วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วัดมหาธาตุ อยุธยา

 วัดมหาธาตุ

เป็นปูชนียสถาน วัดพระอารามหลวงที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี โดดเด่นด้วยพระปรางประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระปรางค์ขนาดกลางเรียงราย และไฮไลท์ของวัดที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ คือ เศียรพระพุทธรูปที่ถูกโอบล้อมด้วยรากโพ

วัดมหาธาตุเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 1917 สมัยขุนหลวงพระงั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และมาสร้างแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในปี พ.ศ. 1927 สมเด็จพระราเมศวรทรงอัญเชิญพระบรมสารีรกธาตุไปบรรจุไว้ในพระปรางค์ประธาน

วัดมหาธาตุเป็นวัดพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีมีตำหนักของท่านอยู่ทางทิศตะวันตก วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ กระทั่งมีการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้น จึงได้ย้ายไปประกอบพิธีกรรมที่วัดพระศรีสรรเพชญ์แทน

ลักษณะเด่นของวัดมหาธาตุคือมีวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าของวัด พระปรางค์ประธานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ตรงกลาง ส่วนอุโบสถอยู่ด้านหลัง โดยพระปรางค์ประธานจะเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งแตกต่างจากวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จะเปรียบโบสถ์เสมือนเป็นเขาพระสุเมรุ นอกจากนี้แทนที่จะมีกำแพงแก้วรอบโบสถ์กลับมีวิหารคดรอบองค์พระปรางค์ประธานแทน

เจดีย์แปดเหลี่ยม
นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยปรากฏที่ใดในอยุธยา มีแต่ที่วัดมหาธาตุที่นี่ที่เดียว โดยเจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมลดหลั่นกัน มีทั้งหมด 4 ชั้น ต่างจากเจดีย์โดยทั่วไปที่ฐานมักจะเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยม

เศียรพระในต้นไม้
เศียรพระที่มีต้นโพขึ้นคลุม มีแต่บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูปโผล่ออกมาให้เห็น นับเป็นไฮไลท์ของวัดมหาธาตุ โดยสันนิษฐานกันว่าเศียรพระน่าจะหักเมื่อครั้งเสียกรุง ในเวลาต่อมามีต้นโพขึ้นบริเวณนั้น รากโพจึงโอบล้อมเศียรเอาไว้ เศียรพระเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลาง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ลำตัวของพระกลับสูญหายไป เศียรพระดังกล่าวอยู่ข้างวิหารเล็กซึ่งมีรากโพปกคลุม กรมศิลปากรไม่สามารถโค่นโพออกได้เพราะรากโพมีส่วนในการช่วยพยุงวิหารเอาไว้

พระปรางค์ขนาดกลาง
พระปรางค์ขนาดกลางคือพระปรางค์ที่อยู่ด้านนอกของวิหารคด ซึ่งวิหารคดอยู่รอบพระปรางค์องค์ใหญ่อีกที ภายในพระปรางค์ขนาดกลางมีภาพจิตกรรมฝาผนังแสดงพระพุทธประวัติบางช่วงบางตอนเอาไว้

ซากปรักหักพังซึ่งเคยเป็นสถานที่สำคัญ
ประกอบได้ด้วย 2 ซากด้วยกัน คือ

ซากพระปรางค์ประธาน พระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุเคยพังลงมาสองครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและได้รับการบูรณะใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง และครั้งที่สองคือสมัยรัชกาลที่ 6 ในปีพ.ศ. 2454 แต่ไม่ได้มีการบูรณะใหม่ โดยกรมศิลปากรได้ย้ายพระบรมสารีริกธาตุในพระปรางค์ประธานไปประดิษฐานยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499

ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นลานกว้างอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ในเอกสารของราชทูตลังกาได้บันทึกถึงความวิจิตรอลังการเอาไว้ว่าองค์ตำหนักทำจากไม้สลักลวดลายงดงามและปิดทอง ม่านกรองทอง (ใช้เส้นทองทอเป็นม่านโปร่ง) ภายในแขวนอัจกลับ ซึ่งอัจกลับก็คือกลุ่มเชิงเทียนทองเหลืองระย้าสำหรับแขวนเพดาน สามารถปักเทียนได้ดั้งแต่ 30-100 เล่ม ขึ้นกับขนาดของอัจกลับ


ไม่มีความคิดเห็น: