การตอบรับจากวัดโซจิ(Soji-ji) ที่จังหวัด คานางาว่า(เดินทางจากโตเกียวไปประมาณ 1 ชั่วโมง) ในการไปเข้าคอร์ส อยู่อย่างเซน(禅の一夜) สองวัน 1 คืน(ตามรูป 1 ไปรษณียบัตรตอบกลับจากวัด)
วัดนี้ยังไม่เคยไป แต่เป็นวัดที่ท่านเคอิซัน ปรมาจารย์เซน(瑩山禅師) ท่านหนึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นวัดคู่กันของนิกายโซโตเซน(วัดต้นกำเนิดโซโตเซนที่ญี่ปุ่น)ซึ่งอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดคู่นี้คือ วัดเอเฮจิ ที่จังหวัดฟุกุอิ ก่อตั้งโดยท่านโดเก็น(道元禅師)
คอร์สอยู่อย่างเซน(禅の一夜) นี้ ผู้ที่ต้องการสมัคร ต้องส่งไปรษณียบัตรแผ่นพับคู่(ไป-กลับ) ในการแจ้งความจำนงค์ ชื่อ ที่อยู่ของตนเอง ไปยังวัด
ประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันเปิดคอร์ส จะมีจดหมายส่งกลับมาว่าสมัครได้หรือไม่(ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ คือ คนเต็มแล้ว ต้องสมัครใหม่ครั้งต่อไป)
ในหนึ่งคอร์สจะรับผู้สมัคร 30 คน(ค่าสมัครคนละ 6,000 เยน ถ้ายืมชุดในการนั่งสมาธิด้วยรวมเป็น 7,000 เยน) สิ่งของที่ต้องนำติดตัวไป คือ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้าสีขาว ชุดนอน
กำหนดการ เป็นดังนี้
วันที่ 1
16:30 ลงทะเบียน เปลี่ยนชุด
17:00 ปฐมนิเทศน์ อธิบายวิธีการนั่งสมาธิ
17:30 เริ่มนั่งสมาธิ
18:10 จบการนั่งสมาธิ
18:30 ทานข้าวต้ม
เก็บจานชาม
19:30 ฟังเทศน์
20:00 แจ้งกำหนดการของเช้าวันรุ่งขึ้น
20:10 อาบน้ำ
21:00 เข้านอน
17:00 ปฐมนิเทศน์ อธิบายวิธีการนั่งสมาธิ
17:30 เริ่มนั่งสมาธิ
18:10 จบการนั่งสมาธิ
18:30 ทานข้าวต้ม
เก็บจานชาม
19:30 ฟังเทศน์
20:00 แจ้งกำหนดการของเช้าวันรุ่งขึ้น
20:10 อาบน้ำ
21:00 เข้านอน
วันที่ 2
3:40 ตื่นนอน
4:10 นั่งสมาธิ
จบการนั่งสมาธิ
สวดมนต์
6:30 ทานข้าวเช้า
เก็บจานชาม
7:15 ทำความสะอาดวัด
8:30 ฟังเทศน์
9:00 ปิดคอร์ส แยกย้ายกันกลับบ้าน
4:10 นั่งสมาธิ
จบการนั่งสมาธิ
สวดมนต์
6:30 ทานข้าวเช้า
เก็บจานชาม
7:15 ทำความสะอาดวัด
8:30 ฟังเทศน์
9:00 ปิดคอร์ส แยกย้ายกันกลับบ้าน
หลังจาก 9 โมงเช้า ใครอยากนั่งสมาธิต่อ ก็สามารถแจ้งความจำนงค์และนั่งสมาธิต่อได้
ดูจากกำหนดการแล้ว นั่งสมาธิ วันแรกและวันที่สอง ไม่น่ามีปัญหา เพราะนั่งมาได้ในวันจันทร์ที่ผ่านมาแล้ว และนั่งสมาธิประจำวันอยู่เนืองๆ
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การสวดมนต์ในวันที่ 2 นี่สิ เคยแต่สวดมนต์ภาษาไทย สวดมนต์ภาษาญี่ปุ่นนี่ไม่เคยเลย แต่ไปครั้งนี้ครั้งแรก คงตามๆคนอื่นไปก่อน อืม...จะไหวไหมนะ
เข้าคอร์สจบแล้วจะมาเล่าให้เพื่อนๆฟังนะคะ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง คอร์สนี้มีเดือนละครั้งที่วัดนี้ บางทีไปนอนวัดบ้างก็น่าจะดี(บอกตัวเอง^ ^)
สำหรับการไปนั่งสมาธิที่วัด Choukoku ทุกวันจันทร์ ก็ยังไปเหมือนเดิมค่ะ
“อยู่อย่างเซน(禅の一夜)” ที่วัดโซจิ จังหวัดคานางาว่า
ทางวัดเริ่มเปิดลงทะเบียนตอน 16:30 แต่ไปถึงวัดตั้งแต่ บ่ายสามโมงกว่าๆ ไปถึงแล้วเดินรอบๆวัด รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่สัปปายะ เหมือนวัดป่าบ้านเรา ต้นใม้ใหญ่ๆเต็มไปหมด บรรยากาศร่มรื่น วัดกว้างขวางมาก สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ เห็นแล้วสบายตาสบายใจ สงบ ร่มเย็น
วัดต้นกำเนิดของเซนที่ญี่ปุ่น มีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่วัดโซจินี้ ผู้ก่อตั้งคือ ท่านเคอิซัน และวัดเอเฮจิ จังหวัดฟุกุอิ ผู้ก่อตั้งคือท่านโดเก็น วัดเอเฮจิจะเก่าแก่กว่าวัดโซจิและท่านโดเก็นเป็นชาวญี่ปุ่นท่านแรกที่ไปศึกษาเซนที่เมืองจีน และนำพุทธศาสนา นิกายเซนมาเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น
ท่านเคอิซันเองก็เคยศึกษาเซนที่วัดเอเฮจิและต่อมาได้ก่อตั้งวัดโซจิขึ้นในภายหลังและเป็นผู้ที่ทำให้เซนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศ ญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นจึงถือว่า วัดทั้งสองแห่งนี้เป็นเสาหลักหรือถือได้ว่าเป็นวัดต้นกำเนิดของเซนในญี่ปุ่น
ปัจจุบัน วัดโซจิ มีพระประจำอยู่ประมาณ 130 รูป เนื้อที่วัดประมาณ 500,000 ตารางเมตร เดิมวัดนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดคานาซาว่า โดยท่านเคอิซัน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1321 และต่อมาในปี ค.ศ. 1322 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวัดอารามหลวงอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1898 เกิดเพลิงไหม้เผามอดทั้งวัด จึงได้ย้ายวัดมาก่อตั้งขึ้นใหม่ที่เมือง ซึรุมิ จังหวัดคานางาว่า และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1911 โดยปีนี้ถือได้ว่าครบรอบ 105 ปี ของวัดนี้ที่ จังหวัดคานางาว่า
ขอย้อนกลับมาเล่าถึงเรื่องการลงทะเบียนเข้าคอร์สต่อนะคะ
ครั้งนี้มีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 26 คน ชาย 13 คน หญิง 13 คน เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว พระท่านก็ให้เข้าไปวางข้าวของที่ห้องพัก(ห้องพักหญิง พักรวม 6 คน/ห้อง) และเปลี่ยนชุด ฮากามะ(袴) สำหรับผู้ที่จะเช่าชุดที่วัด(1,000 เยน) หรือใครจะไม่ใส่ชุดฮากามะ ก็ใส่ชุดที่ตนเองนำมาได้ แล้วมารวมตัวกันที่ห้องประชุมใหญ่ซึ่งเป็นห้องทาทามิ แบบญี่ปุ่น เวลา 17:00
หลังจากนั้น พระที่เปรียบเสมือนครูใหญ่ที่รับผิดชอบฝ่ายการนั่งสมาธิของวัดนี้ มาให้คำโอวาทและอธิบายเกี่ยวกับแนวความคิดและการปฏิบัติในแนวทางของพุทธศาสนานิกายเซนรวมถึงการพิจารณาระหว่างการนั่งสมาธิให้ผู้เข้าคอร์สฟัง
ท่านบอกว่าให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลาขณะทำสมาธิ หากมีความคิดใดผุดขึ้น ก็ไม่ใช่ไปปัด ไปห้ามไม่ให้ความคิดมันเกิด แต่ให้เห็นว่าเมื่อความคิดเกิด มันจะดับลงไปเอง โดยที่เราไม่เข้าไปมีบทบาท ไม่ไปเป็นผู้ลงไปจับความคิดนั้น เป็นแค่ผู้ดูมันเกิด ดับ ฯลฯ ฟังแล้วก็มีส่วนคล้ายกับพุทธศาสนาบ้านเรามาก
หลังจากนั้น พระพี่เลี้ยง 2 รูป มาอธิบายท่าทางในการนั่งสมาธิ(อ้างอิงได้ที่บทความที่ 5) และสัญญาณระฆังในการเริ่ม(ดัง 3 ครั้ง) และในการจบ(ดัง 1 ครั้ง)ของการนั่งสมาธิ
หลังจากฟังคำอธิบายต่างๆเสร็จ พวกเราจะเดินเรียงแถวกันมาที่ห้องนั่งสมาธิ แล้วเริ่มนั่งสมาธิ 40 นาที
เป็นเรื่องบังเอิญที่ผู้เขียนได้นั่งสมาธิข้างๆ พระครูใหญ่ที่ให้คำโอวาทพวกเรา(นั่งซ้าย) ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นผู้เข้าคอร์สนี้ผู้ชาย(นั่งขวา) ระหว่างการนั่ง รู้สึกถึงความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างกระแสจากผู้นั่งทางซ้ายมือที่สงบ เย็น เบาๆ(พระท่านนั่งนิ่งสงบสบายๆ) กับผู้ที่นั่งขวามือที่แข็ง เครียด อึดอัด(คงเพราะเค้าอึดอัดและมีขยับขาด้วย) ความจริงระหว่างการนั่งสมาธิ ผู้เขียนก็พิจารณาแค่กายใจของตนเอง ไม่พยายามส่งจิตออกนอก แต่กระแสของคนที่อยู่ข้างๆ 2 ข้างนี่มันต่างกันมาก จนเรารับและรู้สึกได้
หลังจากนั่งสมาธิเสร็จ ก็มาเข้าห้องทานข้าวเย็น เป็นห้องทาทามิแบบญี่ปุ่นเช่นเดิม อาหารเป็นอาหารเจ(精進料理)ถ้วยชาม ถาด ทั้งหมดเป็นเครื่องเขิน(漆)เคลือบสีแดงไม่มีลาย พระครูใหญ่ก็มาร่วมทานข้าวด้วย
ท่านอธิบายเกี่ยวกับ การทานอาหารของพระว่า การทานอาหารนี้ พระจะทานในจำนวนที่พอดี ไม่มากไปน้อยไป ทานเพื่อให้ร่างกายมีกำลังมีแรงในการปฏิบัติ และเป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ได้ทานอาหารเพื่อความเอร็ดอร่อย เวลาทานอาหารจะไม่พูดคุยกันเพราะอยู่ระหว่างการทำสมาธิ มีสติ รู้สึกตัวอยู่กับแค่ปัจจุบันขณะ และทานอาหารตรงที่ที่ท่านนั่งทำสมาธิกันตรงนั้น ดังนั้นจึงนั่งทานข้าวในท่านั่งขัดสมาธิ
พระทุกรูปจะสามารถกำหนดปริมาณข้าวและน้ำแกง(มิโซะชิรุ)ที่ตนเองต้องการทานได้ แต่ต้องทานให้หมดตามนั้น และไม่มีการตักเพิ่ม พวกเราที่เข้าคอร์สก็ปฏิบัติเหมือนกับพระท่าน(แต่พวกเราได้มานั่งในห้องทานข้าวเสื่อทาทามิ และท่านให้เรานั่งในท่าตามสบายไม่ต้องขัดสมาธิก็ได้)
ตลอดเวลาขณะรับประทานอาหาร จะทานทีละถ้วย หยิบขึ้นมา ทาน วาง หยิบถ้วยถัดไป แล้วจะกลับมาหยิบถ้วยเดิมทานอีกได้ แต่จะไม่ใช้ตะเกียบหยิบอาหารคีบจานโน้นจานนี้มาทานกับข้าวพร้อมๆกัน ทั้งนี้เพื่อให้มีสติในการทาน ไม่ใช่ให้จิตออกนอกไปคิดว่าจะทานอะไรดี หยิบกับข้าวถ้วยไหนมาทานกับถ้วยไหนดี ตัดความฟุ้งซ่านระหว่างการรับประทานอาหาร และการวางถ้วย คีบตะเกียบ เคี้ยว ฯลฯ ต้องเงียบ ไม่มีเสียง(ฝึกสติ) เมื่อทานหมดทุกถ้วยแล้ว วางถ้วยเล็กซ้อนถ้วยใหญ่ อย่างเป็นระเบียบ เงียบ น่าประทับใจมาก
หลังจากนั้น เป็นช่วงฟังพระครูใหญ่เทศน์ เกี่ยวกับคำสอนของท่านโดเก็น และอธิบายถึงการปฏิบัติของพระที่ประจำอยู่ที่วัดนี้ หลักคำสอนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการมีสติ พิจารณาแค่กายใจของตนเอง และมีช่วงถามตอบ สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัย
หลังจากฟังเทศน์เสร็จ ก็แยกย้ายกันไปอาบน้ำและเข้านอนตอนสามทุ่ม เพื่อให้ตื่นตอน ตีสามสี่สิบตอนเช้าในวันรุ่งขึ้นได้ ไม่งัวเงีย นั่งสมาธิตอนตีสี่ และร่วมพิธีสวดมนต์ตอนตีห้าได้
โปรดติดตาม เรื่องราวในเช้าวันที่สองได้ในบทความครั้งต่อไปค่ะ