วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วัดในใจ

วัดในใจ
พญ. อมรา มลิลา
ชมรมพุทธธรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี
เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๖
การที่เราตั้งจุดมุ่งแสวงหาวัดในใจนั้น ไม่ใช่เย่อหยิ่งคิดว่าการไปวัดจริง ๆ เป็นสิ่งไม่ดี หรือจะเลิกไปวัดกัน แต่คงเข้าทำนององุ่นเปรี้ยว คือ เมื่อเรายังไม่มีโอกาสไปวัดได้ดังใจปรารถนา ก็ปลอบใจตัวเองว่า ทำอย่างไรจึงสามารถถึงวัดได้ทุก ๆ ครั้งที่ต้องการ
จุดประสงค์ของการไปวัด ก็เพื่อหาความสงบร่มเย็นให้กับใจ แท้ที่จริงแล้ว ความสงบร่มเย็นนั้นเกิดมาจากในใจของเราเอง หาได้มาจากวัดที่ไปไม่ แต่บรรยากาศที่วุ่นวาย ที่รุ่มร้อนรอบ ๆ ตัวทุกวันนี้ ถ้าเราจะเริ่มหยุดใจของเรา ทำใจของเราให้สงบนั้น เริ่มได้ยาก ทำได้ยาก เราจึงต้องไปอาศัยร่มเงาของสถานที่ที่วิเวก ที่สงบ เป็นที่ตั้งต้นก่อน แต่เมื่อไปแล้ว หลาย ๆ คนเลยลืมไปว่า แท้ที่จริงความสงบนั้นมาจากในใจของเราเอง เป็นสิ่งซึ่งเราต้องพากเพียรสร้าง แล้วคอยประคับประคองหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้น เหมือนอย่างกับเราปลูกต้นไม้ให้เติบโตอยู่บนเนื้อนาคือ ใจของเรานี้เอง เราก็เลยหลงไปว่า ถ้าไม่มีเวลาไปวัดแล้วจะไม่สามารถหาความสงบได้
โปรดเตือนตนไว้ว่า วัด หมายถึงการสร้างความสงบให้บังเกิดขึ้นที่ในใจของเราเอง ปละเมื่อระลึกได้ดังนี้แล้วก็มาใคร่ครวญว่า จะทำอย่างไร จึงสามารถนำวัดให้เข้ามาอยู่ในใจได้ตลอดเวลา เพราะการที่เรายังต้องทำงานอยู่ทุกวันอย่างนี้ ย่อมเป็นการยากที่ทุก ๆ อย่างจะราบรื่นถูกใจไปทั้งหมด
ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถอยู่โดยลำพัง และทำอะไรด้วยตัวของตัวเองได้ ให้ระลึกไว้ว่า ผลที่จะเกิดสืบเนื่องมาแต่การกระทำของเรานั้นเป็นปัจจัยร่วมกันระหว่าง “เรา” กับ โลก คือผู้อื่น สิ่งอื่น ที่มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เป็นต้นว่า เรามีครอบครัว และจะไปทึกทักให้ทุกคนในครอบครัวมีความคิดความเห็นเหมือนเราทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละคนก็มีใจของตน เป็นใจเขา ใจเรา แตกต่างกันไป เราจะจัดระบบอย่างไร ทุก ๆ คนในครอบครัวจึงจะมีสิทธิ มีเสียง เป็นอิสระของตนได้รับความพึงพอใจ โดยไม่ไปเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น กล่าวคือ ไม่ใช่ผู้หนึ่งได้ดังใจ ขณะที่อีกผู้หนึ่งต้องเดือดร้อน อดทน
ต่อจากครอบครัว ก็เป็นที่ทำงาน ซึ่งเป็นสถานที่รวมของคนที่ต่างจิตต่างใจกัน การที่แต่ละคนจะรู้ใจของกันและกัน จะทำให้ได้ดังใจนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความราบรื่นจะมีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับแยบคายอุบายที่แต่ละคนจะสามารถกามาหล่อเลี้ยงใจของตน เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นของกลาง ๆ ไม่มีความหมายด้วยตัวของมันเอง มันจะให้สุขหรือทุกข์ ก็เพราะใจไปให้ความหมายกับเหตุการณ์นั้น ๆ ต่างหาก
เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้พาคนไข้โรคจิตมารักษากับจิตแพทย์ จนคนไข้มีอาการดีขึ้น สามารถออกจากโรงพยาบาลกลับไปบ้านได้ โดยเอายาไปกินต่อ คนไข้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดค่อนข้างไกลจากกรุงเทพฯ คุณหมอจึงจัดยาให้ไปสำหรับหนึ่งเดือน แล้วนัดให้คนไข้กลับมาพบอีก คนไข้ก็ประท้วงว่า ไม่ต้องมาไม่ได้หรือเพราะเดินทางไกลเหลือเกิน คุณหมอก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะได้พบกันอีกเล่า คนไข้ก็ตอบทันควันว่า ให้คุณหมอย้ายไปอยู่จังหวัดที่เขาอยู่ก็แล้วกัน ไปอยู่ใกล้ ๆ บ้านของเขา จากเหตุการณ์นี้ คุณจะเห็นได้ว่า เพราะวิธีตอบสนองสิ่งมากระทบของคนไข้เป็นอย่างนี้เอง เขาจึงมีความคับข้องใจสูงจนเกิดเป็นโรคจิตขึ้น
พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า ก่อนที่จะคิด จะพูด จะทำอะไร ให้เอาสติ เอาปัญญากำกับไว้ ไตร่ตรองให้เป็นสัมมาทิฐิเสียก่อนจึงค่อยกระทำ เมื่อเป็นสัมมาทิฐิแล้ว ใจของเราจะสงบสุข ใจของเราจะร่มเย็น
โดยปกติธรรมชาติธรรมดา ไม่ว่าเราจะเห็นแก่ตัวอย่างไร ๆ เราก็คงรู้เหตุผลพอที่จะไม่ไปบอกให้คุณหมอเป็นฝ่ายย้ายที่อยู่เป็นแน่ แต่คนไข้รายนี้ ทำให้เราได้เห็น โดยเอาใจแท้ ๆ ของเขาออกมาแผ่ให้เห็นว่า หากเราไม่ละลายตัวตน ไม่เอาสติมารักษาใจไว้แล้ว เราจะสำคัญตัวเราเป็นจุดศูนย์รวม เหมือนโลกมีแรงดึงดูดของโลก เมื่อเราขว้างอะไรออกไป แรงดึงดูดนี้จะดูดทุกอย่างให้ตกลงมาที่โลกอีก ในคนเราก็เช่นกัน หากเราเห็นตัวเองเป็นแกนสำคัญมากเท่าใด ก็ย่อมเกิดความคับข้อง เกิดความยากลำบากในการที่จะอยู่ในโลกนี้มากเท่านั้น เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใจที่นึกถึงแต่ตนเอง จะแปลทุกอย่างให้เป็นความไม่สะดวกไม่สบายไปหมด เพราะมันไม่เป็นไปดังใจปรารถนา
คำตอบของคนไข้ที่ให้คุณหมอย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ เขานั้นชัดเจนที่สุด เพราะเขาคิดเพียงว่า ตัวเขาเป็นศูนย์รวมที่ต้องทะนุถนอมให้ได้รับความสะดวก สบายทุกประการ อะไรก็ตามที่มาเกี่ยวข้องกับเขา ต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเพื่ออำนวยความสะดวกสบายเหล่านั้น โดยไม่ได้คำนึงว่า ตนอยู่ในฐานะใด สิ่งที่ต้องการนั้นถูกควร เหมาะกับกาลเทศะเพียงใด หรือไม่ เขาคิดเพียงว่า ถ้าอะไรก็ตามไม่โอนอ่อนตามที่ปรารถนาแล้ว ถือเป็นการเสียดทาน เป็นความคับข้องทั้งสิ้น ใจดวงนั้นจึงรุ่มร้อนคับข้องอยู่ตลอดเวลา
นี่เป็นตัวอย่างสุดปลายทางของตัวตน
หรือถ้าพิจารณาดูในเด็กเล็ก ๆ ก็จะพบการตอบสนองในทำนองเดียวกัน เมื่อใดที่ต้องการของเล่น ต้องการดื้อ หรือต้องการอะไรก็ตาม ถ้าพ่อ แม่ หรือผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ดังใจ เด็กจะร้อง จะลงดิ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น แต่เพราะเราไปเห็นว่ายังเด็ก ยังไม่เดียงสา กิริยาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งน่าเอ็นดู เป็นสิ่งปกติ แท้จริงแล้ว นี่คือใจที่ไม่ได้เอาสติ เอาปัญญากำกับไว้ ใจที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกำกับจะเป็นใจเช่นนี้เอง หากมันเติบใหญ่ไปกับกายโดยไม่มีการอบรม หรือมีวัฒนาการอันใดเลย ใจอันนี้จะเป็นความเดือดร้อน ระส่ำระสายของโลก
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ใจที่ไม่มีธรรมะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในที่กว้างใหญ่ไพศาลเพียงไหนก็ตาม มันย่อมคับ ย่อมครูด ย่อมกระทบกระทั่งกับของทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะอย่างนี้เอง เพราะอัตตาที่ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ ที่พร่องอยู่ตลอดเวลาที่เรียกร้อง ที่แสวงหาจะเอาให้ได้ดังใจ คอยบังคับเอาไว้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราไตร่ตรองจนได้สัมมาทิฐิเสียก่อน
คำว่า “สัมมาทิฐิ” นี้อย่าไปตีความเข้มงวดลึกซึ้งว่า ต้องเป็นความเห็นชอบที่เที่ยงแท้ที่สุด ให้ถือเพียงเป็นปัญญาเห็นชอบที่ทำให้เราเกิดอุบายแยบคาย พอปรับใจให้อยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ด้วยความมีเหตุ มีผล มีธรรมะสามารถรักษาใจให้สงบผาสุกอยู่ได้ ไม่ว่าโลกรอบตัวจะร่มเย็นหรือจะรุ่มร้อน และสัมมาทิฐินี้ยังไม่สมบูรณ์แบบตราบเท่าที่จิตยังไม่บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสทั้งปวง แต่สัมมาทิฐิเหล่านี้แต่ละขณะ แต่ละขณะ ก็เปรียบเหมือนประตูที่เปิดรับเราเข้าไปสู่มรรค และจะค่อย ๆ ละเอียดเข้าไป ๆ ๆ เหมือนกับเรากำลังยืนอยู่ชั้นล่าง แล้วจะขึ้นไปชั้นเก้าของตึกนี้ เราก็ต้องไปตามบันไดทีละขั้น ๆ ปัญญาที่จะเป็นสัมมาทิฐิเพื่อพาเราไปตนถึงจุดหมายนั้น ก็จะค่อย ๆ ละเอียดรอบรู้มากขึ้น ๆ เป็นของเที่ยงแท้เพิ่มขึ้นทีละขั้น ๆ เหมือนที่เราขึ้นบันไดไปฉันนั้น ดังนั้นหากสิ่งที่ได้ไตร่ตรองจนเห็นว่าดีที่สุด สุดสติปัญญาความสามารถของเราแล้ว อีกเดือนหนึ่งต่อมา เกิดเห็นข้อบกพร่องก็อย่าตกใจ อย่าเสียใจ นั่นแสดงว่าคุณได้ทำตัวให้เจริญก้าวหน้างอกงามขึ้นไปแล้ว เพราะจิตที่ยังคละเคล้าอยู่กับกิเลสที่ยังเป็นสมมตินั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญ การเสื่อม เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์
การปฏิบัติธรรมคืออย่างนี้เอง เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่มาสัมผัสจิตใจของเรา เปรียบเหมือนหินที่คอยลับสติปัญญาให้แหลมคมขึ้นเรื่อย ๆ สติปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องฝึกฝน ฝึกปรือ ให้เพิ่มพูนขึ้น และอยู่กับจิต เป็นพี่เลี้ยงคอยประคับประคองรักษาจิต ติดต่อกันสืบเนื่องกันให้ยาวนานที่สุด เท่าที่สามารถทำได้
จิตที่มีสติปละมีปัญญาคอยรักษา คือจิตที่ถึงวัด
เพราะวัดนั้นไม่ใช่อะไรอื่นไกลเลย วัดก็คือสถานที่ที่ทำให้ใจของเรามีความสงบ มีความอิ่มพอในตัวเอง ไม่ใช่เห็นอะไรก็คับข้อง เห็นอะไรก็อยากได้ไม่รู้จบ ไม่รู้จักสิ้น
เมื่อเราเข้าใจความหมายเช่นนี้แล้ว เราจะได้คอยระมัดระวัง รักษาไม่ให้วัดหลุดหายไปจากใจของเรา
ใจของคนเราย่อมไม่หยุดนิ่งหรืออิ่มเต็มอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะใจอันนี้จะไม่พาให้มีตัวเราเกิดขึ้น ถ้ามันสิ้นกิเลสแล้ว ใจที่ไม่มีกิเลสเคลือบแฝงอยู่ ไม่มีอวิชชา และอุปาทานแปดเปื้อนจะไม่เกิดอีก เมื่อมีการเกิด ร่างกายอันนี้ก็คือ เศษของกรรม ของวิบากเก่า ๆ ที่เปรียบเหมือนหนี้ตกค้าง เมื่อเรารัก เราชังสิ่งใดไว้ ความรู้สึกนั้นก็ก่อให้เกิดแรงดูด แรงผลักประยุกต์กัน เกิดเป็นตัวเราขึ้นมาอย่างนี้และมาเจอะเจอสิ่งรอบข้างที่ล้วนมีส่วนร่วมสร้างแรงประยุกต์มากับเรา แล้วจิตของเราก็ดูด ก็ผลักสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไปตามความเคยชินที่ฝังอยู่เป็นพื้นนิสัย เหมือนกับว่า ใจอันนี้เป็นเศษเหล็กที่วางอยู่ในสนามแม่เหล็กโลก คนที่มีกรรมถักทอกับเราก็ล้วนเป็นเศษเหล็กเช่นกัน ที่ต้องมาตกอยู่ในสนามอันนี้ด้วยกัน แล้วบางอันก็เกิดแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน บางอันก็ผลักกัน เกิดแรงที่ประยุกต์ต่อกันและกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงเกิดเป็นความรัก ความชัง ความชอบ ความไม่ชอบ พัดเวียนวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใจของเราไม่สงบราบเรียบอยู่บนฐาน แต่เป็นใจที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นคลื่นอยู่ตลอดเวลา
ใจที่แกว่ง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่อย่างนี้ คือใจที่ไม่มีความสุข
ถ้าดูจริง ๆ แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ใจที่ไปพะวง ใจที่ไปคาดคะเนไปห่วงว่าจะได้อย่างนี้หรือไม่ได้ นั้นต่างหากที่ทำให้เรากังวล ให้เราทุกข์
สมมติเราไปสมัครสอบจะไปเรียนเมืองนอก สอบจริง ๆ นั้นเสร็จไปแล้ว แต่ใจของเราคอยไปนึกว่า เอ....เราจะได้ หรือเราจะไม่ได้ ใจที่ควรสงบก็เลยเกิดความพะวักพะวน จริง ๆ นั้น เราจะได้ หรือเราจะไม่ได้ก็ไม่ทุกข์เท่าช่วงเวลาที่คอยผลด้วยใจที่พะวักพะวน และในช่วงเวลานั้น หากมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเราควรต้องเอาสติปัญญาไปจดจ่อ ไปอยู่กับขณะเดี๋ยวนั้น ที่กำลังเป็นความจริงนั้น ใจของเรากลับแตกแยก ไม่ไปจดจ่ออยู่กับความเป็นจริงตรงนั้น หากไปห่วงอยู่แต่ว่า เอ....เราจะได้หรือจะไม่ได้ ทำให้เกิดความเผลอ ไม่ได้ดูสิ่งที่ควรเอาใจทั้งใจไปมองดูโดยรอบคอบ เราก็อาจทำความผิดอะไรขึ้นมาด้วยความพลั้งเผลอ ด้วยความที่เอาใจไปผูกกังวลอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอยู่ สิ่งใดที่เป็นอดีตไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าเราจะกังวลแค่ไหน การจะสอบได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุจริง ๆ นั้นได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อตอนเราไปสอบ เราแก้ไขอะไรที่เหตุไม่ได้อีกแล้ว เปรียบเหมือนเราหว่านเม็ดอะไรอย่างหนึ่งลงไปในดินเรียบร้อยแล้ว แล้วเราจะมานั่งสงสัยว่า เอ...เม็ดที่เราหว่านลงไปเมื่อกี้นั้น เป็นเม็ดที่เราต้องการหรือเปล่า ใช่เม็ดเขียวเสวยที่อยากได้หรือเปล่า ไม่มีโอกาสแก้ไขหรือทำอะไรอีกแล้ว เพราะเมื่อเม็ดนั้นลงไปถูกกับดิน ถูกกับน้ำ ก็เกิดขบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพเพื่องอกเป็นต้นต่อไปโดยลำดับ
กรรมของคนเราก็เช่นกัน เหมือนเม็ดพืชที่ถูกหว่านลงไปในดิน เมื่อเราได้คิด ได้พูดหรือได้กระทำอะไรลงไปแล้ว มันก็เริ่มก่อผล เป็นวิบากขึ้นในจิต ซึ่งเป็นประจุกรรม เหมือนข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เราจะไปลบไป ล้าง ไปเปลี่ยน ไปแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้ว ได้อยู่อย่างเดียว คือ คอยจนมันงอกออกมา และผลิดอกออกผลให้เราเก็บเกี่ยว
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนว่า สิ่งที่ทำลงไปแล้วอย่าย้อนคิดเสียดาย อย่าเก็บมากังวลครุ่นคิด แต่ก่อนจะกระทำสิ่งใดให้ไตร่ตรองจนรอบคอบเสียก่อน ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล ก่อนจะทำ เรามีโอกาสเต็มที่ว่า จะทำอย่างไร เพื่อที่จะไม่ย้อนคิดเสียใจ เสียกำลัง เสียเวลาเพื่อล้มล้างสิ่งที่เอาคืนมาอีกไม่ได้แล้ว
ก่อนจะทำนั้นจะตรึกตรองอย่างไร จะเลือกเฟ้นอย่างไร ไม่เป็นปัญหา เวลามีอยู่ เรามีสิทธิเต็มที่ที่จะขีดเส้นที่เราต้องการจะไป ที่เราต้องการจะเป็น ที่เราต้องการจะได้
แต่ครั้งหนึ่งที่ได้กระทำลงไปแล้ว จบสิ้นไปแล้ว พอสิ่งนั้นผ่านพ้นไปแล้ว เป็นเงาไปแล้ว เหมือนนกที่เกาะอยู่พอมันขยับปีกบินไปแล้ว เราหารอยของมันไม่เจอ มันไม่เหลือรอยอะไรทิ้งไว้ในอากาศที่บินผ่านไปเลย หรือเหมือนเราขีดไปในน้ำ ขีดแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรเหลือ
เหตุอันใดก็ตามที่เป็นอดีตไปแล้ว เป็นอย่างนั้น คงเหลือแต่ผลซึ่งจะงอกผลอดอกออกผลมาให้เราได้เก็บเกี่ยวใช้สอย
อนาคต ก็เช่นกัน ถ้าเราทำเหตุในปัจจุบันเฉพาะหน้า แต่ละขณะด้วยความรอบคอบ ด้วยความแน่ใจ มั่นใจ ไม่ต้องห่วงว่าอนาคตจะดีหรือไม่ดี สมมติเราอยากได้มะม่วงเขียวเสวย ถ้าเรารอบคอบ เลือกเม็ดมะม่วงและแน่ใจว่าเป็นเขียวเสวย เอาเพาะลงดิน รับรองว่า ถ้าเม็ดนี้งอกขึ้นเมื่อใด เราต้องได้มะม่วงเขียวเสวยแน่ ๆ ไม่มีทางจะกลายเป็นขนุน เป็นละมุดหรือต้นอะไรอื่นใดเป็นอันขาด
เมื่อเห็นจริงดังนี้ เราอยากได้สิ่งใดในชีวิต ก็โปรดรอบคอบกับการกระทำทุก ๆ อย่าง แล้วผลในอนาคตไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องเป็นไปดังใจปรารถนา
แต่โปรดอย่าเพิ่งทึกทักว่า ทุก ๆ อย่างจะเป็นดังนี้ทั้งหมด เพราะกรรมที่เรากระทำนั้นย่อมมีวาระแตกต่างกัน เช่น เมล็ดพืชบางชนิดต้องเพาะไว้เป็นเดือนจึงงอก บางอย่างโปรยลงไปวันสองวันก็งอกแล้ว กรรมของเราก็เช่นกัน บางสิ่งเราได้ทำไว้แต่เก่าก่อน จนความจำอันน้อยนิดนี้ระลึกไม่ได้แล้วมันเพิ่งส่งผลออกมา เราจะไปลงความเห็นว่า ไม่จริงเลยที่ว่า เราคือผู้รับผลแห่งการกระทำของเรา ยังไม่ได้
ตราบเท่าที่จิตของเรายังไม่ละเอียด ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงรอบไปหมดอย่างพระพุทธองค์ เราจะไม่สามารถสาวหาต้นเหตุแต่ละอัน ๆ ให้เห็นแจ่มชัดได้ทุกกรณี แต่ถึงเราจะ หูกระทะ ตาไม่ไผ่ อย่างนี้ หากพากเพียรฝึกฝนเรื่อยไปไม่ละ ไม่ถอย ก็จะมีหลาย ๆ สิ่งมาแสดงให้เห็น ให้เกิดศรัทธาอันมั่นคงว่า การกระทำ คำพูด ความคิดของเรา คือตัวที่ผลิเป็นดอกผลให้เก็บเกี่ยว เพราะกับตัวเองก็มีอะไรหลาย ๆ สิ่งเกิดขึ้น ที่ทำให้ต้องเชื่ออย่างมั่นคงว่า เราเป็นผู้รับผลของการกระทำของเราเองจริง ๆ หากกรรมมีว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แม้จะพยายามหลบเลี่ยงอย่างไร ๆ ก็หลบเลี่ยงไม่พ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นหนี้ใครอยู่ เวลาถูกเจ้าหนี้ทวง ก็อย่าหลบเลี่ยง แต่ให้บอกตัวเองว่า เมื่อครั้งหนึ่งเราโง่ เซ่อ ไปก่อหนี้สินล้นพ้นตัวเอาไว้ บัดนี้เราเข้าใจแล้ว เรารู้แล้ว ก็หน้าชื่นตาบานรีบใช้หนี้เสีย พร้อมทั้งระมัดระวังที่จะไม่ก่อหนี้ใหม่ขึ้นมาอีก วันหนึ่งบัญชีหนี้ย่อมต้องหมดไป เหมือนเรามีน้ำสกปรกอยู่โอ่งหนึ่ง และเรารู้แล้วว่าน้ำในโอ่งนี้สกปรก เราก็ตั้งหน้าตั้งตาวิดทิ้ง โดยไม่เผลอใส่น้ำใหม่เข้าไป วันหนึ่งน้ำในโอ่งต้องหมด เราก็ล้างโอ่ง แล้วเอาน้ำใสสะอาดใส่เข้าไป โอ่งของเราก็จะมีแต่น้ำดี น้ำบริสุทธิ์ น้ำเป็นประโยชน์ เอาไปใช้กินใช้ดื่ม ใช้ทำอะไรก็ได้
ใจของเราก็เช่นกัน ใจที่มีอวิชชา มีอุปาทาน มีกิเลสทั้งหลายเคลือบแฝงอยู่ ก็เปรียบเหมือนน้ำที่สกปรก ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบกระทั่ง เราอาจหลงเข้าใจว่าใจของเรานี้ ใสสะอาดแล้ว เพราะกิเลสทั้งหลายลงไปนอนก้น จับเป็นตะกอนเรียบอยู่ เมื่อมองผาด ๆ ก็เห็นว่าใสดีแล้ว ครั้นมีเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดฝัน ที่รุนแรงเกินกว่าสติปัญญาจะควบคุมได้มากระทบ เราก็อาจจะโกรธจนเส้นเลือดแตก หัวใจวาย เราก็อาจทำผิดพลาดไป เช่น ข่าวในหนังสือพิมพ์ สามีภรรยาซึ่งรักกัน พอเกิดเรื่องขัดใจ ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งก็เอาปืนมายิงอีกฝ่ายถึงตาย เพราะชั่ววูบเดียว สิ่งกระทบกระทั่งนั้นทำให้สติหลุดออกไปจากใจ หรือเรากำลังมีหนี้ล้นพ้นตัว มีตู้เพชรเดินได้มาล่อ เราก็อาจกลายเป็นผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์ หรือฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ของอย่างนี้รู้ไม่ได้ ห้าบาท สิบบาท เราไม่ทำ แต่ถ้าล้านสองล้าน คนดี ๆ ก็อาจกลายเป็นคนไม่ดีไปได้
ใจของคนเรานั้น ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นทะลุปรุโปร่งได้เหมือนแก้วน้ำใบนี้ มีผู้เปรียบใจเหมือนต้นกล้วย ส่วนที่เป็นจิตสำนึก ที่ถูกพ่อแม่อบรม ถูกครูบ่มสอน ที่มีสติปัญญารักษานั้น คือกาบนอกสุดของต้นกล้วยเราเห็น เรารู้จัก แต่กาบที่อยู่ข้างใน ๆ เข้าไป ที่เป็นจิตใต้สำนึก ที่เป็นจิตไร้สำนึก ซึ่งสติยังหยั่งเข้าไปไม่ถึง ปัญญายังตามเข้าไปรักษาไม่ถึงนั้น เราไม่เห็น เราไม่รู้จัก ถ้าอะไรก็ตามที่มากระทบ รุนแรงจนสั่นสะเทือนเข้าไปถึงอาณาบริเวณที่สติและปัญญายังตามเข้าไปไม่ถึงนั้น เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า เราจะตอบสนองสิ่งกระทบนั้นออกไปอย่างไร เราอาจจะทำไปแล้วนึกไม่ออกว่า นี้หรือที่เราทำลงไป หรือว่าไอ้ผีบ้าตัวไหนมาสิงเราให้เป็นไปอย่างนั้น แท้ที่จริงไม่ใช่ผีตัวไหนเลย มันเป็นใจที่เป็นป่าดงดิบของเรานั่นเอง ถ้าย้อนไปมองดูใจของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนดี คนชั่ว คนยากไร้ หรือคนร่ำรวยแค่ไหนก็ตามมันจะเป็นสิ่งเดียวนี้เท่านั้น คือ จะเป็นใจที่มันเป็นกิเลส เป็นอวิชชา เป็นอุปาทาน เคลือบแฝงปนอยู่กับใจที่เป็นธาตุรู้ เป็นพุทธะ แล้วเราก็ไม่รู้ว่า ใจอันนี้นั้นจะหงายเอาพุทธะออกมา หรือจะหงายเอากิเลสออกมา ทั้งนี้สุดแต่ว่า แรงที่มากระทบจะเร้าให้สิ่งไหนเกิดกำลังเป็นวัวปากคอก โผนวิ่งออกมาเป็นตัวแสดง ถ้าเราเอาสิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่เป็นตัวตน สิ่งที่เป็นความเห็นแก่ตัวทั้งหลายทั้งปวงออกมา ร้อยเปอร์เซ็นต์มันจะเป็นอย่างที่เรียนเมื่อกี้ว่า มันจะไม่มีการคิดถึงคนอื่นเลย จะคิดถึงแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้งถ่ายเดียวและจะไม่ได้นึกว่า สิ่งที่พูดหรือแสดงออกมานั้นจะน่าเกลียดหรือเหมาะสม หรือเป็นอย่างไร
การที่เราไปว่าว่า คนโน้นคนนี้เป็นบ้า แล้วเอาเก็บไปรักษาในโรงพยาบาลโรคจิตนั้น เราเองก็มีตัวบ้าตัวนี้อยู่ในจิตเช่นกัน ชั่วแต่มันจะมีเวลาแสดงออกมาให้เราได้เห็นหรือไม่เท่านั้นเอง
การที่เราจะไปให้ถึงวัด การที่เราจะปฏิบัติธรรมนั้น คือการเอาสติเพ่งมองเข้าไป จนกระทั่งได้เป็นจิตที่เป็นป่าดงดิบอันนี้ของเรา เมื่อเห็นแล้ว เราจะได้สลดใจ เราจะได้คิดว่า เออหนอ...เรานึกว่าเราดีแล้ว เราได้ศึกษาพากเพียรมาถึงแค่นี้แล้ว เราเป็นคนละเอียดละออ ละเมียดละไม ได้ขัดเกลาแล้ว แท้ที่จริงยังไม่พอ....
กิเลสที่ในจิตของเรานั้น เหมือนรอยที่เขียนไว้บนฟิล์มหนัง เมื่อเอาฟิล์มไปฉาย เงาบนจอจะตัวใหญ่หรือตัวเล็กนั้น ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างจอกับเครื่องฉาย ถ้าเราตั้งจอติดกับเครื่องฉาย เงาที่เห็นก็ตัวเล็ก เหมือนอย่างกับเราที่ได้ขัดเกลาแล้ว แม้จะยังโลภ แต่ความโลภอันนั้นก็ไม่ขรุขระน่าเกลียด เราโลภอยากรวย เราก็เลยสนใจแต่คนไข้ที่เป็นเศรษฐีฐานะดี ไม่ใส่ใจกับจรรยาบรรณ คนที่เอาแต่อารมณ์ก็เหมือนจอที่ถูกขยับห่างออกไป ๆ ๆ คนที่ไม่มีสติเหนี่ยวรั้งเลย ก็เหมือนจอกลางแปลง ตัวตนก็โต ขรุขระน่าเกลียด เมื่ออยากจะได้สิ่งใด จะไม่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นของใคร หากหยิบฉวยได้ก็จะหยิบฉวยเอา ขโมยได้ก็จะขโมย เขาไม่ให้ก็ทุบตีแย่งเอาซึ่ง ๆ หน้า คนประเภทนี้ใคร ๆ ก็ทนไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่แท้ที่จริงแล้ว ตราบเท่าที่รอยกิเลสอันใด เช่น รอยโลภะยังมีอยู่ในใจ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าสิ่งที่มากระทบนั้น จะดึงจอให้อยู่ใกล้ชิดเครื่องฉาย หรือจะผลักออกไปไกลจนกระทั่งใจของเรากระฉอกความขรุขระน่าเกลียดน่าชังอย่างนั้นออกมา
เมื่อใดที่เราได้แลเห็นกิเลสตัวใดในใจของเรา แม้เพียงรอยเล็กนิดเดียว อย่านิ่งนอนใจ อย่านึกเปรียบเทียบว่า คนอื่นสิ่งอื่นแลวกว่าเรา ต้องให้เขาแก้ไขตัวของเขาเสียก่อน เราจึงจะแก้ตัวเรา
การที่เราต้องการไปวัด คือ การต้องการขัดเกลาแก้ไขตัวของเราเอง เพราะเห็นแล้วว่าใจอันนี้ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ยังไม่มีความสงบร่มเย็นพอเป็นที่พักพิงได้ เราจึงอยากแก้ไข อยากทำให้ใจของเราเต็มอิ่ม ผาสุกร่มเย็น เมื่อใดที่เห็นความไม่ดี ความบกพร่องในตน ให้รีบแก้ไขปรับปรุงเสีย อย่ามัวมองออกนอก คอยตำหนิผู้อื่น สิ่งอื่น เขายังพอใจกับตัวของเขา ถึงเราจะเห็นเขารุ่มร้อน ขาด ๆ เกิน ๆ แต่เขาคิดว่าเขาเป็นสุข เขายังหลับเพลินอยู่ด้วยความหลงผิดก็ปล่อยเขา ไม่ต้องไปคิดเกี่ยงงอน
การปฏิบัติธรรมที่ยังเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น โดยคิดว่าผู้นั้น สิ่งนั้น เลวกว่าเรา เสมอกับเรา หรือดีกว่าเรา เป็นการปฏิบัติที่ไม่ทำให้เราสงบ เบาบางจากกิเลส เพราะมี ตัวเรา เป็นแกนอยู่ในความรู้ทุก ๆ อย่าง แกนนี้จะคอยจัดอันดับเรากับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องตลอดเวลา เป็นภาวนาสะสมกิเลส ยิ่งภาวนาก็ยิ่งหนัก ยิ่งใหญ่คับจักรวาล ยิ่งอยากอวด อยากประกาศให้โลกรู้ถึงความวิเศษของตน แทนที่จะยิ่งปฏิบัติยิ่งเบา ยิ่งรู้ ละ และปล่อยวาง หรือเมื่อใดมีความคิดว่า เลวแค่นี้ยังไม่เป็นไร ช่างมันเถอะ เราจะไม่มีวันถึงวัดในใจได้เลย เพราะการปฏิบัตินั้นมีอัตตาเป็นที่ตั้ง เป็นสรณะ จิตที่เป็นป่าดงดิบของเรายังพอใจว่า แม้จะเลว แต่ความเลวนั้นก็ยังเป็นของน่ารักน่าเอ็นดู ความคิดเช่นนั้นเป็น อวิชชา
ถ้าจะตัดตรงไปให้ถึงวัด เมื่อเห็นอะไรยังไม่ดี ยังทำให้ผู้อื่น สิ่งอื่น เดือดร้อน ระคายทั้งใจเขาและใจเรา ให้รีบแก้ไขเสีย หากไม่มีกำลังพอจะแก้ไขก็ให้รู้ในใจว่า ยังมีข้อบกพร่องนี้อยู่ แล้วพยายามฝึกใจหมีสมาธิมากขึ้น ถ้าเปรียบใจเป็นมีดดาบ มีดดาบที่คมอย่างเดียว คือมีแต่ปัญญา แต่ไร้ น้ำหนัก คือ สมาธิ ความแน่วนิ่งของใจ เมื่อใช้ตัดอะไร มันกระทบสิ่งนั้นจริง แต่น้ำหนักที่จะย้ำคมลงไปตัดให้สิ่งนั้นขาดมีไม่พอ พอเรายกมีดดาบขึ้น สิ่งที่ลู่ไปตามแรงกระทบก็ลับเป็นปกติ ไม่ขาดจากกัน ฉันใด ใจที่มีปัญญา เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันกิเลส แต่ไม่มีความแน่วนิ่งเพียงพอ ก็ไม่สามารถตัดหรือขุกรากถอนโคน กิเลสออกไปได้ หรือมีแต่สมาธิ ก็เหมือนมีดที่หนัก แต่ทื่อ เหวี่ยงลงไป มันกระแทกสิ่งนั้นจริง แต่คมไม่มีจะตัดให้ขาดได้ เช่น เรามีความคับข้องใจเพื่อนร่วมงาน พยายามหาเหตุผลมาสอนใจให้ชอบเขา ให้มองเขาในแง่ดีก็ไม่สำเร็จ สิ่งที่พอช่วยได้ คือ กำหนดใจให้เป็นสมาธิ ไม่ไปใส่ใจกับกิริยาวาจาของเขา ความคับข้องใจก็คลายไป แต่พอมีเรื่องอื่นมากระทบใจ จนสมาธิหลุดออกไป ความคับข้องหงุดหงิดใส่เขาก็จู่โจมผสมโรงเข้ามาอีก เหมือนเราเอาหินทับหญ้าไว้ เรานึกว่าหญ้าคงตายหมดแล้ว แต่พอขยับหินออก หญ้าก็ชูต้นชูใบขึ้นดังเดิม พอได้แดดได้น้ำค้างก็เขียวขจีแตกหน่อแตกใบงอกงาม แพร่กระจายใหม่อีก ดังนั้น สมาธิหรือปัญญาเต่เพียงอย่างใดอย่างเดียวไม่สามารถพาเราให้ไปถึงที่ที่ปรารถนาได้ ต้องช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน คือต้องเป็นมีดดาบทีทั้งคมและทั้งหนัก จึงจะช่วยให้เราสามารถขุดตัดกิเลสออกไปจากใจได้สำเร็จ
หรือจะเปรียบความนิ่งของจิตเหมือนสารส้มก็พอได้ สมาธิเป็นเหมือนสารส้ม ใจที่ระส่ำระสาย รุ่มร้อน ไม่มีความสงบนั้น เหมือนน้ำที่ขุ่น จะเอาปัญญาคือตะแกรงอะไร ๆ ไปช้อน หรือผ้าไปกรอง ความขุ่นก็ลอดรูตะแกรงหรือผ้ากรองไปกับน้ำด้วย ทำให้เราไม่สามรถช้อนตะกอนออกได้ แต่ถ้าเราเอาสารส้มไปแกว่ง แล้วรอให้ตะกอนค่อย ๆ รวมตังเป็นก้อนใหญ่จึงกรองสำเร็จ
ใจขณะที่ระส่ำระสาย รุ่มร้อนนั้น คือแตกแยกหักล้างกันเอง ทำให้ขาดความแน่วแน่ เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ รักพี่เสียดายน้อง ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งรุ่มร้อน วกวน ระส่ำระสายยิ่งขึ้น เหมือนเราไม่สบาย ปวดหัว ปวดครั่นทั่วตัว จับไข้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว จะกินยาก็ไม่แน่ใจว่าเป็นหวัดหรือเป็นอะไรกันแน่ พยายามคิด ก็ยิ่งว้าวุ่นหนักขึ้น แต่ถ้าสงบใจให้หยุดคิดเสีย ความระส่ำระสายจะค่อยลดลง ใจที่หักล้างกันเองก็ค่อย ๆ แน่วนิ่งเข้า ก็เริ่มเห็นอาการชัดขึ้นว่า ที่ปวดหัวนั้น จริง ๆ แล้วมันร้าวมาแต่เขี้ยวข้างซ้าย แก้มก็เริ่มอักเสบตามไปด้วย พอปัญญารู้ชัดอย่างนี้ ใจก็มีกำลังเกิดความเชื่อมั่นว่า อาการทุกอย่างนั้นเพราะรากฟันอักเสบ เราก็เอายามารักษาได้ถูก
ใจที่อาศัยแต่สมาธิอย่างเดียว เสี่ยงต่ออันตราย เหมือนมีระเบิดเวลาที่ถอดสลักแล้วผูกติดอยู่ คนบางคนชำนาญในการเข้าสมาธิ พออะไรมากระทบ จะเกิดความไม่พอใจ ก็กำหนดจิตให้นิ่งลงรวมสงบไปได้ แต่วิธีนี้เป็นการสะสมกิเลส เป็นการภาวนาสะสมกิเลส เหมือนน้ำที่พอขุ่นขึ้นมาทีหนึ่งก็เอาสารส้มแกว่ง ตะกอนก็รวมตัว ตกลงไปที่ก้นภาชนะ น้ำข้างบนใสจริง แต่ตะกอนเหล่านั้นหาได้สูญหายไปไม่ เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุการณ์มากระทบอีก ตะกอนที่นอนก้นอยู่ ก็จะปั่นป่วนขึ้นมาใหม่ ทำให้เรารู้สึกถึงความหงุดหงิดคับข้องเก่า ๆ ขึ้นมาอีกทุกครั้ง ๆ ๆ ไป
ใจของมนุษย์นี้แปลกอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าต้องทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความท้อถอย เกิดความสงสัยว่า เราปฏิบัติธรรมมาจนขั้นนี้แล้ว ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย จะปฏิบัติต่อไปอีกทำไม เราคงบุญน้อย วาสนาน้อย เลิกปฏิบัติเสียดีกว่า
มันก็พาให้เราหลงทางไปเสีย
สมมติเรามีเด็กอยู่คนหนึ่ง เราบอกให้ไปช่วยปิดประตูให้ เด็กก็ยิ้มรับคำเป็นอันดี แต่กลับเดินไปเปิดหน้าต่าง เราหงุดหงิด แต่ก็บอกตัวเองว่า ไปโกรธเขาก็ไม่ช่วยให้ประตูปิดเข้ามาได้ รักษาใจของเราไว้ดีกว่า ใจที่หงุดหงิดก็ค่อยสงบเป็นปกติ วันรุ่งขึ้น เราก็บอกให้เด็กช่วยเอาหนังสือไปวางบนโต๊ะ ปรากฏเด็กกลับเอาไปทิ้งตะกร้าขยะ เราก็อาจใช้สติเบรกความโกรธ ความหงุดหงิด และกำหนดใจให้สงบได้ทุกครั้ง ๆ จนสักวันหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ สะสมจนถึงจุดระเบิด สมาธิที่เคยอาศัยเป็นหลุมหลบภัยไม่ยอมเป็นให้ เพราะความโกรธที่ถูกแรงสมาธิทับไว้นั้น ไม่ได้สูญหายไปข้างไหน คงอัดสะสมอยู่ในจิตใต้สำนึก และจดบัญชีเอาไว้...ไอ้บ้านี้ มันชักจะมากไปแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้าร้อยแล้วนะ ความอดทนก็ขาดผึง โทสะที่ถูกอัดสะสมไว้ รวมพลังระเบิดเปรี้ยงขึ้นมา ตรงข้าม ถ้าเราใช้ปัญญาช่วยด้วย เมื่อใจสงบเป็นสมาธิแล้วคอยสังเกต คิดค้นหาเหตุผลว่า ทำไมผลจึงออกมาอย่างนี้ เพราะเราพูดไม่ชัด เด็กฟังไม่เข้าใจ เด็กไม่ได้ยิน... ฯลฯ ...ค่อยสังเกตไป จนวันหนึ่งพบว่า อ๋อ....เจ้านี่หูหนวก พอรู้ชัดอย่างนี้ ความหงุดหงิดที่สะสมตั้งแต่ครั้งที่หนึ่ง จนถึงครั้งที่ห้าร้อย หมดความหมายไปทันที เพราะทุกคนย่อมเข้าใจ ลงใจว่า การที่จะให้คนหูหนวกเข้าใจคำพูดของเรานั้น ไม่มีทางเป็นไปได้
ปัญญาที่ไปขุดรากถอนโคนกิเลสให้หมดสิ้นไปเป็นทำนองนี้ เมื่อรู้เห็นแจ่มชัดขึ้นในใจแล้วก็ไม่เหลืออะไรค้างคาเป็นตะกอน ไม่ว่านายคนนี้จะทำอะไรผิดขึ้นมาอีก เราจะไม่ถือสาไม่หงุดหงิด เพราะทุกอย่างสมเหตุสมผลทั้งนั้น และถ้าเรามีสิทธิที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ เราก็จัดการให้เขาได้ไปรับการตรวจรักษาหูจนเป็นปกติ หรือหาเด็กใหม่มาแทน การภาวนาที่ถูกวิธีคืออย่างนี้
เมื่อฝึกสมาธิให้กำกับใจอยู่อย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แล้ว เราจะละเอียดรอบคอบขึ้นโดยลำดับ ถึงปัญญาไม่พอจะแก้ปัญหาให้ตกไปในทันที ก็ช่วยเลี้ยงใจให้สงบระงับอยู่กับใจของตัวเอง อยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า ไม่ปรุงคิดระส่ำระสาย แล้วเมื่อไรทีมีเวลามากพอที่จะยกเรื่องนั้นกลับมาย้อนคิดพิจารณาไตร่ตรองได้ ก็น้อมมาไตร่ตรอง คิดค้นหาเหตุผล ครั้งแรกอาจต้องอาศัยสัญญา อาศัยตำรับตำราครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนผู้รู้ที่มีแยบคายอุบายสามารถช่วยได้เป็นแนวทางก่อน เรียกว่า อาศัยสัญญาเป็นมรรค เมื่อฝึกฝนต่อ ๆ ไป ก็สามารถอาศัยปัญญาของตนเอง เหมือนเมื่อเริ่มเรียนเลข ยังไม่สามารถทำโจทย์ได้เอง ต้องให้ครูช่วยคิดหรือตรวจแนะให้ เมื่อทำโจทย์บ่อย เข้า ๆ ๆ ก็เกิดความชำนาญในโจทย์ชนิดนั้น ไม่ว่าโจทย์จะพลิกแพลงมาในรูปใด พอเห็น เราก็สามารถทำได้ด้วยความแน่ใจ มั่นใจ และทำสำเร็จลุล่วงไป
ปัญหาที่เกิดขึ้นในใจก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางโลก ปัญหาทางธรรม จะเกี่ยวกับเรื่องการงาน เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องอะไรก็ตาม มันก็เป็นหินลับสติปัญญาเราทั้งนั้น ให้ตั้งอกตั้งใจอย่าไปคิดว่า อันนี้เรื่องเล็ก อันนั้นไม่น่าในใจ
ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติธรรมจริงจัง อย่าคิดแยกว่า นี่เป็นเรื่องทางโลก นี่เป็นเรื่องทางธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมะทั้งนั้น เพราะร่างกายอันนี้เกิดมาจากเศษของกรรม เรื่องต่าง ๆ ที่เราต้องเจอะต้องเจอก็คือดอกผลของกรรมเก่าที่เราต้องชำระสะสางบัญชีให้หมดไป เราจึงเป็นอิสระได้ เราจึงสามารถจะไปทำอย่างอื่นที่เราต้องการได้ เมื่อเราจะหงุดหงิด จะคับข้องว่า ทำไมจึงต้องเป็นเรา ? ทำไมคนอื่นอยู่เวรไม่เห็นต้องเจอคนไข้หนักอย่างเรา ทำไมเขาไม่มีคนไข้มาก... ฯลฯ ... อย่าไป “ทำไม” อย่างนั้น ให้นึกว่า เมื่อเจ้าหนี้มาทวง เราพอมีใช้เขาเท่าไรก็รีบใช้เสีย ถ้ายังใช้ไม่ได้ ก็พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ประนีประนอมกันก่อน พอให้หายใจคล่อง แล้วค่อยผ่อนใช้ นี้เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลและสติปัญญา แต่ถ้ามัวคิดว่า ทำไมต้องเป็นเราที่ซวยอย่างนี้ พอจะพูดกับเขาดี ๆ ใจที่หงุดหงิดคับข้องก็ทำสีหน้าของเราไม่ดี เสียงที่ออกมาก็กระแทกกระทั้น เขาก็เลยมีปฏิกิริยาตอบสนอง เราก็ยิ่งหงุดหงิด เกิดเป็นวงจรกระทบสันดอนกลับไปกลับมา ทำให้จิตใจของทั้งสองฝ่ายเหมือนถ่านที่ถูกลมกระพือเอาลูกไฟกระเด็นโป้งป้าง ๆ ใส่กัน เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมา
ถ้าเรายึดหลักไว้ว่า เหตุการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ตัวทุกข์หรือตัวสุข แต่ใจที่ไปแปลความหมายต่างหาก เป็นตัวทำให้เราเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข เพราะถ้าเราคิดว่า ทำไมถึงซวยอย่างนี้ อะไรหยดลงมานิดหนึ่ง เราก็คับข้องในใจ แต่ถ้าเราคิดเสียว่า เออ ดีเหมือนกัน เพราะมีอันนี้เกิดขึ้น เราจึงได้ทำแบบฝึกหัดเพื่อตรวจสอบว่า ที่เราคิดว่ามีสติ มีสมาธิอยู่กับใจนั้น เรามีจริง ๆ แค่ไหน ถ้ามองว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นหินลับสติปัญญาทั้งนั้น เราจะเกิดความสนุก เมื่อเกิดความสนุกแล้ว ถึงจะเป็นหน้าที่ ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่เป็นของที่เราคอยดูว่า นี่เที่ยงแล้วหรือยัง จะได้ไปกินข้าว นี่สี่โมงครึ่งหรือยัง จะได้กลับบ้าน เราจะไม่ไปคอยกำหนดกับเวลาอย่างนั้น แต่จะเอาใจทั้งใจไปทำด้วยความสนุก ด้วยความเต็มใจ เมื่อสนุกแล้ว จะมีฉันทะ และมีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสา เป็นอิทธิบาทสี่ ทำให้งานการทุกอย่างลุล่วงไปอย่างดีที่สุด ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยและนอกจากผลจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ใจก็ไม่เหนื่อย ใจก็ไม่แห้งแล้ง ไม่รู้สึกว่า ต้อกัดฟันทน หรือมีความรู้สึกเหมือนต้องเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะอะไรก็ตามที่ไม่เต็มใจ ไม่พอใจจะทำ แม้นิดหนึ่งก็รู้สึกว่าหนักเหลือเกิน แต่ถ้าเต็มใจแล้ว ถึงจะหนักก็ยินดีทำ และคิดหาวิธีว่า เออ มันหนักนัก เราเอาคานดีดขึ้นไป หรือไปหาเพื่อนฝูงมาช่วยหอบหิ้วขึ้นไปดีกว่า
ใจของคนเรานี้เป็นของแปลก คือสามารถที่จะหมุนของสิ่งเดียวนั้น ให้เป็นของดีก็ได้ ไม้เป็นของไม่ดีก็ ให้เป็นของร้อนก็ได้ ให้เป็นของเย็นก็ได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจทั้งนั้น
การที่เราแสวงหาวัดนั้น ก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย แท้ที่จริงก็คือการแสวงหาที่อยู่ ที่อาศัยให้ใจของตน ให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ แทนที่จะเป็นสิ่งซึ่งพลิกคว่ำพลิกหงายไปตามอารมณ์ พยายามทำให้เป็นใจที่มีคุณภาพทั้งกับตัวของเราเอง และทั้งกับผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับตัวเรา เพราะถ้าใจอันนี้ร่มเย็นแล้ว มันก็เป็นพลังดีที่แผ่กระจายเมตตาธรรมออกไป ใครเข้าใกล้ก็รู้สึกร่มเย็น เหมือนเราเดินฝ่าแดดมา พอเข้าไปในห้องแอร์จะรู้สึกชื่นใจ เมื่อเราเข้าใกล้คนที่มีเมตตาธรรมในใจ ใจที่กำลังเหนื่อย กำลังร้อน กำลังโหย ก็จะมีกำลังขึ้นมา จะรู้สึกเย็นชุ่มชื่นขึ้นมา เหมือนเข้าห้องแอร์ฉันนั้น ใครที่เคยไปวัดคงเข้าใจความรู้สึกดังกล่าวนี้
เวลาไปกราบครูบาอาจารย์ ทั้ง ๆ ก่อนไปเรากำลังทุกข์และคิดว่าไปถึงท่านแล้วจะเล่า ๆ ๆ ความทุกข์เหล่านั้น แต่ครั้นไปถึงท่านเข้าจริง ๆ แล้ว ใจที่ทุกข์กลับเงียบ กลับสงบ เกิดความไม่อยากพูด และรู้สึกเหมือนความทุกข์ทั้งหลายได้ละลายไปหมด อันนั้นล่ะ คือไอเย็นของเมตตาธรรมที่ท่านแผ่มาถึงเรา และทำให้ใจที่กำลังเหมือนดินแห้งผาก เกิดมีน้ำฝนตกลงมา จนดินนั้นชุ่มฉ่ำ
ในโลกอันนี้ที่เราว่ามันร้อน บุคคลแห้งแล้งน้ำใจต่อกัน คนทุกคนร้ายกาจต่อกันนั้น ถ้าเราแต่ละคน ๆ ๆ เริ่มต้นสร้างวัดขึ้นในใจของตน และทำนุบำรุงหล่อเลี้ยงให้วัดนี้สว่างไสวด้วยสติ ด้วยปัญญา เช่นวัดที่ตามประทีปโคมไฟให้ส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา มันก็จะเกิดความสว่าง ความร่มเย็น ทั้งด้วยปัญญาและด้วยเมตตา เป็นที่พักพิงของคนอื่น สัตว์อื่น ให้ได้รับความร่มเย็นทั่วหน้ากัน แล้วอะไร ๆ ที่เป็นปัญหาแก้ยาก แก้ไม่ได้ เป็นสิ่งที่เลว ที่ไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรนั้น ก็อาจมีทางออกขึ้นมา
ท่านอาจารย์ท่านพูดอยู่เสมอว่า เราไม่ต้องวิ่งไปหาพระอรหันต์ที่ไหนดอก เพราะเราต่างมีพระอรหันต์อยู่ในบ้านแล้วทุกคน ท่านบอกว่า พ่อแม่คือพระอรหันต์องค์แรกของลูก ถ้าใครไม่เคารพ ไม่กตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่แล้ว ไม่ทางจะถึงวัด ไม่มีทางที่คนนั้นจะปฏิบัติธรรม ได้ธรรม เป็นธรรม เพราะหากไม่มีพ่อแม่ เราก็จะไม่มีร่างกายอันนี้ที่เป็นมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งร่างกายที่เป็นมนุษย์นี้ เป็นสมบัติล้ำค่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ อาจผ่านภพชาติที่เป็นอะไร ๆ ก็ได้ ระหว่างที่ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ สะสมบำเพ็ญบารมี แต่ในชาติสุดท้ายที่จะบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านต้องเสวยชาติที่เป็นมนุษย์ เพราะ ภพภูมิของมนุษย์เป็นชุมทางให้เราได้พบทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากัน ถ้ามีภพภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ขึ้นไป เราอาจติดสุขจนลืมพากเพียรปฏิบัติธรรม หรือถ้าอยู่ในภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ ความทุกข์ยากในการดำรงชีวิตบีบคั้น และเอาเวลาของเราไปจนไม่เหลืออะไรสำหรับการฝึกอบรมจิตใจ ท่านจึงถือกันว่า ภพภูมิของมนุษย์นั้น เป็นภพภูมิที่ประเสริฐที่สุด เป็นภพภูมิที่เป็นภาชนะสำหรับธรรม
สมัยพุทธกาล มีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง มีความงดงามเลื่องลือมาก บังเอิญหญิงนี้ตั้งท้องและคลอดลูกออกมาเป็นชาย สมัยนั้นมีธรรมเนียมว่า ถ้าหญิงงามเมืองใดมีลูกเป็นหญิง เจ้าสำนักจะอนุญาตให้เลี้ยงไว้ได้ แล้วฝึกอบรมให้เป็นหญิงงามเมืองเมื่อถึงวัยสมควร แต่ถ้าเป็นชายต้องเอาไปทิ้งสีย เด็กชายนี้จึงถูกนำไปทิ้งกองขยะ พระเถระองค์หนึ่งออกบิณฑบาต ได้ยินเสียงเด็กร้องจากกองขยะข้างทางจึงเข้าไปดู ก็พบเด็กถูกทิ้งอยู่ ท่านจึงนำมาเลี้ยง แม้เด็กนี้จะเติบโตอยู่ในวัด แต่คนทั่วไปก็ทราบกำเนิดของเด็กว่าเป็นมาอย่างไร พอเด็กรู้ความ คนก็เริ่มล้อเลียนว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ เป็นลูกหญิงงามเมือง เด็กจึงเติบโตมาด้วยความขมขื่น และเกลียดแม่อย่างสุดหัวใจ วันหนึ่งพระเถระเห็นเด็กโตพอจะรู้เหตุรู้ผล จึงเรียกเด็กมาสนทนาด้วย โดยถามว่า ถ้ามีใครเอาเงินกหาปนะหนึ่งมาให้ เจ้าจะรู้สึกอย่างไรบ้าง กหาปณะหนึ่งเทียบประมาณหนึ่งตำลึง หรือสี่บาทของเรา เด็กก็ตอบว่าดีใจ และขอบคุณเขาเป็นอย่างยิ่ง ท่านถามว่าทำไมจึงขอบคุณ เด็กตอบว่า ตามปกติ เขาไม่คิดว่าใครจะต้องเอาเงินมาให้ตน เมื่ออยู่ดี ๆ เกิดได้ลาภเช่นนั้นก็ย่อมซึ้งในบุญคุณ ท่านก็ถามว่า ถ้าคนนั้นให้เงินหนึ่งกหาปณะแต่ขอแลกด้วยชีวิตของเด็กล่ะจะเอาไหม เด็กก็ไม่ยอม ท่านเพิ่มเงินขึ้นไป เด็กก็ยืนกรานไม่ยอม ไม่ว่าจะเพิ่มเงินขึ้นไปท่วมท้นล้นฟ้าแค่ไหน ก็ไม่ยอมแลกกับชีวิต เพราะบอกว่าชีวิตของตนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าราคาใด ๆ ได้ ท่านก็ต่อรองว่า ถ้างั้นไม่เอาถึงชีวิตดอก แต่ขอเพียงแขนสักข้าง เด็กก็ไม่ยอม แม้จนปลายนิ้วนิดเดียว หรือชิ้นส่วนใด ๆ ของร่างกาย แม้เพียงน้อยนิดแค่ไหน ก็ไม่ยอแลกกับเงิน ไม่ว่าจะมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม ท่านจึงสอนว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าไม่คิดบ้างหรือว่า ร่างกายอันนี้ ที่เจ้าไม่ยอมขายให้ใคร ๆ ทั้งสิ้น ไม่ยอมแลกเปลี่ยน ไม่ว่าด้วยมูลค่าเท่าใด ๆ นั้น เจ้าได้มาแต่ผู้ใด ไม่ใช่เพราะแม่ดอกหรือที่ให้เจ้ามา เพราะถ้าแม่ไม่ทนทุกข์ยากอุ้มท้องมา หรือตอนที่คลอดนั้น แม่เกิดบีบจมูกทำให้เจ้าหายใจไม่ได้ เจ้าก็จะไม่ได้ร่างกายอันนี้รอดเติบใหญ่มาได้ เจ้าก็จะไม่มีโอกาสได้สิ่งที่มีค่าหาศาลนี้มาเป็นของเจ้ามิใช่หรือ
เด็กฟังแล้วได้คิด จิตที่หนักไปด้วยความเกลียด ความขมขื่นก็อ่อนโยน ปิติ ซาบซึ้งในบุญคุณของแม่
ท่านจึงสอนต่อไปว่า เพียงแค่แม่ได้ให้ลมหายใจแก่เจ้า ได้ให้อัตภาพร่างกายที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นภาชนะรองรับธรรมอันนี้แก่เจ้า บุญคุณนี้ย่อมท่วมท้นล้นฟ้า ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนให้หมดสิ้นได้ ยิ่งแม่ฟูมฟักเลี้ยงดูให้การศึกษา ให้ปัจจัยใช้สอย ให้ทุกอย่างอีกด้วยแล้ว บุญคุณอันนั้นยิ่งท่วมท้นทวีคูณขึ้นไปตนหาค่าประมาณมิได้
ถ้าใครบังเอิญมีความคิดว่า ไม่จำเป็นต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะเขาไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความปรารถนา หรือความรักใคร่พอใจ หากเป็นเพียงผลพลอยได้จากความสนุกของพ่อแม่ก็ได้ โปรดนำเรื่องนี้ไปพิจารณาดูแล้วคงสามารถน้อมใจให้เชื่อ ให้เห็นในบุญคุณของพ่อแม่ได้อย่างนั้นจริง ๆ
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เราจะได้รู้ว่า โอกาสที่จะได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้น มีอยู่ทุกขณะจิต ที่ในบ้านของเรานี้เอง ดังนั้นเราก็จะถึงวัดในใจ และวัดในบ้านของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเมื่อมีจุดตั้งต้นออย่างนี้แล้ว ก็คงไม่เป็นการยากที่จะประคับประคองและทำนุบำรุงวัดอันนี้ให้เจริญงอกงามสว่างไสวด้วยสติปัญญาและเมตตาต่อไป

คำถาม สมาธิเหมือนสารส้ม หรือมีดนั้น หมายถึง สมาธิระดับไหน
ตอบ ระดับไหน ๆ ก็เป็นได้ทั้งนั้น จิตที่เริ่มมีความสงบก็เริ่มเป็นสารส้ม เป็นน้ำหนักของมีดได้แล้ว แต่กำลังจะมากจะน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัญหาที่กำลังแยงอยู่ในหัวใจของเราขณะนั้น ๆ ว่าจะมากเกินกำลังของสมาธิน้อย ๆ อันนี้หรือเปล่า ถ้าปัญหาไม่เหลือบ่ากว่าแรง แม้จะเป็นสมาธิชั่วขณะที่ยังไม่สามารถประคองให้ต่อเนื่องกันได้ ก็มีประโยชน์ ก็เป็นน้ำหนักได้แล้ว แต่อาจยังไม่เกิดผลเด็ดขาด ตอนที่เราจดจ่อให้ใจสงบได้ ก็รู้สึกคล้าย ๆ ว่า ที่เราจะทนไม่ได้ ๆ นั้นมันคลายความรุนแรงไปเป็นของที่พอสู้กันได้ แต่พอเผลอ สมาธิหลุดออกไป ความรู้สึกในใจก็เต้นขึ้นมาใหม่ คล้าย ๆ ไฟ ที่ทำท่าจะมอดแล้ว เกิดมีลมพัดมาวูบ ทำให้มันลุกโพลงขึ้นมาใหม่ เราก็กำหนดสมาธิใหม่ เอาสติจ่อเข้าไป มันก็ชักคะเย่อคุมเชิงกันอยู่อย่างนี้ หมั่นฝึกไป ทำไป แล้วอีกหน่อยกำลังจะมีมากขึ้น จนสามารถหยุดมันได้ เหมือนหินที่ทับหญ้าลงไป ถึงหญ้าข้างใต้จะยังไม่ตายทันที แต่อย่างน้อย หญ้าก็ดันหินให้เขยื้อนไม่ได้

คำถาม กรุณาเล่าประสบการณ์ในวัด เผื่อจะมีประโยชน์กับพวกเราบ้าง
ตอบ คืออาจารย์ปริยาสงสัยว่า ที่วัดนั้นสงบวิเวก หรือเป็นอย่างไร พอจะเปรียบเทียบกับชีวิตอย่างเรา ๆ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้หรือไม่ ในวัดก็ประกอบไปด้วยคนมาหน้าหลายตา เช่นเดียวกับที่เราพบเห็นทั่ว ๆ ไป อย่างในโรงพยาบาลนี้ เราไปคิดเอาเองว่า ถ้ายังอยู่ทางโลก ก็จะต้องเจอะเจอแต่สิ่งที่ขรุขระ ไม่ได้ดังใจ เพราะคนรอบข้างเรากิเลสหนา ปัญญาหยาบ ส่วนที่วัดคงมีแต่คนดี คนสิ้นกิเลส ทุกอย่างคงราบเรียบเหมือนอยู่บนสวรรค์
ท่านอาจารย์สิงห์ทองท่านเคยสอนว่า อะไรในชีวิตคนเราก็พอจะเปรียบได้กับการกินถั่วของเก่านี่แหละ ท่านเล่าว่า มีตายาย สองคนผัวเมีย ยายต้มถั่วเลี้ยงตาทุกวัน ๆ จนตาเอียนถั่วต้มเต็มทน วันหนึ่งตาก็ปฏิวัติยาย โดยบอกว่า วันนี้ไม่กินข้าวที่บ้าน จะไปกินข้าวในเมือง ว่าแล้วตาก็แต่งตัวออกจากบ้านไปในเมือง เลือกได้ร้านอาหารร้านหนึ่ง ก็เข้าไป ตาอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็เต๊ะท่าวางภูมิ พอบ๋อยเอาเมนูมาให้ ก็เอามาดูอย่างตั้งอกตั้งใจ แล้วก็จิ้มสั่งไปที่รายการอันหนึ่ง ปรากฏพอบ๋อยเอาของมาให้ ก็เป็นถั่วต้ม ตาแค้นใจพูดไม่ออก แต่ก็รักษาหน้าของตน ก้มหน้าก้มตากินถั่วต้มไปโดยไม่ปริปาก แต่ก็สังเกตไปตามโต๊ะข้างเคียง พอดีเห็นเด็กโต๊ะติดกัน กำลังกินอะไรด้วยท่าทางเอร็ดอร่อยเหลือเกิน แทนที่จะเรียกบ๋อยมาถามว่าอาหารจานนั้นชื่อว่าอะไร ตาก็ทำอมภูมิ พอดีเด็กคนนั้นกระดิกนิ้วเรียกบ๋อย แล้วสั่งให้เอาของเก่าอีกจาน ตาเข้าใจว่าอาหารจานนั้นชื่อของเก่า ตาก็ยิ้มในใจแล้วเรียกบ๋อยมาสั่งอย่างภาคภูมิว่า บ๋อย เอาของเก่าจานหนึ่ง ตกลงบ๋อยก็ยกถั่วต้มมาให้ตาอีกถ้วย
ท่านอาจารย์ท่านก็สำทับดิฉันว่า เราก็เหมือนกันนั่นแหละ มันก็เจอแต่ ถั่วของเก่า.....ถั่วของเก่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ครั้งแรกดิฉันก็คิด ท่านอาจารย์เอาอะไรมาล้อ ไม่มีทางหรอก ในวัดจะมีของเก่เหมือนที่เราเต็มกลืนมาจากในโลกอันวุ่นวายนี้ได้อย่างไร แต่เชื่อไหมคะ อะไรก็ตาม ที่สร้างความคันให้แก่ใจของดิฉัน สามารถเรียงแถวเข้ามาสร้างความรู้สึกเก่า ๆ ให้ถึงในวัดได้ครบครันทุกอย่าง ครั้งแรกนั้น ดิฉันตกม้าตายสนิทยิ่งกว่าก่อนเข้าวัด เพราะหลงไปคิดว่า วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีคนชั่วคนเลวจะเยียบย่างเข้าไปได้ คิดว่าประตูวัดนั้นมีคาถาวิเศษ ความชั่วทั้งหลายต้องกองอยู่นอกประตูวัด เพราะฉะนั้น พอโดนเข้าหมัดแรก ก็ตกม้าตายไม่เป็นท่าตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเพลงทวน ท่านอาจารย์ก็ขบขันว่า ก็บอกแล้วอย่างไรเล่าว่า ถั่วของเก่านั่นแหละ
ท่านก็สอนต่อไปว่า อย่านึกนะว่า กิเลสจะเคารพสถานที่นั้น สถานที่นี้ หรือเคารพเพศว่าเป็นพระ เป็นนักบวช ไม่ใช่ว่าพออาผ้าเหลือคลุมกาย กิเลสจะถอนไปจากจิต ทำให้จิตนั้นบริสุทธิ์หมดจด เป็นพระอรหันต์ ท่านบอก หากเป็นอย่างนั้นจริง ชาวบ้านแถวเสาชิงช้าคงเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เพราะบริเวณนั้นมีไตรจีวรหนาแน่นเต็มไปหมดทุก ๆ ร้าน ท่านว่าจะเป็นพระหรือ อุบาสก อุบาสิกา ที่มาถึงวัดนั้นก็เป็นคนด้วยกันทุกคน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ทำการชำระซักฟอกใจ ใจดวงนั้นก็จะเป็นพุทธะ และกิเลสคลุกเคล้าคละกัน เดี๋ยวก็เป็นผีดี เดี๋ยวก็เป็นผีบ้า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เหมือนกับโลกนี้ ไม่ได้มีคนจีน คนไทย คนฝรั่ง คนแขกหรอก มันมีเพียงคนดีกับคนชั่ว คนที่มองเห็นว่าจิตที่ไม่ได้ฝึก เป็นจิตที่เป็นพิษเป็นภัยทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น ย่อมเกิดความกลัว ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนขัดเกลาตัวของตัว ส่วนคนที่ยังหลับอยู่ในมิจฉาทิฐิ ก็เห็นไปว่า เรานี้สบายแล้ว ถึงจะไปเยียบหัวแม่เท้าใครก็ช่างมันเป็นไร เรามีสิทธิ์จะเหยียบได้
ทุกคนก็ทราบใช่ไหมว่า ทั้งถ่านและเพชรต่างก็เป็นอัญรูปของธาตุคาร์บอน แต่ทั้งที่ทราบคนเราก็ยังอยากได้เพชรมาเป็นสมบัติ แต่ไม่มีใครสนใจถ่าน ตุใจก็เหมือนกัน ถ้าฝึกฝนอบรมจนถึงที่สุดแล้วก็มีค่าดุจเพชร ส่วนใจที่ไม่ได้ฝึกก็เหมือนถ่าน

คำถาม ที่กลับมาอยู่กรุงเทพฯ นาน เพราะเจอหินลับมีดชนิดดีหนึ่ง ที่จะช่วยให้มีดคมขึ้นไปอีกหรืออย่างไรคะ
ตอบ มาถึงตอนนี้ ไม่ได้คิดแล้วว่า เราต้องไปอยู่ที่ไหน มาที่ไหน คิดแต่เพียงธาตุขันธ์อันนี้เป็นเศษของกรรม ถ้าเจ้าหนี้ของเราอยู่ตรงไหนหนาแน่น แรงดูดจากเจ้าหนี้ก็ดึงจนเราต้องไปที่ตรงนั้นเอง เมื่อก่อนนี้ ได้มีโอกาสไปอยู่วัด ระหว่างอยู่คงได้ผ่อนหนี้ที่นั่นให้พอเบาบางลง เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เลยชักจะหนาแน่นกว่า จึงดูดเอามาไว้อย่างนี้ เราก็เลยมาอยู่ใช้หนี้ที่กรุงเทพฯ กระมังคะ จะอยู่ที่ไหน ก็ดีเหมือนกันทั้งนั้น เพราะตอนท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านเรือบินตก มรณภาพ ดิฉันได้ไปกราบท่านอาจารย์มหาบัว และยังจำคำพูดของท่านมาเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง ท่านบอกว่า นี่แหละ คือโอกาสทองของเรา ที่จะได้พิสูจน์กับใจว่า ธรรมะที่ครูบาอาจารย์เหนื่อยยาก สอนเรามาจนองค์ท่านได้กลายเป็นขี้ฝุ่นขี้ผงไปแล้วนั้น ได้แปรเป็นขี้ฝุ่นขี้ผงเหมือนองค์ท่าน หรือเรายังเก็บรักษาเอาไว้ในใจ แล้วค่อยนำมาขัดถูใจของเราให้เป็นธรรมะขึ้นมาอย่างท่าน
เมื่อใดที่กิเลสคอยกระซิบกระซาบว่า โอ๊ย....ไม่ไหวแล้ว คำพูดของท่านก็จะเตือนขึ้นมา ทำให้ฉุกคิด ละอายว่า นี่เรากำลังจะทำธรรมะของท่านอาจารย์ให้เป็นขี้ฝุ่นขี้ผง หรือจะเอามันมาขัดใจของเราให้ดีขึ้นกว่านี้สักนิดหนึ่งก็ยังดี ก็ได้อาศัยกำลังใจจากสิ่งนี้เป็นแรงใจ คอยฉุดลากตัวเองให้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ทีไหนก็ตาม ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ว่ามีดคมขึ้น หรือทื่อลงกันแน่

ไม่มีความคิดเห็น: