วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วัดป่ามหาวัน น่าน สาขาพระอาจารย์ตั๋น

 วัดป่ามหาวัน







รายนามผู้ร่วมสร้างวัดแห่งนี้
ประวัติ วัดป่ามหาวัน
วัดแห่งนี้พระอาจารย์อัครเดช(ตั๋น) วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี ได้รับมอบที่ดิน จากคุณอานนท์ มานันท์ จำนวน ๔๕ไร่ ที่บ้านหาดผาขน ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน เพื่อถวายกุศลระลึกให้แก่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีพระภิกษุณีองค์แรกของพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้ชื่อว่าวัดป่ามหาวัน (วัดที่พระนางบวชและบรรลุธรรมที่กูฏาคาร-ศาลาเรือนยอด ณ วัดป่ามหาวัน เมืองปัฏนา เมืองหลวงของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เนื่องจากท่านได้จาริกไปยังวัดป่ามหาวันในประเทศอินเดีย และระลึกถึงพระปชาบดีโคตมีเถรีที่เคยได้รับครุธรรมแปดจากพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้พระนางทรงเป็นพระภิกษุณีพระองค์แรกในพระพุทธศาสนา และยังเป็นเสนาสนะที่พระนางได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตขีณาสพอีกด้วย พระอาจารย์อัครเดช จึงใช้ชื่อวัดแห่งนี้ตามชื่อวัดเดิมในสมัยพุทธกาล โดยให้ชื่อว่า “วัดป่ามหาวัน” ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้ขอแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ครูอาจารย์ตั๋น มาช่วยดำเนินการสร้างเสนาสนะป่าแห่งนี้ เพราะท่านมีภาระรับผิดชอบอยู่มาก ทั้งกิจนิมนต์ทั้งวัดสาขาและกิจการงานต่างๆมากมาย เพื่อจะได้รักษาธาตุขันธ์องค์ท่านให้แข็งแรงเป็นหลักให้พวกเราลูกศิษย์ลูกหาได้พึ่งพารับฟังพระธรรมคำสอนของท่านต่อไปได้อีกนานเท่านาน ดังเช่นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านพึงกระทำสุดกายสุดใจในสิ่งที่ดีที่สุดของเขาเพื่อตอบแทนพระคุณของท่านที่ได้มอบและชี้นำแนวทางการดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาและพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐาน การก่อสร้างวัดนี้นั้นเริ่มจากการที่ขอให้คุณอานนท์ มานันท์และภรรยา ได้เขียนหนังสือสัญญายกที่ดินผืนนี้ให้สร้างเป็นวัดป่ามหาวัน ตามความประสงค์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ในวันที่๑๐กรกฎาคม ๒๕๖๒ หลังจากนั้นทางทีมงานก็ได้ไปสำรวจพื้นที่และร่างแผนผังหลักของวัดขึ้นเพื่อเสนอให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้พิจารณา เมื่อท่านพิจารณาแล้วเราจึงเริ่มดำเนินการสร้างเสนาสนะแห่งนี้ เริ่มจากการทำถนนเข้าวัดจากถนนเดิมกว้างประมาณ๑.๕ เมตร ขยายเป็น ๖เมตรแทน พร้อมปรับพื้นที่ป่าที่มีที่ราบเป็นเนินพอจะก่อสร้างได้แค่สองเนินเท่านั้น ด้วยความช่วยเหลือของคุณดุสิต จากบริษัท ส.เต็งไตรรัตน์ เราจึงสามารถทำถนนและปรับพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างได้ และในวันที่๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ เราก็ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างวัดเล็กๆขึ้น ในท่ามกลางฤดูฝนที่ทำให้ผู้ร่วมงานทุลักทุเลลำบากกันพอควรเลยครับ หลังพิธีประมาณ๑-๒สัปดาห์เราจึงได้เริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งจะขอสรุปย่อๆเก็บไว้ในความทรงจำต่อไป ใช้เวลาประมาณ ๙ เดือน ระหว่าง สิงหาคม ๖๒ ถึง พฤษภาคม ๖๓ ด้วยบุญกุศลนี้ พวกเราขออธิษฐานให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประพฤติปฏิบัติภาวนาของพระเจ้าพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย และเป็นที่สัปปายะของพุทธบริษัทในการศึกษาปฏิบัติภาวนา ตลอดไป ด้วยกายและใจของพวกเรานี้ เราจะตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดที่จะกระทำได้ กราบถวายพระบวรพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสถิตย์สถาพรตลอดไปยิ่งนานเท่านาน
ผังวัดป่ามหาวัน
การจัดผังหลักของวัด แบ่งเป็นห้าโซนหลักได้แก่
1.ฆราวาสหญิง อยู่ด้านหน้าด้านขวาของประตูหน้า
2.ที่พักพระอจ.ตั๋น ศาลาฟังธรรม ลานโพธิ์ อยู่ด้านหน้า
ซ้ายมือของประตูหน้า
3.บริเวณกลางวัดจะเป็นกูฎาคาร ศาลาอุโบสถ พระธาตุ
กุฎีเจ้าอาวาสและกุฎีรับรองสงฆ์
4.บริเวณด้านหลังเป็นสังฆาวาส ฝายเก็บน้ำ
ปั้มบาดาลโซล่าเซล
5.บริเวณถังเก็บน้ำ อยู่ด้านบนสุดของวัดใกล้ๆลานโพธิ์
และที่พักพระอาคันตุกะ
การดำเนินการก่อสร้าง
พื้นดินที่ครูจารย์ท่านรับมอบมาแห่งนี้มีสภาพเป็นป่าไผ่รกและกันดาลมาก ทางเข้าเป็นถนนดินลูกรังพอให้รถมอเตอร์ไซด์และรถกระบะ สัญจรไปมาได้เท่านั้น การเข้าไปสำรวจจึงยากมาก วันแรกที่ไปตั้งเต็นท์ภาวนา พบว่ามีร่องน้ำผ่ากลางพื้นที่หาที่ราบสร้างเสนาสนะได้ยาก ที่มีอยู่ก็เพียงเนินสูงสุดของที่แต่ก็ติดถนนทั้งสองด้านไม่เหมาะในการก่อสร้าง จนกลับไปศึกษาผ่านดาวเทียม พบว่ายังพอมีเนินที่ราบอยู่กลางที่แต่พื้นที่ไม่มากนัก เราจึงไปผูกเชือกทำเครื่องหมายสำหรับปรับพื้นที่เนินที่ดินทั้งสองโดยปรับทั้งสองเนินลงมาและวางผังหลักของวัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ จากนั้นจึงประสานขอให้ บริษัท ส.เต็งไตรรัตน์เข้ามาดำเนินการปรับแต่งที่และทำถนนจากภายนอกเข้าวัดและภายในวัดให้ แต่ก็ทำได้ยากยิ่งนักเพราะอยู่กลางฤดูฝน ใช้เวลาเดือนกว่าจึงสามารถเริ่มสร้างเสนาสนะได้เมื่อ ต้นเดือนกรกฎาคม 62 และ เสร็จสิ้นการก่อ สร้างในปลายเดือนพฤษภาคม 63เหลือเพียงพระธาตุเจดีย์ ที่กำหนดเสร็จในปลายปี2563
การมอบวัดในส่วนเสนาสนะจะมอบในวันคล้ายวันเกิดของ
พ่อแม่ครูจารย์ตั๋น 65ปี ใน11 มิ.ย. 63 ณ วัดบุญญาวาส
เรื่องพิธีมอบวัด เสนาสนะ และพระธาตุเจดีย์ทั้งหมด
น่าจะดำเนินการได้ใน ประมาณต้นปี 2564
มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๓

ไม่มีความคิดเห็น: