วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

ความลังเลสงสัย


ความลังเลสงสัย


หมายถึงความลังเล, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในการดำเนินชีวิตของตน ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจในข้อปฏิบัติต่างๆ
ในการปฏิบัติภาวนา   มักมีความลังเลสงสัยเกิดขึ้นเสมอๆ สาเหตุใหญ่ๆน่าจะเกิดจากการขาดศรัทธา
ความศรัทธา-ศรัทธาในกฎแห่งกรรม ศรัทธาในพระพุทธศาสนาและพระรัตนตรัย เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติภาวนาที่ดี แต่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นอาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับในศาสนาอื่นๆ เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องมีปัญญาเป็นองค์ประกอบ และต้องมีแนวทางการปฏิบัติไปสู่หลักธรรมข้ออื่นๆได้แก่ วิริยะ,สติ,สมาธิ,จนถึงปัญญา  เพราะศรัทธาจึงนำไปสู่การพากเพียรปฏิบัติภาวนาตามคำสอนขององค์พระศาสดา มีสติตามรู้ภายในกายในใจ จนความจริงที่ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า จนทราบว่าทุกอย่างที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นมิได้มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้เท่านั้น
ปัญญา-ที่ทำให้ทราบถึงเหตุที่ทำให้เกิดผลในสิ่งต่างๆและผลของเหตุเหล่านั้นที่จะหมดไปแตกดับไปเมื่อเหตุนั้นหมดลง ปัญญาที่จะทำให้เราทราบถึงหนทางแห่งการดับทุกข์ รู้จักทุกข์ และเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น
สำหรับผู้ปฏิบัติที่มักเกิดความลังเลสงสัย ไม่ว่าจะเกิดจากสงสัยในคำสอน สงสัยในครูบาอาจารย์ ฯลฯ
ในเบื้องต้น การใช้-โยนิโสมนสิการ คือการใช้ปัญญาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลในข้อธรรมนั้นๆ ว่าถูกต้องเหมาะสม ควรแก่การนำไปประพฤติปฏิบัติ หรือพิสูจน์หรือไม่อย่างไร  การเชื่อหรือศรัทธาโดยปราศจากปัญญาปราศจากเหตุและผล อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงได้เสมอเช่นในลัทธิต่างๆที่ให้ผู้คนกระทำความผิด ผิดศีลธรรม ประเพณี และคุณความดีต่างๆ ที่สำคัญนอกจากการพิจารณาเองแล้วยังต้องมีกัลยาณมิตร เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะแก้ไข ตอบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆให้เราจนกระจ่างชัด การปฏิบัติภาวนา เราจึงต้องมีครูบาอาจารย์คอยแนะนำเสมอ กัลยาณมิตรที่สำคัญสุดคือพระบรมศาสดา ที่ทรงค้นพบสัจจธรรมและนำมาชี้แจงแสดงทางเดินแห่งการดับทุกข์ให้แก่เราทุกคน
ความลังเลสงสัยอาจมีได้หลายประการเช่น
1.    สงสัยเพราะตั้งใจที่จะปฏิบัติให้ถูกให้ได้ผลการภาวนาที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ขอให้ครูบาอาจารย์ชี้แนะให้แก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆของตน เช่นนี้แม้เป็นการลังเลสงสัย แต่ก็ยังอยู่ในมรรค
2.    สงสัยเพราะติดอยู่ในข้อปลีกย่อยต่างๆ พยายามหาเหตุผลมาคัดค้าน ต่างๆนาๆ โดยมิทำประโยชน์ใดๆให้เกิดขึ้นเลย ท่านว่าบุรุษผู้ต้องศร พยายามหาว่าศรนั้นทำมาจากอะไร แต่ละเลยการรักษาตนให้พบจากพิษของศรนั้นๆ
3.    สงสัยเพราะความอยากรู้ในความจริงอย่างไม่สิ้นสุด อาจเกิดจากการที่เป็นผู้ปรารถนาพุทธภูมิที่ต้องศึกษาค้นคว้าหาความจริงให้ปรากฏแก่ตนเอง แม้ได้ยินได้ฟังมาแล้วก็ต้องพิสูจน์ลึงลงไปๆให้มากยิ่งขึ้นจนความจริงแห่งสัจจธรรมสามารถมาแสดงอยู่เบื้องหน้าตนเท่านั้น

สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนา
เมื่อเดินมาตามทางนี้แล้ว ขอให้มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อในคำสอนได้แก่ ไตรสิกขา-คือศีล,สมาธิและปัญญา เพราะศีล-เป็นการควบคุมกายและวาจา ไม่ทำให้เกิดทุกข์โทษเวรภัยต่อกันและกันในสังคม ที่สามารถเข้าใจและยอมรับได้อย่างง่ายดายด้วยหลักเหตุและผล, สมาธิ-การที่ทำให้จิตใจตั้งมั่น มีประโยชน์ต่อเราได้อย่างแท้จริงทั้งก่อให้เกิดความสุขสงบของจิตใจ การที่สามารถมองย้อนกลับไปดูในจิตใจตน ให้เห็นการกระทำทางกาย-วาจา-ใจของเราว่าถูกต้องเหมาะสมเช่นไร, ปัญญา-ปัญญาที่เราจะได้เห็นจริงๆว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับพวกเราทั้งหลายนั้นเกิดจากสิ่งใด และจะก้าวเดินไปเช่นไรจึงจะไปสู่การพ้นทุกข์   สิ่งเหล่านี้สามารถประจักษ์แก่เราได้เสมอเมื่อเราน้อมนำมาพิจารณา ศรัทธาจึงเกิดขึ้นได้โดยง่าย การลังเลสงสัยในการปฏิบัติภาวนาจึงลดลงและทำให้เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหนทางนั้นๆเพื่อสติและสมาธิที่จะนำเราไปสู่ปัญญา และหนทางไปสู่ความดับทุกข์ทั้งมวล
ธรรมะในการแก้ไขความลังเลสงสัยคือ
๑. ความสดับ-ศึกษาอ่านฟังมาก
๒. ความสอบถามผู้รู้และกัลยาณมิตร
๓. ความชำนาญในพระธรรมวินัย-ปฏิบัติอยู่ในศีล
๔. ความมากด้วยความน้อมใจเชื่อในพระรัตนตรัย
๕. ความมีกัลยาณมิตรที่ดี
๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นสมควรเหมาะสมเป็นประโยชน์ตามธรรม
ฐิตรโส

ไม่มีความคิดเห็น: