พิธีรดน้ำดำหัว
พิธีสำคัญที่มาคู่กับวันสงกรานต์เสมอก็คือ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
หลายคนรู้จักกันดีว่าพิธีนี้คือการนำน้ำหอมๆ มารดใส่ในมือของผู้ใหญ่ที่เราเคารพ
แต่เดี๋ยวก่อน…เคยรู้กันไหมว่าจริงๆ แล้วพิธีน่ารักๆ แบบนี้มีความเป็นมาอย่างไร และวิธีการรดน้ำผู้ใหญ่ที่ถูกต้องตามหลัก
ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ประเพณีรดนํ้าดําหัว เป็นประเพณีของไทยอันสืบเนื่องมาจากประเพณีวันสงกรานต์
หรือ วันขึ้นปีใหม่ของไทยที่แสดงถึงความเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือและผู้มีพระคุณ
เพื่อแสดงความกตัญญูพร้อมกับการขอขมาและขอรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเนื่องในวันสําคัญ
เช่น วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ของไทยในเดือนเมษายน “การดําหัว”
ก็คือการรดนํ้านั่นเองแต่เป็นคําเมืองทางเหนือการดําหัวเรียกกันเฉพาะการรดนํ้าผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีตําแหน่งหน้าที่การงานสูง เช่น พ่อเมือง เป็นต้น
เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป หรือขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่
สิ่งที่ต้องนําไปในการรดนํ้าดําหัวก็คือ นํ้าใส่ขันเงินใบใหญ่
ในนํ้าใส่ฝักส้มป่อยโปรยเกสรดอกไม้และเจือนํ้าหอม นํ้าปรุงเล็กน้อยพร้อมด้วยพานข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องสักการะอีกพานหนึ่ง
การรดนํ้าดําหัวมักจะไปกันเป็นหมู่ โดยจะถือเครื่องที่จะดําหัวไปด้วย
เมื่อขบวนรดนํ้าดําหัวไปถึงบ้าน ท่านเจ้าของบ้านก็จะเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน
พอถึงเวลารดนํ้าท่านผู้ใหญ่ก็จะสรรหาคําพูดที่ดีที่เป็นมงคลและอวยพรให้กับผู้ที่มารดนํ้าดําหัว
ปัจจุบันนี้พิธีรดนํ้าดําหัวในจังหวัดต่างๆ ทางเหนือมักจะจัดเป็นพิธีใหญ่
ในบางแห่งมีขบวนแห่งและมีการฟ้อนรําประกอบ เช่น
พิธีรดนํ้าดําหัวในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เป็นต้น
1. ทำไมต้อง 'รดน้ำ' และ 'ดำหัว'
สำหรับความเป็นมาของ พิธีรดน้ำดำหัว นั้น ว่ากันว่า
เป็นพิธีโบราณมาจากทางเหนือ โดยคำว่า 'รดน้ำดำหัว' เป็นคำพูดของชาวเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ
ซึ่งในอดีตนั้นการรดน้ำคือ การอาบน้ำจริงๆ
ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั่นเอง โดยจะใช้น้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูดในการสระผม (คำว่า ดำหัว
เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึงการสระผม)
รดน้ำดำหัวเพื่อขอพรมงคลจากผู้ใหญ่
ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค
นอกจากจะทำเพื่อขอขมาผู้ใหญ่แล้ว
ยังถือเป็นการชำระสะสางสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิตเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ เข้ามาในวันปีใหม่
จวบจนถึงวันนี้การรดน้ำดำหัวกลายเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง
ที่ประชาชนชาวไทยปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาในวันสงกรานต์ทุกปี
2. ความหมายที่แฝงอยู่ในพิธี
การรดน้ำดำหัวไม่ได้เป็นเพียงการชำระสิ่งไม่ดีออกไปเท่านั้น
แต่ยังมีความหมายดีๆ แฝงอยู่ นั่นคือ เป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่
หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย
และเพื่อขอโทษขออภัยในปีที่ผ่านมา ที่ผู้น้อยอาจจะเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ทั้งกาย วาจา
ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม รวมถึงเป็นการขอพรจากผู้อาวุโสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดปีอีกด้วย
3. คุณค่าระหว่างวัย
ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งของพิธีนี้ก็คือ
ช่วยสานความสัมพันธ์ให้กับคนในครอบครัวได้ด้วย
เพราะวันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาเดียวของปี
ที่คนไทยนิยมเดินทางกลับบ้านเกิดไปรวมตัวกัน หรือที่เรียกว่า วันรวมญาติ-วันครอบครัว เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยร่วมกัน
ปู่ย่าตายายก็จะได้เห็นหน้าหลานๆ ให้ชื่นใจ ส่วนเด็กๆ
เองก็จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อเด็ก
เพราะมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า การให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคนแก่จะช่วยฝึกให้เด็กมีความนอบน้อม
และอ่อนโยนขึ้นได้ ซึ่งการรดน้ำดำหัว เด็กๆ
สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เต็มที่ ตั้งแต่การเตรียมดอกไม้ น้ำหอม น้ำปรุง
นอกจากนี้ ผู้ปกครองก็สามารถชี้ชวนและอธิบายถึงความหมายดีๆ
ของกิจกรรมนี้ให้ลูกเข้าใจมากขึ้นได้ เช่น บอกว่าคุณแม่กำลังรดน้ำคุณตานะ
เดี๋ยวคุณตาจะอวยพรให้แม่แข็งแรง อยู่กับลูกไปนานๆ พอคุณแม่รดน้ำเสร็จ
ก็ให้ลูกลองรดน้ำดำหัวบ้าง พร้อมกับคอยแนะนำอยู่ใกล้ๆ เมื่อเด็กได้ทำซ้ำๆ ทุกปี
ช่วงเวลาแบบนี้จะเป็นสิ่งที่พวกเขารอคอย และรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ
4. วิธีดำหัวฉบับโบราณ / สมัยใหม่
สำหรับวิธีการรดน้ำดำหัว ขอพาไปทำความรู้จักกับวิธีแบบโบราณกันก่อน
ซึ่งเป็นพิธีกรรมในแบบของสงกรานต์ล้านนา โดยสามารถทำได้ 3 แบบ คือ
แบบที่หนึ่ง ดำหัวตนเอง : เป็นพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล
เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ
เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป
แบบที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน :
เป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากแบบแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะภรรยา บุตร หลาน
หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (แบบที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ
หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง
แบบที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์
พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น : กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง
บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
การดำหัวนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคล ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำหัวสมัยโบราณให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาดังนี้ “สำหรับการดำหัวนั้น นิยมเอาน้ำใส่ขัน คือใส่สลุง เอาน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ เวลาดำหัวเขาจะเอาไปประเคน คือเอาไปมอบให้ท่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราจะไปดำหัวนั้น เขาจะเอามือจุ่มลงในสะหลุงที่มีน้ำขมิ้นส้มป่อยอยู่ แล้วก็เอามาลูบหัวตัวเอง 3 ครั้ง จากนั้นก็เอามือจุ่มน้ำส้มป่อย สลัดเข้าใส่ลูกหลานที่มาดำหัวพร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีมีสุข ให้อยู่ดีกินดี
***ไม่นิยมเอาน้ำรดมืออย่างของภาคอื่น ซึ่งถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นการรดศพมากกว่า***
5. ต้องเตรียมอะไรบ้าง
เตรียมน้ำอบน้ำปรุง หรือน้ำหอม มาผสมในน้ำสะอาด
สิ่งที่ต้องเตรียมไปในการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ได้แก่ น้ำอบไทย น้ำหอม
หรือน้ำส้มป่อย เพื่อนำไปผสมกับน้ำที่จะนำไปรดน้ำผู้ใหญ่ ข้อต่อมาคือเตรียมดอกมะลิ
ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ในบ้านก็ได้
ถัดมาต้องเตรียมขันเงินหรือขันทองเหลือง พานข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน ข้อสุดท้าย
คือ เตรียมผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มผืนใหม่ หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ
เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ไทย
ใส่ดอกไม้กลิ่นหอมลงไปด้วยเพื่อความสดชื่น
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวดีๆ ของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
เอาเป็นว่าสงกรานต์นี้ก็อย่าลืมที่จะจัดเตรียมดอกไม้ น้ำอบน้ำปรุง
ไปรดน้ำผู้สูงอายุกันนะจ๊ะ
จะได้สานความผูกพันในครอบครัวให้ยิ่งอบอุ่นและมีความสุขตลอดปีใหม่นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น