วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

Wat Phra Tad Bunpuand

Wat Phra Tad Bunpuand

วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย

เป็นพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องใช้เข้าพิธีในสำนักพระราชวัง

คือสระมุจลินทร์ ซึ่งปัจจุบันกำลังจะพังถล่มลงมา พวกเราจึงปาวารนาตัวช่วยกันบูรณะสระน้ำสำคัญนี้และสร้างพระเจ้าทันใจประดิษฐานไว้หน้าพญานาคองค์เดิมที่บูรณะพรอมกันด้วย ช่วยกันด้วยนะครับ

ทั้งหมดจะทำให้เสร็จและฉลองในงานกฐินประมาณต้นเดือน9-10-11ตค.52นี้นะครับ

พระธาตุบังพวน หรือที่ถูกคือพระบรมธาตุบังพวน

ที่วัดพระธาตุบังพวน คือจากอุดรหรือขอนแก่นมุ่งหน้ามา จังหัวดหนองคาย พออีก ๑๐ กม. จะถึงหนองคายก็เลี้ยวซ้ายเข้าสาย ๒๑๑ วิ่งไป ๑๒ กม.ทางขวามือวัดพระธาตุบังพวน ซึ่งที่วัด (ปี ๒๕๔๐) ไม่มีประวัติพิมพ์เอาไว้จำหน่าย แต่กลับมาบ้านแล้วผมไปค้นได้ในห้องสมุดของผมเอง มีประวัติพระธาตุบังพวน พิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ขายราคาเล่มละ ๕ บาท ซึ่งหน้าแรกของหนังสือได้กล่าวไว้ว่า "มรดกอันล้ำค่าของชาติ" พระธาตุบังพวน (มีรูปพระธาตุ) วัดพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อายุก่อสร้างสองพันปีเศษ รุ่นพระธาตุพนม งานเทศกาลประจำปี เดือนยี่ เพ็ญ ๕ วัน ๕ คืน นักบุญ นักศึกษา นักปฏิบัติธรรม ไม่เคยพลาด นี่คือข้อความบรรยายภาพในหน้าแรกของหนังสือ ส่วนองค์พระธาตุนั้นดูรูปแล้วเก่าแก่ใกล้จะพัง และก็พังจริง ๆ เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ นั่นเอง (พระธาตุพนม ล้มเมื่อปี ๒๕๑๘) แค่ปัจจุบันองค์พระธาตุบังพวนและวัด ฯ ได้รับการบูรณะเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระธาตุพัง ไม่มีอีกแล้วคงมีแต่องค์พระธาตุที่สวยสง่าน่าไปชมไปนมัสการ เพื่อความศิริมงคลแก่ตัวเรา ประวัติความเป็นมาขององค์ พระธาตุมีดังนี้
ได้กล่าวกันว่าประวัติการก่อสร้างพระธาตุบังพวน ปรากฏอยู่ในหนังสือคัมภีร์ใบลาน ชื่ออุรังคธาตุ หรือ อุรังคนิทาน อันว่าด้วยการก่อสร้างพระธาตุพนมที่ จังหัวดนครพนม ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงท้าวพระยา ๕ พระองค์ คือ พระยาสุวรรณภิงคาน เมืองหนองหาร สกลนคร พระยาคำแดง เมืองหนองหารน้อย อุดรธานี พระยาจุลนิพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนี (ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตรนครเจ้าเมืองอินทปัตนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ ได้ทรงให้การอุปการอุปถัมภ์ พระยามหากัสสปเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ พระองค์ ทำการก่อสร้างพระธาตุพนมจนแล้วเสร็จ แล้วได้พร้อมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติต่อมา ครั้นกาลเวลาผ่านมา พระยาทั้ง ๕ สิ้นอายุขัย จุติมาเกิดเป็นมหารัตนกุมาร จุลรัตนราชกุมาร มหาสุวรรณปราสาทราชกุมาร จุลสุวรรณปราสาท และ สังขวิชัยราชกุมาร
ต่อมา กุมารทั้ง ๕ ได้บวชเป็นสามเณร ตามคำชักชวนของพระอรหันต์ ๓ องค์ คือ พระพุทธรักขิตเถระ พระธรรมรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระ ซึ่งทั้ง ๓ องค์เป็นศิษย์ของ พระมหากัสสปเถระ สามเณรทั้ง ๕ ได้บำเพ็ญสมณธรรม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ประพฤติดี ประพฤติชอบ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระอรหันต์ อาจารย์ ๓ องค์ และพระอรหันต์ ศิษย์อีก ๕ องค์ ได้เดินทางไปชมภูทวีป อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน ๔๕ องค์ มาประดิษฐานไว้ ณ สถานทั้ง ๔ คือ
๑. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุบังพวน ๒๙ องค์
๒. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุกลางน้ำ เมืองล่าหนองคาย ๙ องค์
๓. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุ (บุ) โพนจิก เวียงงัว ๓ องค์
๔. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ เจดีย์ห่อผ้าแพร ๔ องค์
๓ อาจารย์ เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว ก็เดินทางกลับสู่เมืองราชคฤห์ แห่งชมภูทวีป ๕ ศิษย์อรหันต์ ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปพำนักอยู่ใต้ร่มป่าแป้งบนภูเขาลวง อันเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุบังพวนในปัจจุบันนี้ ความที่ทราบถึง พระยาจันทบุรีประสิทธสักกะเทวะเมืองเวียงจันทน์ จึงตรัสสั่งให้แจ้งข่าวการกุศล และพระราชเทวี เมื่อได้ทรงทราบก็ทรงบริจาคร่วมในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระธาตุบังพวน
ในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครหลวงพระบาง ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้ทรงเสริมพระธาตุบังพวนให้ใหญ่โตและสูงขึ้น โดยก่ออิฐต่ออีก แล้วสร้างกำแพงรอบวัด สร้างซุ้มประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน ทรงสร้างที่ไหว้พระธาตุทั้ง ๔ ทิศ บริเวณพระธาตุสร้างอุโบสถ วิหารที่พระประธาน พระนาคปรก สระน้ำ บ่อน้ำ และทรงสร้างศิลาจารึกไว้ที่ข้างพระประธานในวิหาร สิ่งก่อสร้างที่กล่าวมานี้ยังเหลืออยู่และได้รับการบูรณะแล้ว

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ จังหวัดขอนแก่น มาทำการขุดแต่งโบราณสถานภายในบริเวณพระธาตุบังพวน ได้ทราบความยิ่งใหญ่ที่มีความสำคัญในทางพุทธศาสนา คือ "สัตตมหาสถาน" ซึ่งจำลองมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ดังกล่าวนี้พบในประเทศไทยเพียง ๒ แห่งคือ ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ กับที่วัดพระธาตุบังพวนนี้เท่านั้น และโดยเฉพาะที่พระธาตุบังพวนนับว่าสมบูรณ์ที่สุด คือมีครบทั้ง ๗ แห่ง อย่างสมบูรณ์ ที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ยังสมบูรณ์ไม่เท่า
สัตตมหาสถานจำลอง หมายถึง สถานที่อันมีความสำคัญยิ่ง ๗ แห่ง ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์ ได้เสด็จไปประทับ ณ สถานที่ต่าง ๆ เสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเกิดจากที่พระองค์พ้นกิเลส ๗ แห่ง ๆ ละ วัน
กลุ่มโบราณสถานที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณวัด สัตตมหาสถานจำลอง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระธาตุบังพวน เป็นกลุ่มเจดีย์กระจายในบริเวณดังกล่าวคือ
๑. โพธิบัลลังค์ อยู่ตรงกลางของหมู่เจดีย์ ก่อด้วยอิฐ เป็นทรงกลมเหมือนโอคว่ำ
๒. อชปาลนิโครธเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ในซุ้มมีพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๓. มุจจลินท์เจดีย์ เป็นวิหารมุงหลังคาไม่มีฝากั้น ภายในมีพระพุทธรูป ปางนาคปรก พญานาคมี ๙ เศียร ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อนาค ข้างๆเจดีย์มีสระมุจลินท์ สระดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อชาวจังหวัดหนองคายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากน้ำจากสระดังกล่าวถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เคยถูกนำเข้าพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบันเป็นประจำ


๔. ราชายตนเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ตอนบนมีซุ้ม มีพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๕. รัตนฆรเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ย่อมุมก่อด้วยอิฐสอปูน มีซุ้มและพระพุทธรูปปางสมาธิราบ
๖. อนิมิสเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ไม่มีซุ้มและพระพุทธรูป
๗. รัตนจงกลมเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ไม่มีซุ้มประตูและพระพุทธรูป ส่วนความสำคัญอันเป็นปูชนียสถานที่กล่าวมานี้ ยังไม่สามารถอธิบายความหมายที่แจ้งชัดได้
ข้อความในประวัติทั้งหมดนี้ได้แกะออกมาจากหนังสือประวัติพระธาตุบังพวน เพราะหากไม่แกะแล้วคงต้องลอกเอามาทั้งเล่มจึงจะพอรู้เรื่อง ใช้ถ้อยคำโบราณ ๆ อ่านไม่ค่อยเข้าใจ ลองอ่านดูสำนวนในหนังสือสักนิด " เมื่อทรงจีวรเรียบร้อยแล้ว (หมายถึงพระพุทธองค์ ผู้เขียน) ก็ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก เสด็จลีลามาทางอากาศ มีพระอานนท์เป็นปัจนาสมณะติดตาม ครั้นถึงแล้วก็เสด็จประทับที่ "ดอยกอนเนา" นั้นก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: