วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ต้นทุนชีวิต

 ต้นทุนชีวิต

คนเราเกิดมาด้วยต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่...แม้ต้นทุนจะแตกต่างกันแต่ความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งต้นทุนเสมอไป ด้วยปัญญา ความเพียรพยายาม กัดไม่ปล่อยสู้ไม่ถอย ก็อาจสำเร็จได้ ชีวิตจึงต้องอดทนพยายามอย่างเต็มที่ เท่าที่ต้นทุนที่มีอยู่
แต่ถ้ามองย้อนกลับไป ต้นทุนที่แตกต่างกันนั้น ก็เป็นเพราะทำไว้ไม่เท่ากัน คนรอบข้างเรา บางคนมีชีวิตแสนสุขสบายด้วยต้นทุนเดิม แต่ก็-ได้แต่ใช้ไปไม่แสวงหาเพิ่มเติม เพราะไม่เข้าใจ บางคนแม้ต้นทุนเดิมน้อยแต่ก็ขยันสร้างตัวและสร้างทุนไว้ในภพต่อๆไป ความแตกต่างนี้เองที่วนเวียนให้ผู้คนและสัตว์ทั้งหลายแตกต่างกัน
หลายๆคนได้แต่คิดว่าเงินคือต้นทุนสำคัญของชีวิต แต่มีสิ่งอื่นๆอีกมากมายมี่สามารถเป็นต้นทุนได้ ในคำสอนข้อแรกของพระพุทธศาสนาเรื่อง อริยทรัพย์ สิ่งแรกคือ ..ศรัทธา ..ศรัทธาในคำสอนในพระธรรมของพระพุทธองค์ ทำให้เราไม่หลงไปกับกิเลศ ตัญหา อุปาทาน สิ่งนี้จึงสำคัญยิ่ง นอกจากนั้น ปัญญา วิริยะ ความแข็งแรงของร่างกาย สุขภาพ ร่างกายที่สมบูรณ์ สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นต้นทุนที่สำคัญยิ่ง ความจริง สำคัญยิ่งกว่าเงินทองด้วยซ้ำ โปรดพิจารณา
กรรม- คำตอบ -ที่แม่นยำถูกต้องที่สุด พระพุทธองค์ได้ทรงประทาน พระธรรม คำสอนไว้โดยแจกแจง จำแนก กรรมและผลของกรรมไว้อย่างชัดเจนแล้ว จงหยุดคิดสักนิด มาสร้างต้นทุนสำหรับวันใหม่กันนะครับ
สร้างโภคทรัพย์ที่ท่านมีจากวันนี้ หรือต้นทุนเดิม ให้เป็นอริยทรัพย์ที่จะเป็นต้นทุนติดตัวตลอดไป
ชีวิตดีๆ-ต้องสร้างเอง- ทำดี พูดดี คิดดี เริ่มจากวันนี้-เดี๋ยวนี้ ...นะครับ

ถ้า...
สามารถหลุดพ้นจากวงเวียนที่เรียกว่าวัฏฏนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำของพระบรมศาสดา เข้าสูู่กระแสธรรม สู่อริยบุคคล ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว



ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

 https://www.facebook.com/groups/125745514157850/permalink/963372693728457

ครั้งหนึ่งใต้ร่มกาสาวพัสตร์
ประสพการณ์การบวชครั้งที่สองที่วัดป่าบ้านตาด
ไม่สมบูรณ์เท่าไรแต่ก็อ่านได้เล่นๆครับ

ภาวนาสัญจร ครูจารย์บุญมี

 พระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์บุญมี

ที่เมตตามาให้การอบรมพวกเรา ณ อยุธยา
ตั้งแต่ครูจารย์บุญมีท่านส่งคณะศิษย์มาช่วยดูแล วัชรธรรมสถานขององค์หลวงตาพระมหาบัว และวัด ป่าบัวแก้ว ญาณสัมปันนุสรณ์ ที่มูลนิธิดวงแก้วฯสร้างถวายองค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตาพระมหาบัว
ครูจารย์ท่านก็เมตตาให้การอบรมปฏิบัติภาวนาแก่พวกเรามาโดยตลอด ทั้งที่วัชรธรรมสถาน และระหว่างการจาริกแสวงบุญประจำปีทั้งในและต่างประเทศเป็นประจำตลอดหลายปีที่ผ่านมา ครูจารย์ บุญมีท่านได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรสามวันห้าวันสิบวัน ที่ครูจารย์ท่านต้องอยู่ร่วมปฏิบัติภาวนาให้การอบรมธรรมให้กับพวกเราด้วยตลอดการอบรม ซึ่งเป็นการงานที่ค่อนข้างหนักมากตั้งแต่ตีสามจนเที่ยงคืน และปัจจุบันนี้มีครูจารย์ยิ่งน้อยกว่าน้อยที่จะยอมเสียสละแรงกายแรงใจมาช่วยผลักดันสั่งสอนให้เราได้หลักในการปฏิบัติภาวนาลักษณะเหมือนจับมือสอนหรือป้อนอาหารใส่ปากเช่นนี้ เพราะแค่ไปร่วมงานตามที่ต่างๆท่านก็เหนื่อยพอแล้ว ทั้งๆที่ครูจารย์บุญมีอายุท่านก็มากแล้ว ธรรมะที่ท่านให้ก็เป็นไปเพื่อการพัฒนาจิตใจของพวกเราให้ได้เข้าถึงความสงบ และปัญญาพิจารณาธรรมอย่างแท้จริง มิได้สอนให้พวกเรามัวเมากับลาภสักการะชื่อเสียง เงินทองหรือความร่ำรวย เช่นพระอีกหลายๆท่าน ที่เราได้เห็นกันอยู่ทั่วๆไป
ในปีนี้เราไม่สามารถจัดการอบรมปฏิบัติธรรมในต่างประเทศได้เหมือนทุกๆปี เราจึงได้จัดกิจกรรม ภาวนาสัญจรขึ้น ณ เมืองหลวงเก่าอยุธยาศรีธานี โดยกราบขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส วัดใหญ่ชัยมงคล ใช้ที่อบรมปฏิบัติธรรมของวัดให้พวกเราได้ภาวนาร่วมกัน ตามหลักสูตรของ วัชรธรรมสถาน แต่จะมีภาวนากลางแจ้งตลอดเย็นถึงเที่ยงคืน ณ บริเวณองค์พระเจดีย์ เพื่อได้บรรยากาศของการปฏิบัติภาวนานอกสถานที่และเป็นการสร้างความเพียร ความอดทน และเพิ่มสติปัญญาพิจารณาธรรมยิ่งๆขึ้น
ครูจารย์บุญมีท่านจะมีวิธีอบรมโดยสอนการปฏิบัติพื้นฐานในการนั่งสมาธิ เดินจงกรม การเจริญสติ การให้ฟังพระธรรมเทศนาไประหว่างการนั่งสมาธิ เพื่อให้จิตมีสติพิจารณาไปตามอรรถตามธรรม ผู้ที่ปฏิบัติภาวนาอยู่ประจำ เมื่อติดขัดอยู่ตรงที่หนึ่งที่ใด พอฟังธรรมของท่านตรงนั้นๆ ท่านก็เหมือนจะพาเราผ่านปัญหาอุปสรรคไปตามพระธรรมคำสอนนั้นๆ ทำให้เราผ่านอุปสรรคการภาวนาไปอีกขั้นหนึ่งทีเดียวครับ สำหรับท่านผู้เสียสละมาเป็นธรรมะบริกรช่วยดูแลช่วยเหลือผู้อบรมปฏิบัติธรรม เราก็จะมีข้อกำหนดให้เก็บธรรมเหล่านั้นมาสรุปให้ฟังกันในที่ประชุมด้วย เพราะการจะสรุปธรรมที่ครูจารย์ที่ท่านแสดงให้ฟังได้นั้น ผู้ฟังจะต้องมีสติ มีสมาธิ และมีความเพียร ความตั้งใจเพิ่มขึ้นหลายเท่ามากกว่าผู้ปฏิบัติผู้อบรมทั่วไป เป็นกุศโลบายที่ครูจารย์มักใช้กับลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดเพื่อสร้างสติปัญญาให้เพิ่มขึ้น ดังที่เราใช้คำว่าเมื่อศิษย์อยู่ใกล้ชิดครูจารย์สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือการ “สำรวมระวัง” ก็เป็นเช่นนี้เอง การตั้งใจจดจำธรรมครูจารย์จึงเป็นงานอย่างหนึ่งที่ครูจารย์ท่านให้ฝึกเพื่อเป็นการสร้างสติปัญญานั้นเอง
ระหว่าง10-13ธ.ค.63นี้ ท่านที่เป็นธรรมะบริกรคงต้องมีงานหนักยิ่งกว่างานที่วัชรธรรมสถานนะครับ ส่วนผู้ปฏิบัติเราก็รับเฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมที่วัชรธรรมตามรูปแบบมาจนรู้จักระเบียบวินัยเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น ผู้ที่ไม่เคยผ่านการอบรมหรือผ่านแต่กระทำผิดระเบียบเราจึงไม่รับเข้าอบรม เพราะอาจทำตัวไม่ถูกกับระเบียบรบกวนการปฏิบัติของผู้อื่น เช่นการแต่งกาย การสำรวมระวัง การพูดคุยเป็นต้น จึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ จึงเป็นเหตุให้ผู้เข้าปฏิบัติอบรม ต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มนี้ทุกๆท่านนะครับ
.**** https://forms.gle/KjabhEqwzAXrojzL8
****.
ขออำนาจอธิฐานบารมีที่ทุกคนตั้งจะที่จะอบรมปฏิบัติธรรมในครั้งนี้จงเป็นบาทเป็นฐานในการบรรลุธรรมต่อไปในทุกภพทุกชาตินะครับ ด้วยความรัก ความปรารถนาดี จากใจ

ปล่อยวาง หรือ ทบทุกข์

 


ปล่อยวาง หรือ ทบทุกข์

บทความดีๆจากหนังสือสีแดง ของวินทร์ เลียววาริณ
วิไลซื้อกระเป๋าถือใบหนึ่งจากห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในรายการลด 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดินผ่านอีกห้างหนึ่ง เห็นกระเป๋าอย่างเดียวกันวางขายอยู่ ก็ลองเปรียบเทียบราคาดู แล้วพบว่าห้างแห่งที่สองขายกระเป๋าแบบเดียวกันถูกกว่าห้างแรก 250 บาท ทั้งนี้เพราะห้างแรกใช้ลูกเล่นตั้งราคาสูงกว่าปกติแล้วลดราคาลงมาเท่าเดิม เธอโกรธตัวเอง ด่าตัวเองว่าโง่เง่าจนถูกเขาหลอก ทำไมเลินเล่ออย่างนี้ ทำไมไม่ตรวจสอบราคาหลาย ๆ ห้างก่อน ทำไมไม่ถามเพื่อน ฯลฯ ขณะกลับบ้านก็โมโหไปตลอดทาง ถึงบ้านแล้วก็ยังกลุ้มใจ ลูกมาหาก็ไม่อยากคุยด้วย ครั้นเวลาอาหารเย็นก็กินไม่อร่อย คิดถึงแต่เรื่องนี้ เวลานอนก็ไม่หลับเพราะยังโมโหตัวเองไม่หาย กลุ้มใจไปหลายวัน
นี่เรียกว่า เสียสองเด้ง
เด้งแรกคือเสียทางวัตถุ เด้งที่สองคือเสียทางจิตใจ
วิไลเลิกซื้อสินค้าจากห้างแห่งนั้น ผ่านไปหนึ่งปี สองปี วิไลก็ยังโกรธตัวเองและห้างไม่หายในเหตุการณ์นั้น ทุกครั้งที่โกรธ เธอก็มีอาการหัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ
มันเพิ่มจากเสียสองเด้งเป็นเสียสามเด้ง สี่เด้ง
ผ่านไปสิบปี เธอยังโกรธเรื่องนี้อยู่ คราวนี้จาก 3-4 เด้ง กลายเป็น 10-20 เด้ง กลายเป็นทุกข์ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้ำไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวางเรื่องนี้ได้
รวมพลังงานที่เสียไป, เวลาที่หายไปกับการครุ่นคิดเรื่องนี้, สารพิษที่ร่างกายหลั่งออกมาตอนกลัดกลุ้ม, ความเสื่อมของหัวใจที่เกิดจากความโกรธ คำนวณออกมาแล้วจะพบว่าค่าเสียหายของงานนี้มากกว่า 250 บาท
สุดาทะเลาะกับสามี สามีด่าเธอด้วยถ้อยคำรุนแรง วันรุ่งขึ้นสามีขอโทษเธอ บอกว่าเมื่อคืนนี้ใช้คำพูดหยาบคายเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เธอยกโทษให้เขา แต่ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ ในใจเธอยังรู้สึกน้อยใจและโกรธ และงอนเขาไปหลายวันโดยที่เขาไม่รู้
ผ่านไปสิบปีความน้อยใจยังไม่จางหาย ผ่านไปยี่สิบปี ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์นี้ เธอก็สัมผัสความโกรธและน้อยใจที่ปะทุวูบขึ้นมา
นี่ก็คือทุกข์ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้อนไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวางตะกอนในใจได้
สมยศกับเพื่อนลงทุนในธุรกิจหนึ่ง กิจการของทั้งสองไม่เคยได้รับกำไร ผ่านไปสองปีสมยศเพิ่งพบว่าเพื่อนโกงเงินกำไรทั้งหมด ทั้งสองเลิกกิจการที่ทำด้วยกัน แต่สมยศไม่เคยลืมความเจ็บช้ำครั้งนี้ ผ่านไปสิบปี เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจของเขาเองแล้ว ความโกรธแค้นนั้นยังคงอยู่ มันทำให้เขาไม่มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงมัน
ทุกข์ทบต้น!
.……………….
ความทรงจำของมนุษย์มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ มันจดจำเรื่องไม่ดีได้ลึกกว่านานกว่าเรื่องดี ๆ
เรามักจดจำเรื่องที่คนอื่นทำแย่ ๆ ต่อเราได้ ไม่ว่าผ่านมากี่สิบปีแล้ว เราจำเรื่องที่เราพูดหน้าชั้นเรียนแล้วถูกเพื่อนหัวเราะเยาะได้ เราจำเรื่องที่ใครบางคนนินทาเราลับหลังและเราบังเอิญได้ยินได้
คนแก่บางคนเริ่มมีอาการขี้ลืม แต่กลับจำเรื่องที่คนอื่นทำไม่ดีต่อเขาเมื่อห้าสิบปีก่อน แล้วความโกรธก็ปะทุขึ้นมาเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครู่นี้เอง หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก และคืนนั้นก็นอนไม่หลับ
เป็นดอกเบี้ยทบต้นที่แพงเหลือเกิน
ทุกข์ทบต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นกับแทบทุกคน แต่คนฉลาดเลือกจบมันตั้งแต่เกิดความเสียหายแรก คนเขลาต่อเติมความเสียหายแรกเป็นความเสียหายใหม่ที่มักใหญ่กว่าเดิม
การจบมันก่อนคือการยอมปล่อยมันลง ไม่แบกมันไว้

PUT IT DOWN! วางมันลง วางมันลง วางมันลง

นี่ก็คือเรื่องการยึดมั่นถือมั่นที่พระเทศน์ มันเข้าใจไม่ยากอย่างที่คิด
ลองใช้หลักบัญชีง่าย ๆ แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสองช่อง ช่องซ้ายคือกำไร ช่องขวาคือขาดทุน
กำไรคือความสุข ความสบายใจ การได้เงินเพิ่ม
ขาดทุนคือความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ค่าเสียเวลาไปหาหมอ ค่าบิลโรงพยาบาล ค่าเสียโอกาสในการทำเรื่องสร้างสรรค์อื่น ๆ ค่าเสียโอกาสในการเล่นกับลูก ไม่ได้หัวเราะ ไม่ได้ยิ้ม ฯลฯ แล้วคูณจำนวนวันเดือนปีที่อารมณ์บูดเข้าไป
เด็กประถมก็รู้ว่าควรเลือกทางไหน
แต่คนไม่ยอมใคร เลือกที่จะไม่รู้!
กูไม่ยอมโว้ย!
เสียรู้ห้างไป 250 บาท ไม่ตายก็หาใหม่ได้ เพื่อนโกงเงินไม่ตายก็หาใหม่ได้ อย่าแบกมันไว้นานเป็นปี ๆ เพราะค่าแบกแพงกว่าค่าเสียหายในตัวเงิน ทะเลาะกับสามีเป็นเรื่องปกติธรรมดา มีใครบ้างที่ไม่ทะเลาะกับสามี?
เสียเงินไปแล้ว ไยต้องเสียอารมณ์เพิ่ม? ทุกข์เรื่องหนึ่งแล้ว ทำไมต้องทุกข์เพิ่มอีกเรื่อง?
ค่าใช้จ่ายในการไม่ยอมคนอื่นนี้มักแพงกว่าการยอม ๆ เขาบ้าง แล้วยุติความเสียหายแรกเพียงแค่นั้น อย่าให้มันลามมาถึงใจจนกลายเป็นมะเร็งที่เกาะกินทั้งชีวิต
คำโบราณที่ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ก็ตรงกับเรื่องนี้
ยอมให้เขาไป ได้ความสงบทางจิตคืนมา
.……………….

คราวนี้ลองใช้หลักการ ‘หลายเด้ง’ ในอีกด้านหนึ่งของตาชั่งอารมณ์ อาจได้ผลต่างกัน
ซื้อขนมมากิน รสชาติอร่อยเหลือเกิน ก็แบ่งให้เพื่อนชิม จากสุขคนเดียวก็กลายเป็นสุขสองคน หรือสุขสองเด้ง
อ่านขำขันแล้วขำมาก เล่าให้เพื่อนสองคนฟัง ก็กลายเป็นสุขสามเด้ง ได้ยินธรรมที่ดีมาก เล่าให้เพื่อนสามคนฟังแล้วนำไปปฏิบัติ กลายเป็นสุขสี่เด้ง
ลองคิดดูว่าหากเราสามารถทำเรื่องดี ๆ ให้คนนับพัน นับหมื่นนับล้านคน มันก็กลายเป็นสุขพันเด้ง สุขหมื่นเด้ง สุขล้านเด้ง
และหากเราระลึกถึงความสุขชนิดนี้ ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังนี้ หัวใจเราจะอาบซ่านด้วยความปีติ มันก็กลายเป็นสุขทบต้น
แล้วมีอะไรในโลกที่ดีไปกว่าสุขทบต้น?

วัดป่ามหาวัน น่าน สาขาพระอาจารย์ตั๋น

 วัดป่ามหาวัน







รายนามผู้ร่วมสร้างวัดแห่งนี้
ประวัติ วัดป่ามหาวัน
วัดแห่งนี้พระอาจารย์อัครเดช(ตั๋น) วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี ได้รับมอบที่ดิน จากคุณอานนท์ มานันท์ จำนวน ๔๕ไร่ ที่บ้านหาดผาขน ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน เพื่อถวายกุศลระลึกให้แก่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีพระภิกษุณีองค์แรกของพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้ชื่อว่าวัดป่ามหาวัน (วัดที่พระนางบวชและบรรลุธรรมที่กูฏาคาร-ศาลาเรือนยอด ณ วัดป่ามหาวัน เมืองปัฏนา เมืองหลวงของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เนื่องจากท่านได้จาริกไปยังวัดป่ามหาวันในประเทศอินเดีย และระลึกถึงพระปชาบดีโคตมีเถรีที่เคยได้รับครุธรรมแปดจากพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้พระนางทรงเป็นพระภิกษุณีพระองค์แรกในพระพุทธศาสนา และยังเป็นเสนาสนะที่พระนางได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตขีณาสพอีกด้วย พระอาจารย์อัครเดช จึงใช้ชื่อวัดแห่งนี้ตามชื่อวัดเดิมในสมัยพุทธกาล โดยให้ชื่อว่า “วัดป่ามหาวัน” ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้ขอแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ครูอาจารย์ตั๋น มาช่วยดำเนินการสร้างเสนาสนะป่าแห่งนี้ เพราะท่านมีภาระรับผิดชอบอยู่มาก ทั้งกิจนิมนต์ทั้งวัดสาขาและกิจการงานต่างๆมากมาย เพื่อจะได้รักษาธาตุขันธ์องค์ท่านให้แข็งแรงเป็นหลักให้พวกเราลูกศิษย์ลูกหาได้พึ่งพารับฟังพระธรรมคำสอนของท่านต่อไปได้อีกนานเท่านาน ดังเช่นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านพึงกระทำสุดกายสุดใจในสิ่งที่ดีที่สุดของเขาเพื่อตอบแทนพระคุณของท่านที่ได้มอบและชี้นำแนวทางการดำเนินชีวิตตามพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาและพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐาน การก่อสร้างวัดนี้นั้นเริ่มจากการที่ขอให้คุณอานนท์ มานันท์และภรรยา ได้เขียนหนังสือสัญญายกที่ดินผืนนี้ให้สร้างเป็นวัดป่ามหาวัน ตามความประสงค์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ในวันที่๑๐กรกฎาคม ๒๕๖๒ หลังจากนั้นทางทีมงานก็ได้ไปสำรวจพื้นที่และร่างแผนผังหลักของวัดขึ้นเพื่อเสนอให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้พิจารณา เมื่อท่านพิจารณาแล้วเราจึงเริ่มดำเนินการสร้างเสนาสนะแห่งนี้ เริ่มจากการทำถนนเข้าวัดจากถนนเดิมกว้างประมาณ๑.๕ เมตร ขยายเป็น ๖เมตรแทน พร้อมปรับพื้นที่ป่าที่มีที่ราบเป็นเนินพอจะก่อสร้างได้แค่สองเนินเท่านั้น ด้วยความช่วยเหลือของคุณดุสิต จากบริษัท ส.เต็งไตรรัตน์ เราจึงสามารถทำถนนและปรับพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างได้ และในวันที่๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ เราก็ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างวัดเล็กๆขึ้น ในท่ามกลางฤดูฝนที่ทำให้ผู้ร่วมงานทุลักทุเลลำบากกันพอควรเลยครับ หลังพิธีประมาณ๑-๒สัปดาห์เราจึงได้เริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งจะขอสรุปย่อๆเก็บไว้ในความทรงจำต่อไป ใช้เวลาประมาณ ๙ เดือน ระหว่าง สิงหาคม ๖๒ ถึง พฤษภาคม ๖๓ ด้วยบุญกุศลนี้ พวกเราขออธิษฐานให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประพฤติปฏิบัติภาวนาของพระเจ้าพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย และเป็นที่สัปปายะของพุทธบริษัทในการศึกษาปฏิบัติภาวนา ตลอดไป ด้วยกายและใจของพวกเรานี้ เราจะตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดที่จะกระทำได้ กราบถวายพระบวรพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสถิตย์สถาพรตลอดไปยิ่งนานเท่านาน
ผังวัดป่ามหาวัน
การจัดผังหลักของวัด แบ่งเป็นห้าโซนหลักได้แก่
1.ฆราวาสหญิง อยู่ด้านหน้าด้านขวาของประตูหน้า
2.ที่พักพระอจ.ตั๋น ศาลาฟังธรรม ลานโพธิ์ อยู่ด้านหน้า
ซ้ายมือของประตูหน้า
3.บริเวณกลางวัดจะเป็นกูฎาคาร ศาลาอุโบสถ พระธาตุ
กุฎีเจ้าอาวาสและกุฎีรับรองสงฆ์
4.บริเวณด้านหลังเป็นสังฆาวาส ฝายเก็บน้ำ
ปั้มบาดาลโซล่าเซล
5.บริเวณถังเก็บน้ำ อยู่ด้านบนสุดของวัดใกล้ๆลานโพธิ์
และที่พักพระอาคันตุกะ
การดำเนินการก่อสร้าง
พื้นดินที่ครูจารย์ท่านรับมอบมาแห่งนี้มีสภาพเป็นป่าไผ่รกและกันดาลมาก ทางเข้าเป็นถนนดินลูกรังพอให้รถมอเตอร์ไซด์และรถกระบะ สัญจรไปมาได้เท่านั้น การเข้าไปสำรวจจึงยากมาก วันแรกที่ไปตั้งเต็นท์ภาวนา พบว่ามีร่องน้ำผ่ากลางพื้นที่หาที่ราบสร้างเสนาสนะได้ยาก ที่มีอยู่ก็เพียงเนินสูงสุดของที่แต่ก็ติดถนนทั้งสองด้านไม่เหมาะในการก่อสร้าง จนกลับไปศึกษาผ่านดาวเทียม พบว่ายังพอมีเนินที่ราบอยู่กลางที่แต่พื้นที่ไม่มากนัก เราจึงไปผูกเชือกทำเครื่องหมายสำหรับปรับพื้นที่เนินที่ดินทั้งสองโดยปรับทั้งสองเนินลงมาและวางผังหลักของวัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ จากนั้นจึงประสานขอให้ บริษัท ส.เต็งไตรรัตน์เข้ามาดำเนินการปรับแต่งที่และทำถนนจากภายนอกเข้าวัดและภายในวัดให้ แต่ก็ทำได้ยากยิ่งนักเพราะอยู่กลางฤดูฝน ใช้เวลาเดือนกว่าจึงสามารถเริ่มสร้างเสนาสนะได้เมื่อ ต้นเดือนกรกฎาคม 62 และ เสร็จสิ้นการก่อ สร้างในปลายเดือนพฤษภาคม 63เหลือเพียงพระธาตุเจดีย์ ที่กำหนดเสร็จในปลายปี2563
การมอบวัดในส่วนเสนาสนะจะมอบในวันคล้ายวันเกิดของ
พ่อแม่ครูจารย์ตั๋น 65ปี ใน11 มิ.ย. 63 ณ วัดบุญญาวาส
เรื่องพิธีมอบวัด เสนาสนะ และพระธาตุเจดีย์ทั้งหมด
น่าจะดำเนินการได้ใน ประมาณต้นปี 2564
มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๓

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

 



วัดหน้าพระเมรุ

ที่ตั้งของวัดนี้เดิมเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส
วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตร เป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม่สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถวๆละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า "พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ" จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมาก สูงประมาณ 6 เมตร หน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร ในสมัยรัชกาลที่3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือคันธราชประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์ (หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก มีความยาว 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนื้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย

วัดมหาธาตุ อยุธยา

 วัดมหาธาตุ

เป็นปูชนียสถาน วัดพระอารามหลวงที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี โดดเด่นด้วยพระปรางประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระปรางค์ขนาดกลางเรียงราย และไฮไลท์ของวัดที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ คือ เศียรพระพุทธรูปที่ถูกโอบล้อมด้วยรากโพ

วัดมหาธาตุเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 1917 สมัยขุนหลวงพระงั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และมาสร้างแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในปี พ.ศ. 1927 สมเด็จพระราเมศวรทรงอัญเชิญพระบรมสารีรกธาตุไปบรรจุไว้ในพระปรางค์ประธาน

วัดมหาธาตุเป็นวัดพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีมีตำหนักของท่านอยู่ทางทิศตะวันตก วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ กระทั่งมีการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้น จึงได้ย้ายไปประกอบพิธีกรรมที่วัดพระศรีสรรเพชญ์แทน

ลักษณะเด่นของวัดมหาธาตุคือมีวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าของวัด พระปรางค์ประธานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ตรงกลาง ส่วนอุโบสถอยู่ด้านหลัง โดยพระปรางค์ประธานจะเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งแตกต่างจากวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จะเปรียบโบสถ์เสมือนเป็นเขาพระสุเมรุ นอกจากนี้แทนที่จะมีกำแพงแก้วรอบโบสถ์กลับมีวิหารคดรอบองค์พระปรางค์ประธานแทน

เจดีย์แปดเหลี่ยม
นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยปรากฏที่ใดในอยุธยา มีแต่ที่วัดมหาธาตุที่นี่ที่เดียว โดยเจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมลดหลั่นกัน มีทั้งหมด 4 ชั้น ต่างจากเจดีย์โดยทั่วไปที่ฐานมักจะเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยม

เศียรพระในต้นไม้
เศียรพระที่มีต้นโพขึ้นคลุม มีแต่บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูปโผล่ออกมาให้เห็น นับเป็นไฮไลท์ของวัดมหาธาตุ โดยสันนิษฐานกันว่าเศียรพระน่าจะหักเมื่อครั้งเสียกรุง ในเวลาต่อมามีต้นโพขึ้นบริเวณนั้น รากโพจึงโอบล้อมเศียรเอาไว้ เศียรพระเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลาง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ลำตัวของพระกลับสูญหายไป เศียรพระดังกล่าวอยู่ข้างวิหารเล็กซึ่งมีรากโพปกคลุม กรมศิลปากรไม่สามารถโค่นโพออกได้เพราะรากโพมีส่วนในการช่วยพยุงวิหารเอาไว้

พระปรางค์ขนาดกลาง
พระปรางค์ขนาดกลางคือพระปรางค์ที่อยู่ด้านนอกของวิหารคด ซึ่งวิหารคดอยู่รอบพระปรางค์องค์ใหญ่อีกที ภายในพระปรางค์ขนาดกลางมีภาพจิตกรรมฝาผนังแสดงพระพุทธประวัติบางช่วงบางตอนเอาไว้

ซากปรักหักพังซึ่งเคยเป็นสถานที่สำคัญ
ประกอบได้ด้วย 2 ซากด้วยกัน คือ

ซากพระปรางค์ประธาน พระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุเคยพังลงมาสองครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและได้รับการบูรณะใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง และครั้งที่สองคือสมัยรัชกาลที่ 6 ในปีพ.ศ. 2454 แต่ไม่ได้มีการบูรณะใหม่ โดยกรมศิลปากรได้ย้ายพระบรมสารีริกธาตุในพระปรางค์ประธานไปประดิษฐานยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499

ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นลานกว้างอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ในเอกสารของราชทูตลังกาได้บันทึกถึงความวิจิตรอลังการเอาไว้ว่าองค์ตำหนักทำจากไม้สลักลวดลายงดงามและปิดทอง ม่านกรองทอง (ใช้เส้นทองทอเป็นม่านโปร่ง) ภายในแขวนอัจกลับ ซึ่งอัจกลับก็คือกลุ่มเชิงเทียนทองเหลืองระย้าสำหรับแขวนเพดาน สามารถปักเทียนได้ดั้งแต่ 30-100 เล่ม ขึ้นกับขนาดของอัจกลับ


วัดมเหยงค์ อยุธยา



 วัดมเหยงค์ อยุธยา

วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พงศาวดารเหนือได้จดไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยา มีมเหสี ชื่อ พระนางกัลยาณี และพระนางเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์
พระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔ - ๑๘๕๓) เป็นพระราชบุตรเขยองค์แรกของพระเจ้าสุวรรณราชา พระองค์ทรงสร้างวัดกุฏีดาว ส่วนพระนางกัลยาณี พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ถ้าเริ่มนับ พ.ศ. 1853 เป็นปีสร้างวัดมเหยงคณ์มาถึงปีที่เจ้าสามพระยาได้สร้างเพิ่มเติมจากรากฐานเดิมคือ พ.ศ. 1981 จากนั้นมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2252 มีกษัตริย์พระนาม พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เป็นผู้สั่งการให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ช่วงหลังนี้ระยะเวลาห่างกันถึง 271 ปี มีข้อความในพงศาวดารตอนหนึ่งว่า ปีฉลู เอกศก (พ.ศ. 2252) มีพระราชบริหารในช่วงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ เสด็จพระราชดำเนินมาให้ช่างกระทำการวัดนั้นเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงคณ์ เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นี้ 3 ปีเศษ วัดนั้นจึงสำเร็จบริบูรณ์ ใน พ.ศ. 2255 ไดโปรดให้มีงานฉลองใหญ่ ดังปรากฏในพงศาวดารว่าปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2255) นั้นให้ฉลองวัดมเหยงคณ์ ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญ พระราชกุศลเป็นอันมากทรงพระราชทานเครื่องบริขารและวัตถุทานต่าง ๆ แด่พระสงฆ์ 1,000 รูป ตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมีงานมหรสพสมโภช 7 วัน เสร็จบริบูรณ์การฉลองนั้น น่าสังเกตว่ามีกษัตริย์ถึง 3 พระองค์ ช่วงที่ช่วยกันรับทอดก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์มาตามลำดับ โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้นับว่าตั้งอยู่นอกชานเมือง พระมหากษัตริย์ถึงขนาดเสด็จมาประทับแรมว่าราชการอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี จะต้องมีสาเหตุหรือทรงเห็นความสำคัญบางประการของวัดมเหยงคณ์ จึงได้ทรงเอาเป็นธุระตรวจควบคุมงานด้วยพระองค์เองโดยตลอดถึงปานนั้น วัดนี้คงรุ่งเรืองมาตลอด จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310
สิ่งปลูกสร้างสำคัญภายในวัดมเหยงคณ์(ส่วนโบราณสถาน) พระตำหนักวัดมเหยงค์ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ.2252 ระหว่างนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้น นอกกำแพงวัดเพื่อประทับทอดพระนครการปฏิสังขรณ์ ซึ่งกินเวลานานถึง 3 ปีเศษ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลอง เป็นการใหญ่ถึง 7 วัน ตามพงศาวดารกล่าวถึงวัดนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2112 พระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ตั้งทัพหลวงบัญชาการอยู่ ณ วัดมเหยงค์ แห่งนี้ ระยะเวลาปิดล้อม กรุงศรีอยุธยานานถึง 9 เดือน การเข้าชมพระตำหนักนี้โดยเดินสะพานข้ามคลองโบราณทางด้านใต้ของวัด ไปราว 20 เมตร ก็จะถึงพระตำหนัก ซึ่งสภาพปัจจุบันเป็นเพียงซากโบราณสถาน พระอุโบสถ ตัวพระอุโบสถ กว้าง 18 เมตร ยาว 36.80 มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผนังก่อด้วยอิฐถือปูน ปัจจุบันกระเทาะออกบางส่วนเห็นอิฐสีแดงเด่นแต่ไกลบนเนิน ประตูเข้าทางทิศตะวันออก 3 ช่อง ทิศตะวันตก 2 ช่อง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1.10 เมตร x 2.40 เมตรมี 6 ช่อง (อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ละ 3 ช่อง) ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี 2 แท่น พระพุทธรูปประธานเป็นหินทราย หักล้มลงเป็นท่อน ๆ ตัวพระอุโบสถนี้ มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น มุมของแต่ละขั้นย่อเหลี่ยม ตรงมุมกำแพงแก้วชั้นนอกมีเจดีย์เล็ก ๆ ทรงลังกาประกอลกำแพงแก้วชั้นนอก กว้าง 38 เมตร ยาว 72 เมตร ใบเสมาเป็นหินสีเขียว หนา 20 ซม. กว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร วิหารสองหลัง ตั้งอยู้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของพุทธาวาส คงเหลือเพียงรากฐานเห็นเป็นมูลดิน กว้าง 6.40 เมตร ยาว 12.80 เมตร มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 21.60 เมตร ยาว 27.80 เมตร เจดีย์ช้างล้อม สถาปัตยกรรม เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงลังกา คล้ายเจดีย์วัดช้างล้อมที่สุโขทัย เป็นเจดีย์ประธานของวัด ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ 32 เมตร มีช้างปูนปั้น 80 เชือก เห็นได้ทั้งตัวประดับโดยรอบ ช้างแต่ละเชือกสูง 1.05 เมตร ประดับห่างกันเชือกละ 80 ซม. องค์เจดีย์เป็นแบบลังกาเหมือนเจดีย์ช้างล้อมทางสุโขทัย มีบันไดขึ้นนมัสการทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์ตั้งแต่ส่วนกลางขององค์ระฆังหักพังลงมานานแล้ว เจดีย์รายทรงลังกา ตั้งบนฐานสี่เหลี่มจตุรัสในเขตพุทธาวาส 5 องค์ นอกเขตพุทธาวาสด้านตะวันตก 3 องค์ ทุกองค์มีฐานกว้างประมาณ 10 เมตร ยังเห็นรูปทรงได้ชัด ชำรุดบ้างเล็กน้อย เจดีย์ด้านตะวันตกของวิหาร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 12 เมตร ทักษิณย่อไม้สูง 2.80 เมตร องค์เจดีย์ส่วนที่รับปากระฆังเป็นแปดเหลี่ยม มีบัวคว่ำหงายสลับหน้ากระดานขึ้นไป 5 ชั้น เฉพาะชั้นที่ 5 มีลายเครือไม้และแข้งสิงห์ประกอบที่มุมปากระฆังเป็นขอบลวดคาด 3 ชั้น ชั้นที่ 3 ทำเป็นกลีบบัวประดับ มีบันไดขึ้นด้านตะวันออก องค์ระฆังเป็นทรงลังกา นับเป็นเจดีย์ยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ บริเวณโคกโพธิ์ เป็นเนินดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพุทธาวาส ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาว 58 เมตร กว้าง 50 เมตร อาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้เมื่อคราวยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ คงจะได้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น เพราะสังเกตเห็นเป็นมูลดินเตี้ย ๆ คล้ายเจดีย์อยู่หลายแห่ง ได้พบรากฐานอิฐและกระเบื้องอยู่มาก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ลานธรรมจักษุ สำนักปฏิบัติธรรมวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบัน) ฉนวน เป็นทางเดินที่มีกำแพงตั้งอยู่ทั้งสองข้างทางเดิน เชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้า และพระอุโบสถ ลักษณะกำแพงเป็นกำแพงที่มีบัวประดับอยู่ด้านบนคล้ายกำแพงแก้ว เป็นทางเดินสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ใช้เสด็จเข้าออกพระอารามแห่งนี้

ชื่อวัด วัดมเหยงคณ์ (อ่านว่า วัด-มะ-เห-ยง) วัดมเหยงคณ์ เป็นชื่อวัดที่มีมากกว่า 1 วัดในประเทศไทย เฉพาะที่อยุธยาก็มีที่ อ.นครหลวงอีกแห่งหนึ่ง ถ้าจะดูตามแนวภาษาศาสตร์ความหมายของชื่อ มเหยงคณ์ มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน พิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็เห็นว่าเข้าเค้า เพราะวัดมเหยงคณ์ โดยเฉพาะส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ ด้วย ประเด็นที่สาม เจดีย์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ก็สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อมรอบองค์เจดีย์ 80 เชือก เจดีย์แบบนี้น่าจะได้มาจากเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลังกาทวีป ช้างที่ล้อมรอบเจดีย์ คงเนื่องมาจากช้างฤณฑลราชพาหนะของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราช ผู้ที่ชนะสงคราม และได้บำรุงศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรืองในลังกา ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีชื่อวัด มเหยงคณ์ รวม 4 วัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาคือ ตำบลหันตรา 1 แห่ง, อำเภอนครหลวง 1 แห่ง, ที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีก 1 แห่ง, และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก 1 แห่ง ล้วนแต่เป็นวัดสำคัญทั้ง 4 แห่ง

ภาวนาสัญจร วัดใหญ่ชัยมงคล

 


ร่างจาริกบุญภาวนาสัญจร เมืองเก่าอยุธยา

10 ธ.ค. 63   วัดใหญ่ชัยมงคล

เช้า              ธรรมบริกรกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสและคุณแม่สมจิตร

เสร็จแล้วช่วยจัดเตรียมสถานที่อบรมปฏิบัติธรรม

บ่าย             ทัศนศึกษา อยุธยา เมืองหลวงเก่า นัดพบที่.....12.30น.

เย็น              ปฏิบัติภาวนา ณ พระธาตุเจดีย์

11 ธ.ค. 63   ลงทะเบียน     หน้าห้องอบรม/โรงอาหาร

08.00-09.30น.       ลงทะเบียนเข้าอบรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดใหญ่ชัยมงคล(ของใช้ส่วนตัว)

09.30-11.00น.       ปฐมนิเทศผู้เข้าอบรม รับศีลแปด ( ใช้คู่มือ วัชรธรรมสถาน )

11.00-12.00น.       รับประทานอาหารกลางวัน

12.00-13.00น.       จัดเตรียมที่พัก เตรียมปฏิบัติภาวนา ของตนเอง

13.00-14.00น.       เดินจงกรม

14.00-16.00น.       อบรมปฏิบัติภาวนา

16.00-18.00น.       ทำความสะอาดบริเวณสถานที่อบรมปฏิบัติธรรม+สรีรกิจ

18.00-19.00น.       เดินจงกรม

19.00-20.00น.       ทำวัตรเย็น    หนังสือสวดมนต์ถ้ำเต่า

20.30-24.00น.       นั่งฟังธรรม ปฏิบัติภาวนา ณ บริเวณพระธาตุเจดีย์ (เต็นท์+ผ้าห่ม+ผ้าปูนั่ง)

12 ธ.ค. 63   ปฏิบัติภาวนา

03.00น                  ตื่นนอน-สรีรกิจ

04.00-06.00น.       ทำวัตรเช้า-ปฏิบัติภาวนา    หนังสือสวดมนต์ถ้ำเต่า

06.00-07.00น.       เดินจงกรม

07.00-09.00น.       รับประทานอาหาร พักผ่อน

09.00-11.00น.       ปฏิบัติภาวนา

11.00-13.00น.       รับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.00น.       เดินจงกรม

14.00-16.00น.       อบรมปฏิบัติภาวนา

16.00-18.00น.       ทำความสะอาดบริเวณอบรมปฏิบัติธรรม+สรีรกิจ

18.00-19.00น.       เดินจงกรม

19.00-20.00น.       ทำวัตรเย็น    หนังสือสวดมนต์ถ้ำเต่า

20.30-24.00น.       นั่งฟังธรรม ภาวนาบริเวณพระธาตุเจดีย์

13 ธ.ค. 63   ปิดอบรม

03.00น                  ตื่นนอน-สรีรกิจ

04.00-06.00น.       ทำวัตรเช้า-ปฏิบัติภาวนา    หนังสือสวดมนต์ถ้ำเต่า

06.00-07.00น.       เดินจงกรม

07.00-09.00น.       รับประทานอาหาร พักผ่อน

09.00-11.00น.       ปฏิบัติภาวนา

11.00-12.00น.       รับประทานอาหารกลางวัน

12.00-13.00น.       ทำความสะอาดที่พัก-เก็บของ

14.00-15.00น.       พิธีปิดการอบรม-กราบลาท่านเจ้าอาวาส/คุณแม่สมจิตร

กฐิน

 


การทอดกฐิน

เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง

คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง

คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์เพื่อความสามัคคีของหมู่สงฆ์  

 

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้ ผ้าที่นำไปถวายมักจะกำหนดว่าเป็นผ้าที่ภิกษุสามารถตัดเย็บย้อมเป็นผ้า ไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่งได้ภายในวันที่ทอดกฐิน ผู้นำผ้ากฐินไปทอดจึงต้องคำนึงถึงสิ่งเล่านี้ด้วย ปัจจุบันมีข้อมูลเป็นที่แพร่หลายได้ว่าผ้าผืนไหนสามารถตัดเย็บย้อมด้วยผ้าชนิดใดได้บ้าง ส่วนด้ายมักจะต้องเป็นด้ายที่ย้อมได้เพราะถ้าย้อมไม่ได้สีของด้ายจะเด่นออกมาดูไม่เหมาะสม ส่วนสีย้อมก็ใช้แตกต่างกันบ้างตามแต่ละคณะสงฆ์ ผู้ถวายถ้าได้ตรวจสอบ หรือสอบถามก่อนจึงดี ทั้งนี้มักจะใช้วิธีเหล่านี้ในวัดสายพระป่ากรรมฐาน พระวัดบ้านหรือวัดในเมืองอาจใช้ผ้าที่เขาตัดเย็บย้อมสำเร็จแล้วก็มี ซึ่งก็จะแตกต่างออกไป

การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น การเลือกพระรูปนั้นจะต้องจำพรรษาครบไตรมาตร มีคุณธรรมปฏิบัติปฏิบัติชอบ มีจีวรเก่า/ขาด สมควรเปลี่ยน สงฆ์พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นควรถวายให้

เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้ ซึ่งเรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา จะทอดให้ภิกษุกี่องค์ก็ได้ ลักษณะผ้าก็ให้ใช้เหมือนผ้ากฐิน คือสำหรับผ้าไตรจีวรสามผืน ทั้งนี้จะถวายร่วมในพิธีกฐินก็ได้

ส่วนผ้าป่าที่มักทอดร่วมกับพิธีกฐินนั้น มักมุ่งไปเป็นบริวารกฐิน

 

การที่มีประเพณีทอดกฐินมีเรื่องว่า ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ทรงธุดงค์ จำนวน ๓๐ รูป เดินทางไกลไปไม่ทันเข้าพรรษา เหลือทางอีกหกโยชน์จะถึงนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลน และเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ห้าประการคือ
๑) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
๓) ฉันคณะโภชน์ได้
๔) ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕) จีวรอันเกิดขึ้นนั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ห้าอีกสี่เดือน นับแต่กรานกฐินแล้วจนถึงวันกฐินเดาะเรียกว่า มาติกาแปด คือการกำหนดวันสิ้นสุดที่จะได้จีวร คือ กำหนดด้วยหลีกไป กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ กำหนดด้วยตกลงใจ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กำหนดด้วยได้ยินข่าว กำหนดด้วยสิ้นหวัง กำหนดด้วยล่วงเขต กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว หนึ่งเดือนได้ จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

 

การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่าชนิดของกฐินมีสองลักษณะ คือ

จุลกฐิน การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

มหากฐิน คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี

การทอดกฐินในเมืองไทย แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาลโดยกรมศาสนาจัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้

ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน ที่สำคัญคือฆราวาสเป็นผู้ดำริ มิใช่พระเป็นผู้ดำริหรือชักชวน ซึ่งเป็นการไม่สมควร

การจองกฐิน

วัดราษฎร์ทั่วไป นิยมทำเป็นหนังสือจองกฐินไปติดต่อประกาศไว้ยังวัดที่จะทอดถวาย เป็นการเผดียงสงฆ์ให้ทราบวันเวลาที่จะไปทอด หรือจะไปนมัสการเจ้าอาวาสให้ทราบไว้ก็ได้

สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอด ณ พระอารามหลวงให้แจ้งกรมการศาสนา เพื่อขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ในทางปฏิบัติผู้ขอพระราชทานจะไปติดต่อกับทางวัดในรายละเอียดต่าง ๆ จนก่อนถึงวันกำหนดวันทอด จึงมารับผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินพระราชทานจากกรมศาสนา

การนำกฐินไปทอด

ทำได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือนำผ้ากฐินทานกับเครื่องบริวารที่จะถวายไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนดเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือรับพระราชทานผ้ากฐินทานมาจึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย อีกอย่างหนึ่ง ตามคติที่ถือว่าการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงได้มีการฉลองกฐินก่อนนำไปวัดเป็นงานใหญ่ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน และเลี้ยงผู้คน มีมหรสพสมโภช และบางงานอาจมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระอีกด้วยเช่น ในกรณีกฐินสามัคคี พอถึงกำหนดวันทอดก็จะมีการแห่แหนเป็นกระบวนไปยังวัดที่จะทอด มีเครื่องบรรเลงมีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม

การถวายกฐิน

นิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทาน ก่อนจะถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป พอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ที่จะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกัน นั่งบนอาสนที่จัดไว้ เจ้าภาพของกฐิน พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้าพระกฐินไปรอส่งให้ประธาน ประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคอง นำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์ แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานที่จัดไว้หน้าพระสงฆ์ และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์แบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสอง หันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วพระสงฆ์รับ สาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์

กฐินของประชาชน หรือ กฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง

การทำพิธีกฐินัตการกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอม นำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนเดิม ประชาชนผู้ถวายพระกฐินทาน ทายกทายิกา และผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้น เข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพ กรวดน้ำ และรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี

Top of Form