วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

พุทธาภิเษก

พิธีพุทธาภิเษก
ที่มา : นาวิกศาสตร์ ISSN 0125-4324 ปีที่ 91 ฉบับที่ 12 

    พิธีพุทธาภิเษก คือ พิธีการปลุกเสกประจุพุทธคุณลงในวัตถุมงคล (ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า ๗๙๕ และพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ ชุด
“ คำวัด ” โดยพระธรรมกิตติวงศ์ หน้า ๗๐๐)
    โดยใช้พุทธคุณซึ่งมีอยู่ในบทพุทธปริตร หรือ บทพุทธมนต์ หรือโดยใช้สมาธิจิตที่เกิดจากปฏิบัติกรรมฐาน ประจุลงในวัตถุมงคล ต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปจำลอง รูปจำลองพระเกจิอาจารย์ พระบรมรูปจำลองพระมหากษัตริย์-พระราชวงศ์ รูปเทพเจ้า รูปผู้ที่ควรสักการบูชา ปูชนียวัตถุต่าง ๆ ฯลฯ     มิได้หมายถึงพิธีการปลุกเสกเฉพาะพระพุทธรูป จำลองอย่างเดียว
    
ดังนั้นไม่ว่าจะปลุกเสกวัตถุมงคลประเภทใดเรียกว่า พิธีพุทธาภิเษก เหมือนกันหมด โดยเรียกชื่อพิธีตามวัตถุมงคลนั้น ๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษก พระพุทธพรประทานราชนาวี พิธีพุทธาภิเษกพระบรมรูปจำลองสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช พิธีพุทธาภิเษกรูปจำลององค์จตุคามรามเทพ ฯลฯ     และมีความเชื่อว่า วัตถุมงคลที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ย่อมกลายเป็นวัตถุมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันภัยอันตรายและ ให้เกิดความ สวัสดีมีชัยได้
    ปัจจุบันมีศัพท์เรียกพิธีกรรมดังกล่าวงอกขึ้นใหม่และนำมาเรียก ใช้กันทั่วไป เช่น พิธีมังคลาภิเษก พิธีเทวาภิเษก เป็นต้น โดยอาจมีความประสงค์ให้เรียกชื่อพิธีตรงตามวัตถุมงคลนั้นๆ ดังนี้
    - พิธีพุทธาภิเษก คือพิธีปลุกเสกพระพุทธรูปจำลอง และรูปจำลองพระเกจิ อาจารย์ทั้งหลาย
    - พิธีมังคลาภิเษก คือพิธีปลุกเสกพระบรมรูปจำลองพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ เช่น สมเด็จพระปิยมหาราช พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นต้น
    - พิธีเทวาภิเษก คือพิธีปลุกเสกรูปจำลองเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น พระพรหม องค์ จตุคามรามเทพ พระพิฆเณศร์ เป็นต้น
    บางกรณีนำวัตถุมงคลต่าง ๆ มาปลุกเสกในคราวเดียวกันก็มักเรียกพิธีรวมกันก็มี เช่น พิธีพุทธมังคลาภิเษก พิธีพุทธเทวาภิเษก พิธีมังคลเทวาภิเษก เป็นต้น ศัพท์ที่ใช้เรียกพิธีตามวัตถุมงคลต่างๆ ดังกล่าวแม้จะไม่ตรงกับคำเดิมที่ให้ใช้คำว่า พิธีพุทธาภิเษก แต่พิธีการปฏิบัติเหมือนกันทุกพิธี

    พิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลทุกประเภท มีหลักการปฏิบัติดังนี้
    ๑. เครื่องใช้ในพิธี
      ๑.๑ โต๊ะหมู่บูชา พร้อมดอกไม้ธูปเทียน
      ๑.๒ เครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์
           - เครื่องรับรองพระสงฆ์เช่นเดียวกับงานมงคลทั่วไป
           - ตั่ง/ที่นั่งพระมหาเถระประธานฝ่ายสงฆ์
           - อาสน์สงฆ์พระเจริญพระพุทธมนต์ ๙ รูป (พิธีหลวงหรือพิธีทาง ราชการ ๑๐ รูป)
           - อาสน์สงฆ์พระสวดภาณวาร ๔ รูป
           - ตั่ง/ที่นั่งพระเกจิอาจารย์/พระเถระภาวนาจารย์ ๙ รูป(หรือตามความประสงค์)
    จัดให้นั่งรอบวัตถุมงคล
      ๑.๓ เครื่องประกอบพิธีพุทธาภิเษก
           - เทียนวิปัสสี ไส้เกินอายุผู้จุด ๑ เล่ม
           - เทียนมหามงคล หนัก ๘ บาท ๒ เล่ม
           - เทียนนวหรคุณ หนัก ๑ บาท ๙ เล่ม
           - เทียนเงินเทียนทอง ๒ เล่ม
           - เทียนชัย ไส้ ๑๐๘ เส้น หนัก ๘๐ บาท สูงเท่ากับเจ้าของพิธี ๑ เล่ม
       (ปักในตู้เทียนชัย)
           - เทียนพุทธาภิเษก หนัก ๓๒ บาท ๒ เล่ม
           - เทียนที่เครื่องกระบะมุก ๑ ชุด
           - ขันสาครใส่น้ำมนต์ ๒ ใบ (ปักเทียนพุทธาภิเษกไว้ตรงกลาง)
           - สายสิญจน์รอบปริมณฑล ขึงเป็นตาข่ายห่างกัน ๑ ช่วงแขน
           - ฉัตรขาว ๕ ชั้น ๖ ต้น ขนาดความสูงตามความเหมาะสมปัก ๔ มุมและ
     ซุ้มประตูทางเข้า
           - ราชวัติ ๔ มุม (๘ ข้าง ยาวข้างละ ๑ เมตร)
           - โต๊ะวางวัตถุมงคลพร้อมปูผ้าขาว ขนาดโต๊ะสูงกว่าที่นั่งพระสงฆ์ตามสมควร
           - พลู ๗ ใบ ซ้อนกันสำหรับดับเทียนชัย
           - บาตรใส่น้ำมนต์สำหรับพระเกจิอาจารย์/พระเถระภาวนาจารย์นั่งปรก ครบทุกรูป
      
๑.๔ เครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์ในพิธีทั้งหมด

   
๒. ลำดับพิธี
       การกำหนดลำดับพิธีแต่ละพิธีนั้นอาจจะแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานที่และผู้ เป็นประธานในพิธี แต่ลำดับพิธีการปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ในที่นี้ขอนำกำหนดการพิธีมังคลาภิเษกพระบรมรูปจำลองสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช(ขณะนั้นเรียกพิธีมังคลาภิเษก) เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิมมาเป็นตัวอย่าง

    กำหนดการ
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีมังคลาภิเษกพระบรมรูปจำลองสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันเสาร์ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร
    เวลา ๑๔.๐๐ น.
    - ผู้ร่วมพิธีและผู้มีเกียรติพร้อมบริเวณท้องพระโรงชั้นนอก
    - พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป ขึ้นสู่อาสน์สงฆ์
   เวลา ๑๔.๐๕ น.
   - ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส ถึงบริเวณพิธี
   เวลา ๑๔.๑๐ น.
   - ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส ประธานมูลนิธิฯ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องเฝ้ารับเสด็จ
   เวลา ๑๔.๒๐ น.
   - สมเด็จพระสังฆราช เสด็จถึงบริเวณพิธี แล้วเสด็จไปประทับ ณ ที่รับ รองบริเวณท้องพระโรงชั้นนอก

   - ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วเข้าเฝ้า ถวายเครื่องสักการะ แด่สมเด็จพระสังฆราช
   - พระเถระประธานสงฆ์ให้ศีล จบ
   - ประธานมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวถวายรายงานแล้วกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชทรงเจิมและทรงจุดเทียนชัย
   - สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจิมและทรงจุดเทียนชัย (ประธานมูลนิธิ ถวายกระปุกแป้งเจิมและเทียนชนวน ขณะทรงจุดเทียนชัย พระสงฆ์เจริญคาถาจุดเทียนชัย พนักงานพราหมณ์ประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์)
   - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
   - ประธานมูลนิธิ จุดเทียนวิปัสสี เทียนมหามงคลและเทียนนวหรคุณ (ขณะพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ขึ้นบท พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ)
   - สมเด็จพระสังฆราช ทรงนั่งอธิษฐานจิต เจริญบริกรรมภาวนา
   - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ
   - ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส ถวายเครื่องไทยธรรมแด่สมเด็จพระ สังฆราช
   - ประธานมูลนิธิ ถวายเครื่อง ไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทั้ง ๑๐ รูป
   - พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส กรวดน้ำ
   - ประธานมูลนิธิ กราบทูลเชิญ เสด็จประพรมน้ำพระพุทธมนต์
   - สมเด็จพระสังฆราช ทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ และเสด็จกลับ       (ประธานมูลนิธิ และผู้เกี่ยวข้อง ส่งเสด็จ)
   - พระสวดภาณวาร ๔ รูป และพระเถระภาวนาจารย์ ๙ รูป เข้านั่งประจำ ที่
   - ประธานมูลนิธิจุดเทียนที่เครื่อง กระบะมุก และเทียนพุทธาภิเษกที่ขันสาคร ข้างตู้เทียนชัย
   - พระสวดภาณวาร สวดคาถาพุทธาภิเษก
   - พระเถระภาวนาจารย์ นั่งปรก จบ เวลา ๑๕.๒๙ น.
   - พระเถระภาวนาจารย์อาวุโส ประกอบพิธีดับเทียนชัย (พระสงฆ์เจริญ คาถาดับเทียนชัย)
   - ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสวดภาณวารและพระเถระภาวนาจารย์
   - พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำ   - เสร็จพิธี

ไม่มีความคิดเห็น: