วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

หลวงปู่โง่น โสรโย

หลวงปู่โง่น โสรโย อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม โดยมี ท่านเจ้าคุณสารภาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาพรหมมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทปีแรก พระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์ผู้อุปการะคือ หลวงพ่อวัง ได้ร้องขอและส่งให้ไปอยู่กับพระสหายของท่าน คือ เจ้ายอดแก้ว บุญทัน บุปผรัตน์ ธมมญาโณ ที่วัดสุวรรณารามราชมหาวิหาร นครหลวงพระบาง ราชอาณาจักรลาว ซึ่งต่อมา เจ้าบุญทัน บุปผรัตน์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แห่งราชอาณาจักรลาว ต่อมากรุงเวียงจันทน์แตกใน พ.ศ. ๒๕๑๘ พระองค์ได้เสด็จลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๕๒๘


ส่วน หลวงปูโง่น โสรโยในขณะนั้นเป็นพระนวกะ ได้เรียนนักธรรมและบาลีแบบลาว ซึ่งเจ้ายอดแก้ว บุญทัน ทรงรักใคร่โปรดปรานมาก เพราะดั้งเดิมเป็นสายญาติกัน และใช้งานได้คล่อง พูดไทยได้เก่ง เว้าลาวได้ดี ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสก็อาศัยได้ เพราะในระยะนั้นประเทศลาว ยังเป็นอาณานิคม เมืองขึ้นของฝรั่งเศส ท่านจึงต้องการให้พระภิกษุที่เข้ากับชาวต่างชาติรู้เรื่อง อยู่ด้วย เมื่อเวลาว่างท่านให้เข้าป่าเพื่อแสวงหาต้นไม้ที่เป็นยาสมุนไพร เพราะพระองค์ท่านทรงสนใจรับรู้ในเรื่องยาสมุนไพรมาก ตอนเข้าไปในป่าถึงเขตทุ่งไหหิน โดนทหารลาวและทหารฝรั่งจับในข้อหาเป็นจารชนจากเมืองไทยไปสืบความลับ ถูกขังคุกขี้ไก่ ๓๐ วัน พร้อมพระลาว ๒ รูป กับเด็กอีก ๑ คน เด็กคนนั้น คือ เจ้าสิงคำ ซึ่งต่อมาก็คือ ท่านมหาสิงคำ ผู้ทำงานช่วยพวกลาวอพยพร่วมกับสหประชาชาติ อยู่ที่วัดยานนาวา กรุงเทพฯ ท่านจึงไปมาหาสู่บ่อย เพื่อขอความช่วยเหลือให้พี่น้องชาวลาว หลวงปู่โง่นก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ความสามารถจะมี

เรื่องการติดคุกขี้ไก่อยู่เมืองทุ่งไหหินนั้นสนุกมาก เขาเอาไก่ไว้ข้างบน คนและพระอยู่ข้างล่าง ไก่ขี้ใส่หัวตลอดเวลา เหม็นก็เหม็น ทรมานก็ทรมาน สนุกก็สนุก ได้ศึกษาธรรมไปในตัว ความทราบถึงเจ้ายอดแก้ว พุทธชิโนรสสกลมหาสังฆปาโมกข์ ท่านได้ร้องขอให้ปล่อยตัว แต่ทหารปล่อยเฉพาะพระลาว ๒ รูป กับเด็ก ๑ คน ส่วนหลวงปู่โง่นเขาไม่ปล่อย เพราะเข้าใจว่าเป็นคนไทย ด้วยเหตุที่พูดไทยได้เก่ง ทั้งนี้ ขณะนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน ฝรั่งยุให้คนไทยกับคนลาวเป็นศัตรูกัน เห็นคนไทยก็จับขังหรือฆ่าทิ้งเสีย จึงมารู้ตัวเข้าคราวหลังว่า เรามันคนปากเสีย ปากพาเข้าคุก เพราะพูดภาษาไทย

ภายหลังสมเด็จพระสังฆราชลาว ท่านออกใบสุทธิให้ใหม่ โอนเป็นพระลาวเป็นคนลาวไป เขาจึงปล่อยตัวออกมา แต่ก็ยังไม่พ้นสายตาของพวกนักสืบอยู่นั่นเอง จึงกราบทูลลาผู้มีพระคุณ หาทางมุ่งกลับเมืองไทย แต่ไม่รู้จะมาอย่างไร จึงตัดสินใจไปพบคนที่รู้จักรักใคร่คือ ท้าวโง่น ชนะนิกรซึ่งเป็นข้าราชการลาวอยู่ในระยะนั้น ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง มีแต่หลุมหลบภัยและเสียงปืน ที่พี่ไทยกับน้องลาวยิงกันไม่ขาดระยะ ต้องธุดงค์ปลอมแปลงตัว เดินเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงลงมาทางใต้ ถึงใกล้เมืองท่าแขก ได้รับความช่วยเหลือจากพระลาวที่รู้จักกัน คือ ครูบาน้อย หาทางให้ได้เกาะเรือของชาวประมงข้ามฝั่งมาไทย พอถึงแผ่นดินไทยก็โดนร้อยตำรวจเอกเดช เดชประยุทธ์ และ ร้อยตำรวจโทแฝด วิชชุพันธ์ จับในข้อหาเป็นพระลาวหลบเข้ามาสืบราชการลับในราชอาณาจักรไทย ถูกจับเข้าห้องขัง ฐานจารชน อยู่ ๑๐ วัน ร้อนถึงพระพนมคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมือง ได้เจรจาให้หลุดรอดออกมา

พอพ้นจากห้องขังมาได้ ก็เข้ากราบพระอุปัชฌาย์คือ ท่านเจ้าคุณสารภาณมุณี สั่งให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานกับ พระอาจารย์วัง ที่ถ้ำไชยมงคล ภูลังกา และไปหา พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ตอนเข้าพรรษา พระอุปัชฌาย์ให้มาจำพรรษาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้นักธรรมโท พ.ศ. ๒๔๘๗ สอบได้นักธรรมเอก ต่อมาหนีออกธุดงค์เข้าถ้ำ จำพรรษาที่ถ้ำบ้านยางงอย อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม กับอาจารย์สน อยู่ ๑ ปี พระอุปัชฌาย์รู้ข่าวเรียกตัวกลับ สั่งให้มาอยู่วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม โดยบังคับให้เป็นครูสอนนักธรรมโท อยู่วัดศรีเทพ ๒ ปี เพราะวัดทั้งสองอยู่ใกล้กัน ไปกลับได้สบาย ผลของการสอนได้ผลดีมาก นักเรียนสอบได้ยกชั้นทั้ง ๒ ปี พระอุปัชฌาย์ชมเชยมาก และปีต่อมาได้เปลี่ยนเป็นครูสอนนักธรรมเวลาเช้า ส่วนเวลาบ่าย หลวงปู่เป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์

ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สอบเปรียญธรรม ป.ธ.๓ แต่ต้องตกโดยปริยาย เพราะข้อสอบรั่วทั่วประเทศ จึงต้องสอบกันใหม่ เกิดความไม่พอใจในวิธีการเรียนแบบสกปรก จึงย้อนกลับไปพึ่งใบบุญของสมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศลาว และได้ตั้งใจเรียนแบบลาว สอบเทียบได้เปรียญ ๕โดยสมเด็จพระยอดแก้วสกลมหาปรินายก ออกใบประกาศนียบัตรให้ จากนั้นท่านสั่งให้ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่า พอดีขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์ในพม่าพากันเดินขบวนขับไล่รัฐบาลของอูนุ มีการจับพระชาวต่างชาติเข้าคุก หลวงปู่โง่นก็พลอยโดนด้วย แต่โชคดีที่พระมหานายกของพม่า คือ ท่านอภิธชะมหา อัตฐะคุรุ ได้ขอร้องและทำใบเดินทางให้เข้าประเทศอินเดีย เลยเข้าไปเมืองฤๅษีเกษ แคว้นแคชเมียร์ ไปฝึกฝนอบรมวิชาโยคะ ๑ ปี เมื่อมีเพื่อนนักโยคะชักชวนขึ้นไปเมืองยางเซะ และเมืองลาสะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศธิเบต เพื่อศึกษาภูมิประเทศ และหลักการทางพระพุทธศาสนามหายาน

พ.ศ. ๒๔๙๔ กลับมาเมืองไทย ท่านเจ้าคุณรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ ส่งให้ไปเป็นหัวหน้าก่อสร้างพระอุโบสถจตุรมุขหลังใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ที่วัดสารนาถธรรมาราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อยู่ได้ ๕ ปี พระอุโบสถจวนเสร็จ ขออำลาหนีไปพักผ่อนชั่วคราว ไปพักอยู่กับญาติๆ ที่เมืองอังกานุย ประเทศนิวซีแลนด์ แล้วไปอยู่แคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย อยู่แห่งละ ๑ ปี แล้วไปอาศัยอยู่กับญาติโยมเก่า ที่เขาเคยอุปการะอยู่ประเทศลาว ที่เมืองรียอง ประเทศฝรั่งเศส

พ.ศ. ๒๔๙๘ กลับเมืองไทย ไปช่วยท่านมหาโฮม คือ เจ้าคุณราชมุนี วัดสระประทุม ที่ปากช่อง จากนั้นเดินธุดงค์เข้าป่าเข้าถ้ำหลายแห่ง คือ ถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ถ้ำตับเต่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วล่องใต้ไปอยู่ถ้ำจัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ถ้ำขวัญเมือง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วมาถ้ำมะเกลือ เหมืองปิล็อก จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นขึ้นถ้ำฤๅษี (ถ้ำมหาสมบัติ) ถ้ำเรไร จังหวัดเพชรบูรณ์

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงพ่อแพร คือ ท่านเจ้าคุณเพชราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์องค์ก่อน ได้นิมนต์มาสร้างโรงเรียนประชาบาล วัดท่าข้าม และสร้างพระประธานใหญ่ ไว้ที่เขตอำเภอชนแดน แล้วท่านร้องขอให้ไปอยู่แคมป์สน เขตอำเภอหล่มสัก อยู่ได้ปีเดียว ท่านเจ้าคุณวิมลญาณเวที วัดมงคลทับคล้อ ซึ่งเป็นเครือญาติกันมาก่อน ขอให้มาสร้างฌาปนสถาน และบูรณะศาลาการเปรียญวัดมงคลทับคล้อ พอเสร็จเรียบร้อย ท่านร้องขอให้มาช่วยเหลือประจำอยู่วัดพระพุทธบาทเขารวก เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพราะเป็นแดนทุรกันดาร หน้าแล้ง จะขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ด้วยความเห็นชอบและเลื่อมใสของท่านเจ้าอาวาส ตลอดจนญาติโยม ได้ลงมือพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นหลายอย่าง อาทิ ได้ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณหมู่บ้าน เก็บน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดปี สร้างถนนจากบ้านวังหลุมถึงเขารวก เป็นระยะทาง ๕.๕ กิโลเมตร และสร้างโรงเรียนประถมศึกษา เป็นอาคารชั้นเดียว ยาว ๕๐ เมตร มีห้องเรียน ๘ ห้อง อีกทั้งปั้นหล่อรูปสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ที่หน้าเสาธง มีขนาด ๑ เท่าครึ่ง ตั้งอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี จะให้มีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป และแจกทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐ ทุน ทุนละ ๑,๐๐๐ บาท ตลอดมาจนทุกวันนี้

หลวงปู่ได้แปรผันสังขารของท่านเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๒ รวมสิริชนมายุได้ ๙๔ ปีเศษ นับว่ามีอายุมากในปัจจุบัน แต่สังขารของหลวงปู่ไม่แก่เฒ่าอย่างที่ทุกคนคิด เพราะท่านมีวิธีรักษาจิต เพื่อชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัติ มีธรรมสมบัติเป็นจิตใจ จึงเป็นใจที่สงบ อันใจที่สงบนั้น ย่อมไม่แก่ชราคร่ำคร่าดังพระพุทธภาษิต ว่า สตญฺจ ธมโม นชรํ อุเปติ ธรรมของผู้มีใจสงบนั้น ย่อมไม่เข้าถึงความแก่ชราคร่ำคร่า ก็คือการชะลอความแก่ไว้ด้วยธรรมสมบัตินั่นเอง

คนส่วนมากมักปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม แต่หลวงปู่ท่านใช้ชีวิตของท่านเดินย้อนรอยกรรม โดยการนำตัวแฝงเข้ามาเป็นอุปกรณ์การเดินทางเพื่อย้อนรอยกรรม จึงทำให้ชีวประวัติของท่านโดดเด่น โลดโผน เป็นวรธรรมคติแก่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

อันปฏิปทาของหลวงปู่โง่น โสรโย นั้น ตรงกับคำว่า “ปะฐะ วิปปะภาโส” แปลว่า ผู้ยังพื้นปฐพีให้สว่างไสว เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยที่เป็นดวงตาของโลก มีความชื่นชมยินดีเป็นที่รวมใจ มีรัศมีสีทองผ่องอำไพส่องโลกนี้ เป็นคาถาที่ปรากฏใน โมรปริตร์ ถ้าคิดถึงหลวงปู่ก็ให้เจริญมนต์บทนี้ จะได้รับความคุ้มครองจากธรรมสมบัติตามปฏิปทาบารมีของหลวงปู่โง่น โสรโย เหมือนท่านอยู่กับเราในฐานะตัวแฝง ตลอดไป

(ข้อมูลจากหนังสือ พระราชทานเพลิงศพ)

มูลนิธิฯจะไปกราบนมัสการท่านปลายเดือนนี้ที่วัดครับ24สค.หลังจากการออกหน่วยผ่าตัดที่รพ.ฝางจ.เชียงใหม่ เนื่องจากตอนที่ผมกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ เคยอกรายการทางทีวีหลายรายการ ท่านเคยชมและให้ผู้จัดรายการที่ช่อง5คนหนึ่งที่ไปหาท่าน นำพระกริ่งหลวงปู่มาให้ ยังคิดถึงท่านอยู่เสมอมา คงได้ไปในครั้งนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: