ในช่วงเวลาขาลงของชีวิต พวกเราบางคนกำลังค้นหาหนทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามที่ต้องการอยู่ บทความนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เราได้ข้อคิดอะไรดีๆในการใช้ชีวิตต่อไป อ่านแล้วคิดถึงคำครูบาอาจารย์ที่ให้มองภายนอก แล้วพิจารณาย้อนเข้ามาดูภายใน เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ตัวเอง เข้าใจให้ได้ว่า สิ่งยิ่งใหญ่คือใจนี้เอง เราจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจดวงนี้นี่เอง และความสุขพื้นฐานที่แท้จริงของมนุษย์คือการเสียสละตนทั้งกายและใจนี้เพื่อสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นการพัฒนาจิตใจของตนเอง เพิ่อสามารถพบความสุขในใจของตน ดังเช่น CEO - John Donahoe
เมื่อ CEO Nike หยุดงานไป 1 ปีหลังจาก หมดไฟในการทำงาน และต้องการค้นหาคำตอบให้ชีวิต เราลองมาคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราสามารถหยุดงานได้ 1 ปี เราจะเอาเวลานั้นไปทำอะไร
John Donahoe ซึ่งปัจจุบันคือ CEO ของ Nike เคยอยู่ในจุดที่ทำงานแบบ Non-stop มา 30 ปี และก้าวไปถึงการดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทติดต่อกัน (PayPal, eBay, ฯลฯ) จนเขารู้สึก เบื่อจากการทำงาน
ไม่ใช่แค่ระดับ CEO นะครับ พนักงานทุกคนเป็นได้เหมือนกันหมด
เขาต้องการที่จะ “หยุด”
.
“หยุด” ในที่นี้หมายถึงหยุดไปสำรวจตัวเองหนึ่งปี แล้วจะกลับมาคิดอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิต
ผมคิดว่าเราหลายคนก็คงเคยอยู่ในภาวะคล้ายๆ แบบนี้ เหนื่อย ตะบี้ตะบันทำงานจนไม่ได้กลับมาสำรวจตัวเองว่าต้องการอะไรกับชีวิต หรืองานเอาเวลาของเราไปหมดจนรู้แต่เรื่องงาน แต่เรื่องเดียวที่ไม่รู้คือเรื่องของตัวเองและก็คงอยากหยุดพักนิ่งๆ
John Donahoe ตอนที่อายุ 55 ปี ตัดสินใจหยุดงานหนึ่งปี และใช้เวลาระหว่างหยุดนั้นไปกับการเดินทางไปพูดคุยกับผู้คนมากมายเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต อะไรคือการใช้ชีวิตที่ทำให้เรายังมีความหมาย เขาเรียกการเดินทางครั้งนั้นว่า “Wisdom Tour” ครับ
แล้วเขาได้คำตอบอะไรกลับมา
1. John Donahoe บอกว่า เขานึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า ตอนที่เขาอายุ 65
วิธีการหาคำตอบของเขาก็คือ งั้นลองไปคุยกับคนที่อายุ 65+ ว่าเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรให้มีคุณค่า เมื่อ John Donahoe ได้คุยกับคนอายุมากกว่าเขา ซึ่งหลายคนเกษียณมาแล้วหลายปีด้วยซ้ำ แต่คนเหล่านั้นมีความสุข ยังเต็มไปด้วยพลังและไม่เคยหยุดนิ่ง และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า บทสนทนากับผู้อาวุโสกว่าทำให้เขาเรียนรู้ว่า-“บทเรียนข้อแรกที่ผมได้คือ ทัศนคติสำคัญที่สุด”
“เมื่อเราแก่ลง ผมเราจะหงอกและร่วง เข่าเราจะเสื่อม และมีสัญญาณมากมายที่บอกเราว่าเราไม่เหมือนเดิมแล้ว เราทุกคนเป็นแบบนั้น แต่สมองของเราไม่จำเป็นต้องแก่ตามไปด้วย”
มีคำพูดหนึ่งของ Jim Collins นักเขียน หนึ่งในบุคคลที่เขาได้มีโอกาสคุยอย่างจริงจังในช่วงหนึ่งปีแห่ง Wisdom Tour ที่ John จำได้ไม่ลืม เขาบอกว่า
“ตอนที่คุณอายุ 50-60 หรือ 70 ควรเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะช่วงนั้นคุณมีภูมิปัญญา มีประสบการณ์ชีวิตแล้ว และคุณยังมีอิสระที่จะเอาภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณไปใช้ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ”
เห็นวิธีคิดของเขาไหมครับ แทนที่จะมองว่าอายุที่มากขึ้นเป็นความร่วงโรย แต่เขาเปลี่ยนใหม่เป็นมองว่าอายุมากขึ้นเท่ากับมีประสบการณ์มากขึ้น สะสมภูมิปัญญามาได้เยอะขึ้น และสามารถเอาไปใช้ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำได้ก็ได้ ไม่ได้มองว่าวัยเป็นอุปสรรค
เราจะเป็นแบบไหนอยู่ที่ทัศนคติของเราเลยครับ ให้ทัศนคติที่ดีนำทางเรา
ความเหี่ยวก็แค่ “ริ้วรอยทางประสบการณ์” แต่ชีวิตที่ปราศจากประสบการณ์นี่สิ...น่าเสียดายเวลาที่ผ่านมานะครับ
เอาน่า...เราทุกคนก็ต้องมีอายุมากขึ้นกันทั้งนั้น แทนที่จะบอกว่าตัวเอง “แก่ขึ้น” ให้ลองบอกตัวเองว่า เรากำลัง “มีประสบการณ์มากขึ้น” และ “มีภูมิปัญญา” มากขึ้น --- มีกำลังใจขึ้นมาทันที
แต่ถ้าอายุมากขึ้น แต่ดันไม่มีประสบการณ์กับภูมิปัญญา ทีนี้ล่ะ...เหลือแต่ความแก่อย่างเดียวแล้วนะครับ
ลองสนุกกับตั้งโจทย์การใช้ชีวิตในวันที่อายุมากขึ้นใหม่ว่า
เราจะใช้ชีวิตในแบบที่ถ้าตัวเราในวัยเด็กกว่านี้มาเห็นแล้วต้องบอกว่า “เฮ้ย! พี่โคตรเจ๋งเลยว่ะ”
แล้วเดี๋ยวลองดูสิครับว่า เราจะพาชีวิตไปอยู่จุดไหน
2. บทเรียนต่อมาที่เขาได้เรียนรู้ใน Wisdom Tour ก็คือ หนึ่งในวิธีการที่ช่วยรักษาพลังงานในชีวิตให้แอคทีฟอยู่เสมอก็คือ การอยู่กับคนรุ่นใหม่หรือคนที่อายุน้อยกว่าเราบ้าง
John Donahoe เล่าว่าผู้อาวุโสท่านหนึ่งบอกเขาว่า “รู้ไหมว่าผมทำอย่างไรถึงได้ยังมีชีวิตชีวาแบบนี้ เพราะผมเอาตัวเองไปอยู่กับคนที่เด็กกว่า เวลาที่ผมไปตีกอล์ฟกับคนรุ่นเดียวกัน สิ่งที่เราทำคือการบ่นว่าวงสวิงเราไม่ได้เรื่องเลย หรือไม่ก็แข่งกันโม้ว่าไวน์แดงที่ดื่มมาเมื่อคืนของใครเจ๋งกว่ากัน ซึ่งนั่นทำให้ผมรู้สึกแก่มาก ผมเลยชอบอยู่กับคนที่อายุน้อยกว่า”
John บอกว่า วิธีการที่ผู้อาวุโสเหล่านี้ทำเพื่อเอาตัวเองไปอยู่กับคนที่เด็กกว่าคือ การไปเป็นโค้ชหรือเมนทอร์ให้กับคนรุ่นใหม่ และการสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีคนรุ่นใหม่อยู่ในทีม มันคือการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์กัน คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากคนรุ่นเก่า ขณะเดียวกัน คนรุ่นเก่าก็เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ ยิ่งเปิดโลกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ทุกคนได้ประโยชน์หมด
และกลับไปที่เรื่องเดิมครับว่า ให้ทัศนคติที่ดีนำทางให้เรา นั่นแปลว่า เราก็ต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่างระหว่างเรากับคนรุ่นใหม่ ถ้าเราคิดว่าตัวเองเจ๋งแล้ว แน่แล้ว น้ำเต็มแก้วแล้ว เราก็จะไม่เปิดรับความคิดเห็นหรือไอเดียดีๆ ที่คนรุ่นใหม่มีแล้วเป็นประโยชน์
สิ่งที่ผมคิดว่าซ่อนอยู่ในบทเรียนที่เขาบอกก็คือ เอาตัวเองไปอยู่กับคนที่แตกต่างกับเราบ้างเพื่อเรียนรู้จากเขา และเราเองก็อาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่แตกต่างกับเราได้เหมือนกัน
ที่สำคัญ เอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เรามีพลังดีๆ อยู่ตลอด เราจะได้รับพลังนั้นไปด้วย คำถามก็คือ สิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่เป็นแบบไหนครับ
และสิ่งแวดล้อมนั้นกำลังบ่มเพาะให้คุณเป็นคนแบบไหน
ใช่คนแบบที่คุณอยากเป็นอยู่ไหมครับ
3. บทเรียนข้อที่สามที่เขาได้รับก็คือ การสร้างความหมายให้กับสิ่งที่เราทำอยู่ให้กลายเป็นสิ่งสำคัญ แล้วเราจะมีแรงผลักดันในการทำมันให้มีความหมายได้
“หาสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย และสร้างผลกระทบในทางที่ดีให้กับคนอื่น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ทำทุกสิ่งที่เราทำอยู่ให้เป็นสิ่งที่มีความหมาย”
หลังจากหยุดพักไป 1 ปี หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจรับตำแหน่งเป็น CEO ที่ Nike ทั้งที่เขาเองโตมากับการเป็น CEO ในบริษัทสายเทคโนโลยีมาตลอดก็คือ - เขารู้สึกว่าโลกในขณะนี้เต็มไปด้วยการแบ่งแยก กีฬาเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่หลอมรวมให้คนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะในระดับประเทศ ระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคนที่แตกต่างกันสุดขั้วก็สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้เมื่อมีกีฬา - เพราะฉะนั้น เขารู้สึกว่า นี่เป็นเวลาที่โลกต้องการกีฬามากกว่าช่วงเวลาไหน ๆ ในประวัติศาสตร์
นั่นคือการหาความหมายให้กับงานที่ทำอยู่ งานที่เขาทำอยู่ไม่ได้ขายอุปกรณ์กีฬา แต่เขากำลังทำงานเพื่อทำให้กีฬาหลอมรวมสังคมที่แตกแยกให้กลายเป็นสังคมที่ดีขึ้น เขาไม่ได้เป็น CEO ที่ขายรองเท้ากีฬา แต่เป็น CEO ของบริษัทที่เชื่อว่าจะใช้การเล่นกีฬาทำให้โลกดีขึ้นได้
ระหว่างคิดว่าจะขายรองเท้าอย่างไรให้ได้มากกว่าเดิม กับคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเล่นกีฬามากขึ้น สังคมจะได้แตกแยกน้อยลง โลกจะได้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่าแรงผลักดันในการอยากทำงานของเราคงต่างกัน
แบบแรกทำให้เราตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่า ฉันตื่นมาขายรองเท้า
แบบที่สองทำให้เราตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่า ฉันตื่นมาทำให้โลกดีขึ้น
จะเป็นเรื่องไหนก็ตามที่เราทำอยู่ ถ้าเราใส่ความหมายให้มัน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะใส่ใจ ตั้งใจ และทำมันให้ออกมาดี
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึก Burnout ก็เพราะเขารู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความหมาย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญในที่ทำงาน ไม่รู้ว่าทำงานไปเพื่ออะไร แต่ถ้าเราให้ความหมายกับการตื่นขึ้นมาทำงานของเราว่า เรากำลังตื่นขึ้นมาด้วยเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ทำมันไปเพื่อให้ผ่านไปอีกวัน
แต่ละวันเราคงตื่นขึ้นมาแล้วมีความหมายนะครับ
4. ประเด็นสำคัญของบทความนี้คงไม่ได้อยู่ที่ว่า ให้เราหยุดงานไปหนึ่งปีเพื่อไปหาคำตอบให้ชีวิตนะครับ เพราะเอาเข้าจริง แต่ละคนคงมี “เงื่อนไข” ในชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งทำให้การที่จะหยุดงานไปหนึ่งปีโดยไม่มีรายได้เข้ามาเลย แล้วยังอยู่ได้เป็นไปได้ยาก (ถ้าทำได้แปลว่าต้องวางแผนทางการเงินมาดีมากจนมี Passive income มากพอเลยล่ะครับ --- ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่าทำ และถ้ามีเป้าหมายกับวินัยที่ดีก็เป็นไปได้)
แต่สิ่งที่ผมชอบวิธีของ CEO Nike ก็คือ การที่เขาไปคุยกับคนมากมายเพื่อหาคำตอบที่เขาสงสัยในชีวิต เพื่อเรียนรู้ว่าแต่ละคนได้บทเรียนอะไรจากการใช้ชีวิตบ้าง และเอาบทเรียนจากคนอื่นที่เขาได้รับมาจากบทสนทนานั้นกลับมา “สำรวจ” ตัวเอง นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อว่า ทุกคนมีเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ และเราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้
งานของผมในฐานะนักสัมภาษณ์มีสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมาก นั่นคือการได้มีโอกาสไปนั่งคุยกับคนที่มีประสบการณ์ชีวิตจากหลากหลายวงการ เพื่อสำรวจว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง เขาผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไร และที่สุดแล้วเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์ที่ส่งต่อให้คนอื่นได้
คำถามสุดท้ายที่ผมมักถามคนที่ผมสัมภาษณ์ก็คือ “อะไรคือ 3 บทเรียนที่คุณได้จากการใช้ชีวิต และอยากส่งต่อบทเรียนนั้นให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น”
แน่นอนว่าในชีวิตของคนเราคงมีมากกว่า 3 บทเรียน แต่ผมขอแค่ 3 บทเรียนที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และทุกครั้งผมมักจะได้รับคำตอบดีๆ ที่เอาไปใช้ประโยชน์กับชีวิตได้เสมอ
ผมคิดว่า CEO Nike ก็คงค้นพบความลับแบบเดียวกันกับที่ผมได้เจอ นั่นคือ คนที่อยู่รอบตัวเราทุกคนเป็น “ครู” ของเราได้หมด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนในที่ทำงาน เพื่อน ฯลฯ การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นบทเรียนให้เราได้หมด ทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี
คนแต่ละคนเป็นเหมือนตำราชีวิตแต่ละเล่มที่เอาไว้ให้เราศึกษา เรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตของเขา แล้วสุดท้าย เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอาบทเรียนเรื่องไหนมาใช้กับชีวิตเราได้บ้าง
บางทีคำตอบในชีวิตของเราก็อยู่ในตัวของคนอื่น เมื่อเรียนรู้จากคนอื่นจึงได้เรียนรู้ตัวเอง ถ้าเราเรียนรู้จากคนอื่นได้ ทุกวันของเราก็คือการเดินทาง Wisdom Tour ไปในตัว
John Donahoe เล่าสามบทเรียนที่เขาได้จาก Wisdom Tour ของเขาแล้ว
คุณล่ะครับ อะไรคือสามบทเรียนที่คุณได้จากการใช้ชีวิต และอยากส่งต่อบทเรียนนั้นให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น
Toffy Bradshaw
: Duangkaew foundation
Reference : Podcast “Leadership Next” with Alan Murray & Ellen McGirt : Nike’s CEO Went on Vision Quest : Here’s What He Learned