใจตนเองบ้าง จึงอยากให้พวกเราได้ใช้เวลาดีๆเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเองบ้าง 3. ให้เรามองพิจารณาสิ่งภายนอกตัวทั้งหลาย แล้วกลับมองย้อนเข้ามามองตนเอง พิจารณาสิ่งภายนอกนั้นเปรียบเทียบกับกายกับใจของเรา จึงเห็นความปกติธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลาย มีเกิดขึ้นตั้งอยู่สักพักแล้วก็ดับไป สิ่งทั้งหลายล้วนเกิดจากเหตุ เมื่อเหตุนั้นดับไป สิ่งนั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับตามไป เมื่อเห็นเช่นนี้ก็จะเข้าใจธรรมชาติรอบตัว เข้าใจธรรมะ เมื่อนั้นกายใจเรา-ตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินี้ มิได้มีอันใดแตกต่างไป เราจะมั่วมายึดตัวยึดตนไว้ จนเป็นทุกข์ทั้งกายทั้งใจ เมื่อเข้าใจทุกอย่างก็จะสงบไปเองด้วยปัญญาที่เห็นสภาพเกิดดับของสรรพสิ่ง...... 4. หลักการภาวนา นั้นให้มีสติรับรู้สิ่งต่างๆที่เข้ามาทางกาย ทางใจ(อายตนะ) เมื่อมีสติมีสมาธิ ใจก็จะพิจารณาเห็นความเป็นจริง หลุดพ้นจากกิเลศ ตัญหาและอุปาทาน ในกายในใจนี้ได้ สิ่งที่เคยมองเห็น ความรู้ความคิดต่างๆที่เคยรู้ก็จะเปลี่ยนไป ดุจดังพลิกฟ้าพลิกดิน คือไม่เหมือนเดิมอีกเลย เราก็จะอยู่ในสภาวะที่รวมอยู่แต่ไม่เกี่ยวข้อง ว่างสงบสุขตลอดไป ขอให้พวกเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้มากกันทุกๆคน... 5. ครูจารย์ท่านเตือนพวกเราให้มีความเพียรอย่าขี้เกียจ ตั้งใจภาวนาสม่ำเสมอ รักษาศีล ทำแต่สิ่งดีๆ ท่านให้ข้อคิดเกี่ยวกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่นวิหาร เจดีย์ต่างๆ ให้สร้างด้วยใจที่ศรัทธาบูชาคุณพระรัตนตรัย อย่าสร้างด้วยอิฐด้วยปูน เพราะวัตถุนั้น ก็เปรียบเสมือนตัวเราเช่นกัน มีแก่ชราและตายคือพุพังลงไป ถ้าใจยังติดอยู่ก็เกิดทุกข์ได้ ท่านให้มองว่าแม้เพียงเศษอิฐเศษปูนที่หลงเหลืออยู่ ก็สามารถนำเราไปสู่ประวัติของสิ่งนั้นๆ เช่นความเจริญรุ่งเรือง หลักธรรม ปรัชญา ข้อคิด ความศรัทธาฯของผู้คนในพระพุทธศาสนา และพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาได้ อิฐก้อนหนึ่งจึงมีค่ากว่าวัตถุชิ้นหนึ่งมากนัก กระดูกในกายเราที่เหลือจากการจากไปอาจมีค่าน้อยกว่าอิฐได้ .......... 6. คนเราล้วนมีความอยาก ความโลภ อยากได้ อยากมี มีความอยากไม่รู้จักพอทุกสิ่งล้วนคือกิเลส การต่อสู้กับกิเลสคือความอดทน เช่นตอนท่านบิณฑบาตแล้วท่านเห็นคนอื่นได้ปลาแต่ท่านไม่ได้รู้สึกอยาก พอไม่ได้รับแบ่งปันก็รู้สึกหงุดหงิดที่ท่านไม่ได้ ต่อมาท่านก็ใช้การลดปริมาณอาหารลงเพื่อลดความอยาก และท่านบอกว่าเราต้องเอาชนะเจ้าหงุดหงิด เจ้าสงสัย เจ้าความง่วง เจ้าพยาบาท และเจ้าความอยากซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ความอดทนความเพียรโดยมีตัวรู้คือสติ ปัญญาในการเอาชนะเจ้าหงุดหงิด เจ้าสงสัย เจ้าความง่วง เจ้าพยาบาท และเจ้าความอยาก นอกจากนี้ท่านได้สอนว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มักจะมีนิสัยขี้เกียจชอบนอน ท่านเปรียบว่า สมณะนอน4 เศรษฐีนอน 5 ขี้ข้า นอน 8 อยากจะเป็นอะไรก็เลือกเอา เราเลือกได้
เราต้องละความตระหนี่ถ้าจะเป็นเศรษฐีต้องละความตระหนี่หลวงปู่ยกตัวอย่างว่า ถ้าท่านไม่ลุกออกจากอาสนะก็ไม่มีใครเข้ามานั่งได้ ถ้าท่านลุกไปก็จะมีคนเข้ามานั่งแทนได้ ครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าจะสอนใครต้องรู้จริตของแต่ละคนว่ามีความแตกต่าง ของโลภะ โทสะโมหะต้องมีกุศโลบายในการสอนที่ต่างกัน การฝึกปฏิบัติธรรมให้เกิดตัวรู้ ความสามารถรู้ วาระจิต รู้อนาคตไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ต้องมีสติกำกับ ในส่วนของโรคระบาดที่กำลังเกิดในขณะนี้ท่านผ่านมา 4 วาระ ที่ร้ายที่สุดคือ โรคฝีดาษ ทุกคนล้วนมีกรรม ทุกอย่างล้วนเกิดจากกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้นทุกคน ถูกกำหนดมาด้วยกรรมที่ทำไว้ ........ 7. ท่านว่าผ้าจำนำพรรษา เป็นผ้าที่ทอดถวายให้พระที่จำพรรษาครบสามเดือน สามารถรับกฐินก็ได้ผ้าจำนำก็ได้ แต่สามารถทอดถวายสงฆ์โดยระบุพระก็ได้ ไม่ระบุถวายสงฆ์โดยรวมก็ได้ ครบห้ารูปก็ได้ไม่ครบก็ได้ แต่ถ้าถวายสงฆ์องค์รวมเป็นสังฆทานต้องมีพระอย่างน้อยสี่รูปจึงรับไปใช้ได้ ผ้าจำนำพรรษา เรียกอีกอย่างว่าอัจเจกจีวร หรือ ผ้าทอดด่วน คือถวายโดยด่วน สำหรับผู้มีธุระจำเป็นท่านอนุญาตให้ทอดได้สิบวันก่อนออกพรรษา สำหรับ ผู้เจ็บป่วย มีธุระด่วน ผู้จะไปออกศึกสงคราม หรือผู้เพิ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ดีที่พวกเราช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยกันไว้ เพราะส่วนใหญ่ผู้คนมักลือมักจะลืมเลือนไปกันหมดแล้ว อานิสงค์ก็เท่ากับผ้ากฐินเช่นกัน แต่ต้องดูที่เจตนาด้วย.... 8. การเที่ยววิ่งไปหาบุญกับครูบาอาจารย์นั้นดีแต่น่าจะเอาเวลามาภาวนาดีกว่า ถ้าเห็นว่าทำเยอะๆแล้วบุญมาก ก็ส่งปัจจัยโอนไปตามวัดร้อยวัดพันวัดก็ได้ ไม่เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายเดินทางด้วย พระที่ชอบไปตามงานนั้นงานนี้ก็ไม่เหมาะสมน่าจะเอาเวลามาปฏิบัติภาวนา ท่านว่าท่านจะไม่ออกหน้า ไม่ออกสื่อเพื่อหาชื่อเสียง แต่คอยช่วยอยู่ข้างหลังก็ได้ ก็ทำงานต่างๆเอาหน้าเอาตาเอาชื่อเสียงไม่สมควรกับการเป็นพระเลย ยิ่งไปทะเลาะกันในงานยิ่งไม่สมควร !...9. การภาวนาแต่ละคนควรมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง (เชียงใหม่) เพื่อจะได้เดินไปในทิศทางที่ถูก เมื่อรู้ทิศทางแล้ว ควรมีที่อ้างอิงเพื่อตรวจสอบได้เสมอว่ายังอยู่ในเส้นทางที่ถูกหรือไม่ 10...ธรรมะมิได้อยู่ที่ตัวหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่รูปเคารพใดๆ แม้ท่องบ่นทุกวัน มีรูปเคารพติดตัวเสมอ แต่ไม่คิดพิจารณา ไม่ภาวนาไม่ปฏิบัติตาม จะได้ผลแห่งการปฏิบัติภาวนาได้อย่างไร? (Amoxy) 11. ธรรมะ มีอยู่รอบๆตัวเรา เมื่อเราเข้าใจในธรรม- ธรรมชาติรอบตัว ความขัดแย้งใดๆ ทั้งภายนอก ภายในก็คงหมดไป แนวทางการดำเนินชีวิตก็จะสงบสุข ไม่ติดยึดกับตัวกับตน .......12. การเดินทางไปทำบุญกราบพ่อแม่ครูอาจารย์นั้น สิ่งสำคัญมิใช้ วัตถุทาน ไม่ใช้เดินทางไปถ่ายรูป ไม่ใช้ไปเที่ยวเล่น แต่ต้องปฏิบัติภาวนา รักษาศีล สำรวมระวัง ไปตลอดการเดินทาง การฟังธรรมจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้น ต้องตั้งใจ มีสติ มีสมาธิ พิจารณาอรรถธรรมที่รินไหลลงไปในใจ แม้ไม่ต้องท่องจำ ธรรมเหล่านั้นก็ยังคงติดตาติดใจ สามารถนำมาพิจารณาภายหลังได้ไม่รู้จบ แม้คณะภาวนา ธรรมเหล่านั้นก็จะผุดมาให้เรารับรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ไม่มีความคิดเห็น: