วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

มาฆปุรณมีบูชา

วันมาฆบูชา “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “
” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3” ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ในปีอธิกมาส) 1 : วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งในวันนั้นถือว่า เป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 เนื่องจากมี "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช) 2 : ประทานโอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์"อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา แก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย "โอวาทปาฏิโมกข์" แปลว่า คำสอน เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ โดยพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้ 1.-พระพุทธพจน์คาถาแรก-ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา" ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท 2.-พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง โอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถาของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น 3.-พระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย-ทรงกล่าวถึง หลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร การไม่ทำร้ายใคร การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด ……………………………………………………………………………………………………… หัวใจพระพุทธศาสนา โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (ปี พ.ศ. 2548) พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธศาสนา" เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่ายๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลี คือ "โอวาทปาฎิโมกข์" หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่ายๆ สั้นๆ ว่า "เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์" ภาษาพระหรือภาษาบาลีว่า..... " สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ " แปลให้เต็มเลยว่า "การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพรียบพร้อม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" คำลงท้ายว่า "นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ทำให้เราคิดว่านี่แหละเป็นคำสรุป แสดงว่าเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ เราก็เลยเรียกว่า "หัวใจ" มาเป็นจุดเริ่มต้น แต่กระนั้นชาวพุทธผู้ได้ฟังพระสอนมามาก ๆ พระอาจารย์หรือพระเถระผู้ใหญ่บางท่านพูดถึงหลักการอื่นว่า อันโน้นสิ อันนี้สิ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา บางทีโยมก็ชักงง จึงขอยกเอาเรื่องนี้มาพูดว่าอะไรกันแน่ที่เรียกว่าเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา บางท่านบอกว่า "อริยสัจสี่" เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร.. พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่ง มีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่ (จตูสุ อริยสจฺเจสุ ติปริวฎฺฎํ ทวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ) มีญาณทัศนะที่มีปริวัฎ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจสี่ เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า ได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้น จึงปฏิญาณได้ว่า ตรัสรู้ หมายความว่า ตรัสรู้อริยสัจสี่ครบ ๓ ด้าน คือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจสี่แต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปทุกข้อเรียกว่า ๓ ปริวัฎ อธิบายว่า..... รู้ในอริยสัจสี่แต่ละอย่างเริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อทุกข์ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์นั้นเราได้ทำแล้ว ถ้ายังไม่รู้อริยสัจด้วยญาณทัศนะครบทั้ง ๓ ในแต่ละอย่าง (รวมทั้งหมดเป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒) ก็ยังไม่สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ต่อเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจ โดยมีญาณในอริยสัจแต่ละข้อครบทั้ง ๓ รวมเป็น ๑๒ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ และการตรัสรู้อริยสัจสี่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจสี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

14กพ.64 วันแห่งความรัก

 ❤







14กพ.64 วันแห่งความรัก
กิจกรรมสุดท้ายของการทำบุญปีใหม่ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ คือการไปทำความสะอาดบ้านให้ผู้พิการ กว่าสามชั่วโมงที่เรามาทำความสะอาดให้บ้านคุณยายท่านนี้ เธอไม่มีญาติพี่น้องในเมืองไทยเลย อยู่ตัวคนเดียว เดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่มาทำงานเมืองไทยตั้งแต่สาวๆเป็นเวลาหกสิบกว่าปีที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่แห่งนี่ คุณยายเป็นคนใจดี ชอบช่วยเหลือผู้คน ยิ้มแย้มแจ่มใส เคยทำงานเป็นระดับหัวหน้าในโรงงานสิ่งทอใหญ่แห่งหนึ่งแต่ประสบอุบัติเหตุจนพิการ ผ่าตัดหลายครั้งแต่ก็ไม่หาย ปัจจุบันต้องใช้เครื่องช่วยเดินจึงพอได้อยู่บ้าง วันๆก็อยู่แต่บ้านเป็นห้องเล็กๆที่เห็นในภาพ ทำอาหารซักผ้าฯเองก็ลำบาก พวกเรามาทำความสะอาดบ้านให้คุณยายสามชม.กว่า เอาขยะออกไปทิ้งน่าจะกว่ายี่สิบถุง เช็ดฝุ่นที่คงไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นสิบๆปีออกไปมากทีเดียวทั้งเก็บขยะออก กวาดถูในห้องนอนและห้องน้ำ ซื้อตู้เย็น กาต้มน้ำ ชั้นวางของสองอัน ตู้อีกหนึ่งตู้ กะละมังสองใบ เสื้อผ้าชุดใหม่ ผ้าเช็ดตัว อาหารแห้งฯ ให้ใหม่หมดในวันแห่งความรักและตรุษจีนนี้ เพื่อเป็นการแบ่งปันความรักความปรารถนาดีของเราให้คุณยายในวันแห่งความรักนี้
คนแถวนี้เรียกแก่ว่าอาม่า อาม่าบอกพวกเราว่าไม่ต้องมาทำให้หรอกเพราะเกรงใจพวกเรา บอกว่าทำเองได้ แต่ดูจากสภาพคงทำไม่ไหวแน่ๆ เสื้อผ้าจะซักจะทำยังยากเลย เสื้อผ้าจานฉามทิ้งไว้ไม่ได้ล้างไม่ได้ซักก็มี ในห้องเต็มไปด้วยขยะและแมลงสาบ นอกห้องก็มีขี้แมวเหม็นมากๆต้องกวาดเอาไปทิ้งหลายถุงเลย ห้องน้ำก็รั่วซึม จนน้ำซึมออกมานอกห้อง ที่บริเวณหัวเตียงยังมีน้ำซึมมาตามพื้นให้เห็นเลย ของทุกอย่างต้องเอาอิฐมาวางไว้กันไฟช็อตด้วย เห็นเจ้าหน้าที่อนามัยขอร้องให้เราเทปูนทำพื้นให้แกใหม่ (คงต้องเป็นรอบหน้าแล้วครับ)จะกลับไปพิจารณาหาทางทำให้อาม่านะครับ
หลังทำความสะอาดเสร็จ(สำหรับวันนี้) จะให้เสร็จจริงๆคงต้องอีกหลายๆครั้งครับ ท่านอาจารย์ฐาเขามาคุยกับอาม่าสอนธรรมะเล็กๆน้อยๆและมอบของขวัญให้ ก่อนกลับท่านบอกให้พวกเราฟังว่า ให้ดูอาม่าเป็นตัวอย่าง เป็นใครอยู่สภาพอาม่าก็คงต้องเป็นทุกข์แน่ๆ แต่ดูอาม่ายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น ผิดกับพวกเราบางคนสภาพความเป็นอยู่ดีกว่าอาม่ามากๆแต่หน้ายิ้มไม่ออก อมทุกข์ไว้เต็มไปหมด หวังว่าเมื่อเห็นอาม่าแล้วทุกคนคงได้คิด และรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสุข และสามารถแบ่งปันความสุขนั้นให้ผู้อื่นบ้างต่อๆไป ดังเช่นพวกเราที่ได้มาทำในวันนี้ ท่านว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่กัลยาณมิตรทำให้แก่กัน เป็นญาติธรรมที่อาจดียิ่งกว่าญาติแท้ๆ เพราะเป็นญาติทางธรรม มาด้วยธรรม ทำด้วยธรรมในใจ
- ความรักจากใจสู่ใจ มีธรรมะประจำใจ จาก ญาติธรรม-
ขอความสุขความเจริญยิ่งในธรรมจงมีแด่พวกท่านทุกๆคนด้วยเถิด
ด้วยความรัก ความปรารถนาดีจากใจ

ทำไมต้องภาวนา?

 


ภาวนา ณ พระธุตังคเจดีย์
หลังทำบุญถวายจังหัน รับฟังธรรมโอวาท ปล่อยปูแล้ว ท่านอาจารย์ฐา พาคณะเรามานั่งภาวนาที่พระธุตังคเจดีย์
บรรยากาศ ในสงบเย็นสบาย ก่อนจะไปทำทานต่อที่บ้านพักคนพิการต่อไป
ทำไมต้องภาวนา?
ขณะที่พวกเราหลายคนมาทำบุญ บางครั้งใจเราอาจไม่ได้อยู่กับบุญตรงหน้า ใจเราออกไปเที่ยวเสียที่อื่นๆ ธรรมโอวาทที่ฟังก็อาจลืมเลือนไป ปู-ก็ได้แต่เป็นเพียงกิจกรรมสำหรับถ่ายรูปให้คนอื่นๆดูว่าฉันเป็นคนดีนะ หรือบางคนมาร่วมกิจกรรมแต่ตัว ใจลืมเอามาด้วย หรืออาจส่งใจไปกับโทรศัพท์มือถือเสียแล้ว!!!
เมื่อมีเวลาเราจึงต้องมาหยุดพิจารณาหันมามองใจของตัวเองบ้าง รู้จักใครรู้จักอะไรก็ไม่เท่ารู้จักใจตนเอง ครูบาอาจารย์ท่านจึงให้เรามาใช้เวลาพิจารณาใจตน
แล้วนั่งหลับตาจะได้อะไร? ก็ใจที่วิ่งไปวิ่งมา จะได้มีโอกาสพักบ้าง สงบลงบ้าง รถยนต์ที่วิ่งเร็วๆ คนในรถจะมองอ่านป้ายตัวหนังสือข้างทางให้เห็นชัดๆเข้าใจถูกต้องได้ยากฉันใด ใจดวงนี้ ที่วิ่งซุกซนไปมาจะมีเวลาเข้าใจตนเองได้อย่างไร รถยนต์ที่จอดหรือเคลื่อนไปช้าๆ คนในรถก็จะมองเห็นป้ายเห็นตัวหนังสือข้างทางเห็นอะไรๆได้ชัดเจน เหมือนใจที่นิ่งสงบมองเห็นจิตใจตนเองเห็นความคิดตัวเองได้กระจ่างขึ้นฉันนั้น
เห็นไปทำไม?
ก็ในใจเรา ก่อนจะมีการกระทำทางวาจา-พูด ทางกาย-กระทำใดๆ ก็ต้องเริ่มที่ใจก่อน แต่ใจเรามีสิ่งแปลกปลอมคอยย้อมอยู่ ได้แก่ สิ่งดีๆเช่นกุศล หรือสิ่งไม่ดี-กิเลส เมื่อเรามีโอกาสเห็นใจเราได้ชัดๆเราจะได้เข้าใจว่า-คำพูดที่ออกมาจากปากเรา หรือการกระทำที่เราแสดงออกนั้น ถูกสั่งให้กระทำด้วยใจที่เป็นบุญกุศลหรือใจที่ประกอบด้วย กิเลส-ความโลภ-ความโกรธ-ความหลง เพียงใจสงบนิ่งลงบ้างเราก็เข้าใจตนเองได้มากขึ้นแล้ว ตอนนี้เราจะจะเลือกได้ง่ายขึ้นแล้วซินะว่าเราจะทำในสิ่งดีๆ หรือ.... ต่อไป
ขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านที่ให้ความสำคัญในพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาและนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันนะครับ .....สังคมเราคงดีกว่านี้แน่....
กราบอนุโมทนาบุญ



*ปล่อยปูปล่อยชีวิตให้พ้นพันธนาการ*

 



14 กพ. วัดฮโศการาม




*ปล่อยปูปล่อยชีวิตให้พ้นพันธนาการ*
ในวันทำบุญปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์นี้ พวกเรามาปล่อยปูกันอีกครั้งหนึ่ง อาจไม่มากเหมือนปีก่อนๆแต่ก็ได้ปล่อยปูคืนอิสรภาพและพ้นพันธนาการที่ผูกมัดอยู่จนแขนขาขยับเขยื่อนไม่ได้เลย .... ถ้าเป็นเราบ้างจะทนไหวไหม?
การปล่อยปู-เป็นการเจริญเมตตาธรรม ให้พัฒนาจิตใจของตัวเรา เพราะใจที่สามารถที่คิดได้ว่าเหล่าสรรพสัตว์นั้นล้วนตกอยู่ในความทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งสิ้น จนทำให้เราอย่างจะปลอดปล่อยพวกเขาให้พ้นทุกข์นั้น เป็นการพัฒนาความรักความเมตตาในใจได้อย่างดียิ่ง .....ปูจึงอาจเป็นตัวอย่างที่ดีให้เราคิดพิจารณาได้บ้าง!
-ปล่อยปู-ปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกนำไปฆ่า ถูกมัดทรมาน-ให้มีชีวิตอิสระได้อีกครั้ง
-ปู*ใยมิใช่ดังเช่นตัวเรา- เราเองก็มีเชือกที่มองไม่เห็นมัดตัวเราอยู่ อย่างยากที่จะดิ้นหลุดไปได้
-เชือกแต่ละเส้นๆ-ชื่อเสียง-ลาภยศ-สรรเสริญ-ครอบครัวฯ ล้วนเป็นเชือกที่ผูกมัดเราอยู่ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ว่าเป็นกิเลส-ตัญหา-อุปาทาน เป็นเชือกที่มัดหมู่สัตว์ให้ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานดังเช่นปูที่เราปล่อยในวันนี้ ท่านทรงแนะนำให้ใช้ เครื่องมือ คือ ปัญญาที่คมยิ่งกว่ากรรไกรตัดเชือกให้ขาดเสียดุจเราตัดเชือกให้ปูในวันนี้ ให้ใช้วิธีการได้แก่ทางสายกลางที่สรุปลงที่
-ทาน-สละออก/ลดอัตตาตัวตนออกไป
ศีล-ไม่สร้างทุกข์โทษเวรภัยต่อตนเองและผู้อื่น
ภาวนา-มีสติมีสมาธิมีปัญญาพิจารณาในธรรมให้เห็นในสัจจะทั้งสี่
ดังนี้เราจึงจะพ้นจากชีวิตที่เวียนวนในวัฏฏะนี้ พ้นจากพันธนาการจากเชือกที่มองไม่เห็นนี้ได้
-ขอบุญกุศลทั้งหลายทั้งมวลที่เราได้ร่วมกันกระทำมาโดยตลอดนี้
จะนำเราไปสู่การปลดปล่อยให้เราทั้งหลายหลุดพ้นจากพันธนาการ ทั้งหลายทั้งปวงด้วยเถิด-
*** สัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ ***
ด้วยรักและปรารถนาดีจากใจ
ฐิตรโส

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เยี่ยมเยียน และ แบ่งปัน

 การเยี่ยมเยียนและแบ่งปัน

 ในสังคมที่เราอยู่อาศัยแห่งนี้มีผู้คนอยู่ร่วมกับเรามากมาย บ้างก็มั่งมีบ้างก็ยากจน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความเมตตานั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น เพื่อนๆหลายๆคนมักจะบ่นเสมอๆว่าตัวเองนั้นโชคไม่ดีเหมือนคนอื่นเขา เพราะเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เขามีมากกว่าเราไม่ว่าจะเปรียบเทียบทางวัตถุ เงินทอง ฐานะ ชื่อเสียงฯลฯ สิ่งเหล่านี้แต่ละคนหามาแตกต่างกัน บ้างก็มีทุนเดิมที่ดี บ้างมีโอกาสที่ดี แต่หลายๆคนก็ทุ่มเทเสียสละกายใจมาไม่น้อยกว่าจะได้มา นิ้วในมือเราก็ยังไม่เท่ากัน แต่ก็ทำงานด้วยกันได้อย่างดี แต่ละคนมีดีมีด้อยในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเสียใจที่ไม่เหมือนเขา เมื่อมีเวลาลองมองลงมาดูผู้คนที่เขาด้อยโอกาสกว่าเราบ้าง แล้วเราจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย

 ในสังคมที่เราอาศัยอยู่นี้ มีอีกกลุ่มคนที่ยังลำบากกว่าเรามากนัก วันนี้เรามาคุยกันเรื่องผู้คนกลุ่มนั้นกัน  กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง-ติดบ้าน ที่มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเลยในสังคมนี้ บางคนพอช่วยตัวเองได้บ้าง แต่อีกหลายๆคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องมีผู้อื่นคอยดูแล รอรับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆเกือบทุกเรื่อง  หลายๆคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของเขา เป็นกรรมของเขาแล้วก็ปล่อยผ่านไป ซึ่งก็อาจมีจำนวนมากที่คิดเช่นนั้นในสังคมยุคปัจจุบันที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาและจำเป็นต้องเอาตัวเองให้รอดให้ได้ก่อน  แต่พวกเราจำนวนมากที่มีพอจะแบ่งปันให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจ ข้าวของเงินทองเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เขาสามารถมีชีวิตต่อไปได้หรืออาจทำให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม สังคมที่เราอยู่นี้ก็คงจะอบอุ่นสวยงามน่าอยู่มากยิ่งขึ้น 

 ในสังคมที่เราอยู่นี้มีผู้คนมากมายที่มีปัญหา อุปสรรคในชีวิตหลากหลายรูปแบบที่กำลังเผชิญอยู่ จนบางคนแทบทนไม่ไหว จนต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนทั้งกายและใจ แต่ปัญหาของเรานั้นหนักหนาสาหัสจริงๆแล้วหรือ?  เมื่อเทียบกับพี่น้องผู้ป่วยกลุ่มนี้ เขาลำบากกว่าเรามากเพียงใด การได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน แบ่งปันให้พวกเขา จะทำให้เรารู้สึกใด้ถึงกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะเรายังมีต้นทุนที่สำคัญอยู่ นั้นคือร่างกายและจิตใจนี้ เรายังช่วยเหลือตัวเองได้ เรายังมีความรู้ความสามารถมากมายที่จะต่อสู้ชีวิตนี้ต่อไป ภาพที่เราเห็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าเรานั้นสอนเรามากมาย บางท่านไม่สามารถแม้แต่จะทานอาหาร ขับถ่าย ขยับเคลื่อนไหวตัวเองทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นทั้งสิ้น เทียบกับเราแล้ว ความทุกข์ที่เราเผจิญอยู่นั้นจะรู้สึกเบาลงมากมาย จนรู้สึกว่าอยากจะวางเรื่องของตนเองไว้ก่อน และมาทำประโยชน์อะไรก็ได้แม้เพียงเล็กน้อยให้กับเขาเหล่านี้ เพื่อที่จะมอบความสุขให้กับเขา ด้วยความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีจากใจของเรา อาจเปรียบเสมือนละอองน้ำไม่กี่หยดที่ตกลงบนต้นไม้ที่แห้งผากขาดน้ำมาเป็นเวลานาน ผู้คนเหล่านี้ในสังคมถ้าได้รับความช่วยเหลือจากพวกเราได้บ้าง คนละเล็กคนละน้อย ก็จะทำให้ผู้คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานเหล่านี้มีความสุขมากขึ้น สังคมที่เราอยู่ก็คงสวยงามน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 ในสังคมนี้ยังมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เสียสละดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ญาติมิตร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อนามัย และเจ้าหน้าที่ อสม. ที่เสียสละให้ความเอาใจใส่ดูแลพวกเขา แต่ทุกๆคนก็คงต้องมีข้อจำกัดกันบ้าง จึงขอเรียนเชิญเพื่อนๆ ที่มีใจเมตตา เสียสละแบ่งปันเวลาเล็กๆน้อยๆมาเยี่ยมเยียนและแบ่งปันพวกเขาบ้างนะครับ ในแต่ละครั้งเราอาจไปเยี่ยมเยียนได้ไม่กี่คนเพราะคงจะเป็นการไม่สะดวกกับพวกเขานะครับ แต่เราอาจนัดกันแบ่งปันวันเวลาที่จะมอบความรักมอบความสุขให้พวกเขาได้นะครับ

 ปีใหม่นี้ 14กพ.เรามีงานเลี้ยงปีใหม่ประจำปีของมูลนิธิฯ เช้าเราไปทำบุญที่วัดอโศการาม เสร็จแล้วก็ปล่อยชีวิตสัตว์เป็นทาน ตามด้วยเลี้ยงอาหารและมอบของขวัญให้ผู้พิการที่บ้านศิริวัฒนา บางปู เที่ยงๆก่อนรับประทานอาหารร่วมกัน เราจะแวะไปมอบของขวัญสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและเจ้าหน้าที่รพ.สต.พุทธรักษา  ทานอาหารกลางวันเสร็จเราจะไปเยี่ยมคุณยายที่บ้าน ช่วยกันทำความสะอาดบ้านและมอบของขวัญปีใหม่ให้ท่านก่อนจะลากลับกันนะครับ

ปล. เพื่อนๆที่จะไปร่วมทำความสะอาดบ้านคุณยาย กรุณาติดเครื่องมือทำความสะอาดส่วนตัวไปด้วยนะครับ ที่บ้านคุณยายไม่ค่อยจะมีอะไรให้ใช้นะครับ!!!....




"โลกอยู่ได้ด้วยเมตตา
คือความเอ็นดูสงสารกัน
ทุกตัวสัตว์ที่มีชีวิตครองตัวอยู่
ไม่พึงเบียดเบียนทำลายกัน
ด้วยความโกรธแค้น
หรือด้วยความเห็นแก่ปากแก่ท้อง
ซึ่งไม่มีประมาณแห่งความอิ่มพอ
และไม่มีทางสิ้นสุดแห่งการทำลายกัน
พระพุทธเจ้าทรงเห็นโทษของมัน
ด้วยพระปัญญาอันแหลมคม
ไม่มีทางสงสัย
และทรงเห็นคุณในความเมตตาว่า
เป็นธรรมอ่อนโยน
และสมัครสมานรักใคร่ไมตรีต่อกัน
ระหว่างสัตวโลกทุกชั้นทุกภูมิ
ซึ่งมีความรักสุข เกลียดทุกข์เสมอหน้ากัน
จึงประทานไว้เพื่อความมั่นคง
แห่งสันติสุขแก่โลกตลอดกาลนาน
หากเมตตาธรรม
ยังมีอยู่ในใจของสัตว์โลกอยู่ตราบใด
โลกยังจะมีหวังความสุข
ความสมหวังอยู่ตราบนั้น
แต่ถ้าเมตตา
ได้ห่างเหินจากใจของสัตว์โลกกาลใด
กาลนั้นแม้สัตว์โลกจะมีความอุดมสมบูรณ์
ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิด
อย่างพึงพอใจก็ตาม
แต่จะไม่มีความสงบสุขตกค้าง
อยู่ในวงสัตว์โลกนั้นๆเลย
ส่วนที่ได้รับจะมีแต่ความเดือดร้อนขุ่นเคือง
ไปทุกหย่อมหญ้า"
+++++
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ