วัดมเหยงค์ อยุธยา
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พงศาวดารเหนือได้จดไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยา มีมเหสี ชื่อ พระนางกัลยาณี และพระนางเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์
พระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔ - ๑๘๕๓) เป็นพระราชบุตรเขยองค์แรกของพระเจ้าสุวรรณราชา พระองค์ทรงสร้างวัดกุฏีดาว ส่วนพระนางกัลยาณี พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ถ้าเริ่มนับ พ.ศ. 1853 เป็นปีสร้างวัดมเหยงคณ์มาถึงปีที่เจ้าสามพระยาได้สร้างเพิ่มเติมจากรากฐานเดิมคือ พ.ศ. 1981 จากนั้นมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2252 มีกษัตริย์พระนาม พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เป็นผู้สั่งการให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ช่วงหลังนี้ระยะเวลาห่างกันถึง 271 ปี มีข้อความในพงศาวดารตอนหนึ่งว่า ปีฉลู เอกศก (พ.ศ. 2252) มีพระราชบริหารในช่วงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ เสด็จพระราชดำเนินมาให้ช่างกระทำการวัดนั้นเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงคณ์ เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นี้ 3 ปีเศษ วัดนั้นจึงสำเร็จบริบูรณ์ ใน พ.ศ. 2255 ไดโปรดให้มีงานฉลองใหญ่ ดังปรากฏในพงศาวดารว่าปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2255) นั้นให้ฉลองวัดมเหยงคณ์ ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญ พระราชกุศลเป็นอันมากทรงพระราชทานเครื่องบริขารและวัตถุทานต่าง ๆ แด่พระสงฆ์ 1,000 รูป ตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมีงานมหรสพสมโภช 7 วัน เสร็จบริบูรณ์การฉลองนั้น น่าสังเกตว่ามีกษัตริย์ถึง 3 พระองค์ ช่วงที่ช่วยกันรับทอดก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์มาตามลำดับ โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้นับว่าตั้งอยู่นอกชานเมือง พระมหากษัตริย์ถึงขนาดเสด็จมาประทับแรมว่าราชการอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี จะต้องมีสาเหตุหรือทรงเห็นความสำคัญบางประการของวัดมเหยงคณ์ จึงได้ทรงเอาเป็นธุระตรวจควบคุมงานด้วยพระองค์เองโดยตลอดถึงปานนั้น วัดนี้คงรุ่งเรืองมาตลอด จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310
สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในวัดมเหยงคณ์(ส่วนโบราณสถาน) พระตำหนักวัดมเหยงค์ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ.2252 ระหว่างนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้น นอกกำแพงวัดเพื่อประทับทอดพระนครการปฏิสังขรณ์ ซึ่งกินเวลานานถึง 3 ปีเศษ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลอง เป็นการใหญ่ถึง 7 วัน ตามพงศาวดารกล่าวถึงวัดนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2112 พระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ตั้งทัพหลวงบัญชาการอยู่ ณ วัดมเหยงค์ แห่งนี้ ระยะเวลาปิดล้อม กรุงศรีอยุธยานานถึง 9 เดือน การเข้าชมพระตำหนักนี้โดยเดินสะพานข้ามคลองโบราณทางด้านใต้ของวัด ไปราว 20 เมตร ก็จะถึงพระตำหนัก ซึ่งสภาพปัจจุบันเป็นเพียงซากโบราณสถาน พระอุโบสถ ตัวพระอุโบสถ กว้าง 18 เมตร ยาว 36.80 มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผนังก่อด้วยอิฐถือปูน ปัจจุบันกระเทาะออกบางส่วนเห็นอิฐสีแดงเด่นแต่ไกลบนเนิน ประตูเข้าทางทิศตะวันออก 3 ช่อง ทิศตะวันตก 2 ช่อง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1.10 เมตร x 2.40 เมตรมี 6 ช่อง (อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ละ 3 ช่อง) ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี 2 แท่น พระพุทธรูปประธานเป็นหินทราย หักล้มลงเป็นท่อน ๆ ตัวพระอุโบสถนี้ มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น มุมของแต่ละขั้นย่อเหลี่ยม ตรงมุมกำแพงแก้วชั้นนอกมีเจดีย์เล็ก ๆ ทรงลังกาประกอลกำแพงแก้วชั้นนอก กว้าง 38 เมตร ยาว 72 เมตร ใบเสมาเป็นหินสีเขียว หนา 20 ซม. กว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร วิหารสองหลัง ตั้งอยู้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของพุทธาวาส คงเหลือเพียงรากฐานเห็นเป็นมูลดิน กว้าง 6.40 เมตร ยาว 12.80 เมตร มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 21.60 เมตร ยาว 27.80 เมตร เจดีย์ช้างล้อม สถาปัตยกรรม เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงลังกา คล้ายเจดีย์วัดช้างล้อมที่สุโขทัย เป็นเจดีย์ประธานของวัด ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ 32 เมตร มีช้างปูนปั้น 80 เชือก เห็นได้ทั้งตัวประดับโดยรอบ ช้างแต่ละเชือกสูง 1.05 เมตร ประดับห่างกันเชือกละ 80 ซม. องค์เจดีย์เป็นแบบลังกาเหมือนเจดีย์ช้างล้อมทางสุโขทัย มีบันไดขึ้นนมัสการทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์ตั้งแต่ส่วนกลางขององค์ระฆังหักพังลงมานานแล้ว เจดีย์รายทรงลังกา ตั้งบนฐานสี่เหลี่มจตุรัสในเขตพุทธาวาส 5 องค์ นอกเขตพุทธาวาสด้านตะวันตก 3 องค์ ทุกองค์มีฐานกว้างประมาณ 10 เมตร ยังเห็นรูปทรงได้ชัด ชำรุดบ้างเล็กน้อย เจดีย์ด้านตะวันตกของวิหาร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 12 เมตร ทักษิณย่อไม้สูง 2.80 เมตร องค์เจดีย์ส่วนที่รับปากระฆังเป็นแปดเหลี่ยม มีบัวคว่ำหงายสลับหน้ากระดานขึ้นไป 5 ชั้น เฉพาะชั้นที่ 5 มีลายเครือไม้และแข้งสิงห์ประกอบที่มุมปากระฆังเป็นขอบลวดคาด 3 ชั้น ชั้นที่ 3 ทำเป็นกลีบบัวประดับ มีบันไดขึ้นด้านตะวันออก องค์ระฆังเป็นทรงลังกา นับเป็นเจดีย์ยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ บริเวณโคกโพธิ์ เป็นเนินดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพุทธาวาส ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาว 58 เมตร กว้าง 50 เมตร อาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้เมื่อคราวยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ คงจะได้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น เพราะสังเกตเห็นเป็นมูลดินเตี้ย ๆ คล้ายเจดีย์อยู่หลายแห่ง ได้พบรากฐานอิฐและกระเบื้องอยู่มาก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ลานธรรมจักษุ สำนักปฏิบัติธรรมวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบัน) ฉนวน เป็นทางเดินที่มีกำแพงตั้งอยู่ทั้งสองข้างทางเดิน เชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้า และพระอุโบสถ ลักษณะกำแพงเป็นกำแพงที่มีบัวประดับอยู่ด้านบนคล้ายกำแพงแก้ว เป็นทางเดินสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ใช้เสด็จเข้าออกพระอารามแห่งนี้
ชื่อวัด วัดมเหยงคณ์ (อ่านว่า วัด-มะ-เห-ยง) วัดมเหยงคณ์ เป็นชื่อวัดที่มีมากกว่า 1 วัดในประเทศไทย เฉพาะที่อยุธยาก็มีที่ อ.นครหลวงอีกแห่งหนึ่ง ถ้าจะดูตามแนวภาษาศาสตร์ความหมายของชื่อ มเหยงคณ์ มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน พิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็เห็นว่าเข้าเค้า เพราะวัดมเหยงคณ์ โดยเฉพาะส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ ด้วย ประเด็นที่สาม เจดีย์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ก็สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อมรอบองค์เจดีย์ 80 เชือก เจดีย์แบบนี้น่าจะได้มาจากเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลังกาทวีป ช้างที่ล้อมรอบเจดีย์ คงเนื่องมาจากช้างฤณฑลราชพาหนะของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราช ผู้ที่ชนะสงคราม และได้บำรุงศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรืองในลังกา ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีชื่อวัด มเหยงคณ์ รวม 4 วัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาคือ ตำบลหันตรา 1 แห่ง, อำเภอนครหลวง 1 แห่ง, ที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีก 1 แห่ง, และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก 1 แห่ง ล้วนแต่เป็นวัดสำคัญทั้ง 4 แห่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น